บทวิเคราะห์เศรษฐกิจประจำสัปดาห์

เศรษฐกิจมหภาค

ภาวะเศรษฐกิจและการเงินประจำสัปดาห์

08 กุมภาพันธ์ 2565

 

ประเทศเศรษฐกิจหลักมีท่าทีปรับนโยบายการเงินเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ส่วนจีนอาจใช้มาตรการผ่อนคลายต่อไป

 

อังกฤษปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 3 เดือน ด้านยูโรโซนส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 0.25% เป็น 0.50% ส่วนธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและคงวงเงินในการซื้อพันธบัตรในโครงการ Pandemic Emergency Purchase Program (PEPP) อย่างไรก็ตาม ประธาน ECB ยอมรับว่าอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนพุ่งขึ้นมากกว่าที่คาดไว้และความเสี่ยงของเงินเฟ้อยังคงอยู่ในช่วงขาขึ้น

ประเทศในยุโรปมีแนวโน้มปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติตามสถานการณ์เศรษฐกิจและแนวโน้มเงินเฟ้อ โดยคาดว่า  BOE อาจพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อีก 50 bps ในช่วงที่เหลือของปีนี้ เนื่องจาก (i) ในการประชุมครั้งนี้ มีกรรมการ 4 ใน 9 ท่านที่ออกเสียงให้ปรับขึ้นดอกเบี้ย 50 bps (ii) แรงกดดันเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อเดือนธันวาคมที่แตะระดับ 5.4% สูงสุดในรอบ 30 ปี ส่วนในกรณีของ ECB นั้น คาดว่ามีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้จาก (i) ประธาน ECB ส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยโดยระบุว่า “สถานการณ์ในขณะนี้เปลี่ยนแปลงไป” และประเมินว่าราคามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในวงกว้าง ต่างจากก่อนหน้านี้ที่เคยระบุว่าเงินเฟ้อในยูโรโซนเกิดจากปัจจัยชั่วคราว (ii) ตลาดแรงงานปรับดีขึ้นโดยอัตราการว่างงานเดือนธันวาคมแตะระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ที่ 7% ขณะที่ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโอมิครอนเริ่มคลี่คลายหลังตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันผ่านจุดสูงสุด ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีสัญญาณบวกโดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนมกราคมแตะระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือนที่ 58.7 และ (iii) อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นโดยในเดือนมกราคมแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 5.1% และอยู่เหนือเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7


 

สหรัฐฯยังเผชิญแรงกดดันเงินเฟ้อทั้งค่าจ้างและราคาน้ำมันที่เพิ่ม คาดเฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าเดิม ในเดือนธันวาคมจำนวนการเปิดรับสมัครงานแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือนที่ 10.9 ล้านตำแหน่ง ส่วนในเดือนมกราคมค่าจ้างเฉลี่ยรายชั่วโมงเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบเกือบ 2 ปีที่ 5.7% YoY ขณะที่อัตราการว่างงานแตะระดับ 4.0% ทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่การแพร่ระบาด ส่วนการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 4.67 แสนตำแหน่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาด

ตลาดแรงงานของสหรัฐฯยังมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องและดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ อัตราค่าจ้างที่สูงขึ้นกว่าคาดอาจเพิ่มแรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อที่ยังเผชิญปัจจัยผลักดันจากต้นทุนราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นโดยราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) แตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 7 ปีที่ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งพัฒนาการของตลาดแรงงานที่ดีกว่าคาด หนุนเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและปรับลดงบดุล โดยอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 25 bps หลังการปรับลด QE สิ้นสุดลงในเดือนมีนาคม และอาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยถึง 5 ครั้งในปีนี้



 

คาดจีนอาจเพิ่มมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพื่อป้องกันปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวลงแรง ในเดือนมกราคมดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและนอกภาคการผลิตแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 โดย PMI ภาคการผลิตปรับลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือนที่ 50.1 ส่วน PMI นอกภาคการผลิตแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 ที่ 51.1

ข้อมูลล่าสุดบ่งชี้สัญญาณการชะลอตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจจีน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวด ซึ่งอาจกระทบห่วงโซ่อุปทานในภาคการผลิตและยังกระทบภาคบริการ ด้านภาคอสังหาริมทรัพย์ยังเผชิญแรงกดดันจากปัญหาการขาดสภาพคล่อง ล่าสุดบริษัทเอเวอร์แกรนด์ไม่สามารถชำระเงินหนี้แก่ผู้รับเหมาช่วง โดยเฉพาะบริษัทจางโฮซึ่งเป็นผู้รับเหมางานตกแต่งภายในอาจได้รับความเสียหายจากการค้างชำระของเอเวอร์แกรนด์ถึง 1.68 พันล้านหยวน คาดว่าธนาคารกลางจีน (PBOC) ยังจำเป็นต้องเพิ่มมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพื่อป้องกันมิให้ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าวลุกลามและบรรเทาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโดยรวม


 

 

เงินเฟ้อปีนี้มีแนวโน้มสูงกว่าคาด ขณะที่เศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว คาดกนง.จะคงดอกเบี้ยที่ 0.50% ตลอดจนถึงสิ้นปี

 

การระบาดของโอมิครอนในช่วงต้นปี อาจทำให้แรงส่งจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงท้ายปีก่อนสะดุดลงชั่วคราว เครื่องชี้เศรษฐกิจสำคัญในเดือนธันวาคมปีก่อนปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ  โดยมูลค่าส่งออกแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 24.5 พันล้านดอลลลาร์ (+23.0% YoY) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเร่งขึ้นหลังจากทางการดำเนินมาตรการ Test & Go ตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน ขณะที่มาตรการควบคุมการระบาดที่ผ่อนคลายในช่วงเดือนธันวาคมหนุนให้ดัชนีการบริโภคภาคเอกชนฟื้นตัวต่อเนื่อง (+2.3% MoM, -1.2% YoY) เช่นเดียวกับดัชนีการลงทุนภาคเอกชนที่เติบโตได้ตามความต้องการทั้งในและต่างประเทศที่ปรับดีขึ้น (1.7% MoM, +4.2% YoY)



 

ความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 อาจชะงักลงเล็กน้อยในช่วงต้นปีเมื่อต้องเผชิญกับการระบาดของไวรัสโอมิครอน อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลกระทบจะอยู่ในวงจำกัดและเป็นผลระยะสั้น แม้ปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันยังอยู่ในระดับสูง แต่อัตราการเสียชีวิตค่อนข้างต่ำสะท้อนมาตรการควบคุมอาจไม่เข้มงวดเท่ากับการระบาดในรอบก่อนหน้า ประกอบกับการฉีดวัคซีนเพื่อเร่งสร้างภูมิต้านทานมีความคืบหน้าอย่างมาก นอกจากนี้ ล่าสุดทางการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 5.32 หมื่นล้านบาท  เพื่อประคองกำลังซื้อของผู้บริโภคและสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งคาดว่าจะช่วยทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้กว่าแสนล้านบาท อีกทั้งแรงส่งเชิงบวกจากภาคส่งออกที่ยังมีทิศทางเติบโตตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มฟื้นตัวหลังจากมีการกลับมาใช้มาตรการ Test & GO วิจัยกรุงศรีจึงยังคงคาดการณ์เศรษฐกิจในปีนี้จะเติบโตที่ 3.7%


 

อัตราเงินเฟ้อเดือนแรกของปีพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน ทั้งปีมีแนวโน้มสูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมกราคมอยู่ที่  3.23% YoY เร่งขึ้นจาก 2.17% เดือนธันวาคม สาเหตุสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ (+27.9%) ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับเร่งขึ้น ผนวกกับการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มอาหารบางประเภท โดยเฉพาะเนื้อสุกร และน้ำมันพืช ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักราคาหมวดอาหารสดและพลังงาน) เร่งขึ้นมาอยู่ที่ 0.52% จาก 0.29% เดือนธันวาคม

อัตราเงินเฟ้อที่เร่งขึ้นมากและยังมีแนวโน้มอยู่เหนือกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายของทางการในไตรมาสแรกของปีนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำมากในช่วงเดียวกันปีก่อน กอปรกับคาดว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะยังทรงตัวในระดับสูง เนื่องจากปัญหาอุปทานน้ำมันที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าอุปสงค์ในช่วงครึ่งปีแรกก่อนที่จะบรรเทาลงในช่วงครึ่งปีหลัง รวมทั้งสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครน แรงกดดันทางด้านราคาโดยเฉพาะในหมวดพลังงานจึงเพิ่มมากกว่าคาด กระทบต้นทุนการผลิตสูงขึ้น วิจัยกรุงศรีได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปีนี้ขึ้นเป็น 2.0% (เดิมคาด1.5%)

มุมมองด้านดอกเบี้ยนโยบาย แม้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงกว่าคาดซึ่งเป็นผลจากด้านอุปทานตามราคาพลังงานที่ปรับเร่งขึ้น ขณะที่การฟื้นตัวเศรษฐกิจยังเปราะบางท่ามกลางกำลังซื้อที่อ่อนแอและหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง อีกทั้งยังต้องพึ่งพามาตรการทางการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจึงยังมีความจำเป็นและเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน จึงคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.50% ในการประชุมกลางสัปดาห์นี้ (วันที่ 9 กุมภาพันธ์) และมีแนวโน้มที่จะตรึงดอกเบี้ยไว้ตลอดทั้งปี 2565




 

 
ประกาศวันที่ :08 กุมภาพันธ์ 2565
Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา