บทวิเคราะห์เศรษฐกิจประจำสัปดาห์

เศรษฐกิจมหภาค

ภาวะเศรษฐกิจและการเงินประจำสัปดาห์

29 มีนาคม 2565

 

หลายประเทศเริ่มออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากเงินเฟ้อและสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ขณะที่ความเสี่ยงจากภาวะดังกล่าวอาจกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจโลก

 

เครื่องชี้เศรษฐกิจในหลายประเทศเริ่มสะท้อนผลกระทบจากวิกฤตยูเครน คาดเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง ในเดือนมีนาคมดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นของสหรัฐฯ (58.5 สูงสุดในรอบ 9 เดือน) และญี่ปุ่น (49.3 สูงสุดในรอบ 3 เดือน) ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ตัวเลขของประเทศแกนหลักในภูมิภาคยุโรปทั้งยูโรโซน (54.5) และอังกฤษ (59.7) ต่างปรับลงแม้ยังสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ส่วนเครื่องชี้ด้านราคามีแนวโน้มเร่งตัวทั้งดัชนีราคาผู้บริโภคของกรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่นในเดือนมีนาคม (เพิ่มขึ้น 1.3% YoY สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2562) และดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของอังกฤษในเดือนกุมภาพันธ์ (เพิ่มขึ้น 6.2% สูงสุดในรอบ 30 ปี) ขณะที่ตัวเลขด้านความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมีนาคมอ่อนแอลงทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ (ลดลงสู่ระดับ 59.7 ต่ำสุดในรอบ 11 ปี) และดัชนีฯของยูโรโซน (ลดลงสู่ระดับ -18.7 ต่ำสุดในรอบ 11 เดือน)

ตัวเลขกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศแกนหลักบางส่วนที่ปรับดีขึ้นนั้นบ่งชี้แรงส่งจากการกลับมาเปิดดำเนินการหลังการระบาดของไวรัสโอมิครอนคลี่คลาย อย่างไรก็ตาม ผลจากวิกฤตยูเครนเริ่มกระทบเศรษฐกิจโดยเฉพาะประเทศในทวีปยุโรป ขณะที่กำลังซื้อมีสัญญาณชะลอตัวโดยดัชนีย่อยด้านคำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลงทั้งในยุโรปและญี่ปุ่น นอกจากนี้ ปัญหาการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานอาจคลี่คลายช้ากว่าที่คาด สะท้อนจากดัชนีย่อยด้านระยะเวลาในการจัดส่งสินค้าที่ยาวนานขึ้นในญี่ปุ่น ยูโรโซน และอังกฤษ วิจัยกรุงศรีประเมินว่าผลกระทบจากปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมทั้งภาวะเงินเฟ้อที่บั่นทอนกำลังซื้อ และมุมมองเชิงลบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ จะกดดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการใช้จ่ายอย่างชัดเจนขึ้นในไตรมาสที่ 2/2565



ประเทศแกนหลักมีแนวโน้มทยอยออกมาตรการรับมือกับภาวะเงินเฟ้อและวิกฤตยูเครน ท่ามกลางการปรับนโยบายการเงินสู่ภาวะปกติ ประธานเฟดกล่าวย้ำว่าตลาดแรงงานของสหรัฐฯมีความแข็งแกร่ง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อก็อยู่ในระดับสูงเกินไป จึงมีความจำเป็นที่เฟดจะใช้นโยบายการเงินเข้มงวดโดยอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% เพื่อสกัดเงินเฟ้อ ขณะที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้ออาจแตะระดับ 7.7% ในไตรมาสที่ 2/2565 สูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อถึงประมาณ 4 เท่าพร้อมส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ทางด้านการรับมือกับราคาพลังงานเพิ่มขึ้นจากผลกระทบของสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนนั้น สหรัฐฯและและสหภาพยุโรป (EU) ได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย โดยสหรัฐฯและชาติพันธมิตรจะร่วมกันจัดหาก๊าซธรรมชาติแก่ EU เพิ่มเติมอย่างน้อย 1.5 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรภายในสิ้นปีนี้ โดยจะเพิ่มการพึ่งพาก๊าซจากสหรัฐฯประมาณ 5 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี สำหรับการจัดการผลกระทบของวิกฤตยูเครนและแรงกดดันเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในประเทศแกนหลักนั้น EUได้จัดตั้งกองทุนเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและบรรเทาภาระต้นทุนที่สูงขึ้นภายใต้วงเงิน 500 ล้านยูโร ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมแผนกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเยียวยาผลกระทบต่อผู้บริโภคจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยใช้เงินงบประมาณที่สำรองไว้ในปี 2564 และวงเงินเพิ่มเติมในปีงบประมาณ 2565 

ประเทศแกนหลักโดยเฉพาะชาติตะวันตกเริ่มถอนมาตรการผ่อนคลายทางการเงินที่ใช้เพื่อลดผลกระทบจากโรค COVID-19 หลังสถานการณ์แพร่ระบาดมีแนวโน้มคลี่คลาย แต่หลายประเทศเริ่มออกมาตรการลดผลกระทบจากเงินเฟ้อและรับมือกับวิกฤตยูเครน อย่างไรก็ตาม มาตรการข้างต้นอาจยังไม่เพียงพอโดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนพลังงานที่อาจเกิดขึ้นได้หากรัสเซียยุติการส่งออกก๊าซมายังยุโรป เนื่องจากปริมาณก๊าซที่สหรัฐฯและชาติพันธมิตรจะจัดหานั้นยังไม่สามารถชดเชยปริมาณการนำเข้าก๊าซจากรัสเซียได้  (ในปี 2564 EU นำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียจำนวน 1.55 แสนล้านลูกบาศก์เมตรคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 45% ของก๊าซที่ EU นำเข้าทั้งหมด) ขณะเดียวกันผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจยังมีความไม่แน่นอน ขึ้นกับระดับความรุนแรงของสงครามและมาตรการคว่ำบาตร รวมถึงผลกระทบที่จะถูกส่งผ่านช่องทาง (i) การค้าและการขนส่ง (ii) ความมั่นคงด้านพลังงาน (iii) เสถียรภาพด้านราคา และ (iv) ผลต่อด้านรายได้และตลาดทุน เศรษฐกิจโลกจึงมีแนวโน้มเผชิญกับความเสี่ยงต่อภาวะเงินเฟ้อและการเจริญเติบโต




 

 

วิกฤตยูเครนอาจส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกและท่องเที่ยวในระยะข้างหน้า ขณะที่ทางการออกมาตรการระยะสั้นบรรเทาภาระค่าครองชีพ

 

แม้ภาคส่งออกและท่องเที่ยวเดือนกุมภาพันธ์ปรับดีขึ้น แต่ในระยะถัดไปอาจต้องเผชิญผลกระทบจากวิกฤตยูเครน มูลค่าการส่งออกเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 23.48 พันล้านดอลาร์ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ที่ 16.2% YoY เทียบกับเดือนมกราคมที่ 21.26 พันล้านดอลลาร์ (+8.0%) ปัจจัยหนุนจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักทั่วโลกอยู่ในทิศทางการฟื้นตัวต่อเนื่องในช่วงต้นปี เช่นเดียวกับภาคท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยในเดือนกุมภาพันธ์มีจำนวน 152,954 คน จาก 133,903 คน ในเดือนก่อน นำโดยนักท่องเที่ยวรัสเซีย เยอรมนี และฝรั่งเศส

ในช่วงต้นปี (มกราคม-กุมภาพันธ์) เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านต่างประเทศของไทยมีสัญญาณเชิงบวกทั้งภาคส่งออกและภาคท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ในระยะถัดไปยังมีปัจจัยลบจากผลกระทบของการสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ปะทุขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์และมีความเสี่ยงจะยืดเยื้อไปถึงไตรมาส 2 อย่างไรก็ตาม แม้ผลกระทบทางตรงต่อการส่งออกของไทยอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากการส่งออกไปรัสเซียและยูเครนคิดเป็นเพียง 0.38% และ 0.05% ของการส่งออกทั้งหมดของไทยในปี 2564 ตามลำดับ แต่ผลกระทบทางอ้อมค่อนข้างมีนัยสำคัญเนื่องจาก (i) ต้นทุนการผลิตและการขนส่งเพิ่มสูงขึ้นตามราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่พุ่งขึ้น (ii) มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียอาจกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานในหลายอุตสาหกรรม เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบสำคัญรายใหญ่ และ (iii) ผลเชิงลบต่อรายได้และการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรปที่เป็นตลาดหลักของการส่งออกและท่องเที่ยวของไทย ล่าสุดวิจัยกรุงศรีประเมินในกรณีฐานการสู้รบในยูเครนจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการส่งออกของไทยลดลง 3.0% แต่คาดว่าจะได้อานิสงส์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับสูงขึ้น จึงปรับลดคาดการณ์มูลค่าการส่งออก (ในรูปดอลลาร์) ในปีนี้เติบโตที่ 2.6% จากเดิมคาดขยายตัว 5.0% ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้ปรับลดลงเหลือ 5.5 ล้านคน จากเดิมคาด 7.5 ล้านคน


 

มาตรการบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตพลังงานวงเงินกว่า 8 หมื่นล้านบาท ทางการคาด GDP ยังเติบโตได้ที่ 3% ล่าสุดรัฐบาลอนุมัติ 10 มาตรการลดภาระค่าครองชีพช่วยเหลือประชาชน (ดังตาราง) เป็นมาตรการระยะสั้น 3 เดือน คาดจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึงเดือนกรกฎาคม 2565 ทั้งนี้ รัฐบาลระบุวงเงินที่ใช้สำหรับดำเนินมาตรการข้างต้นรวมทั้งสิ้น 80,247 ล้านบาท แบ่งเป็น i) กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (เงินกู้) วงเงิน 39,520 ล้านบาท ii) กองทุนประกันสังคม (ปรับลดเงินสมทบ) วงเงิน 35,224 ล้านบาท iii) งบกลางจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 วงเงิน 3,740 ล้านบาท และ iv) บมจ. ปตท. (PTT) วงเงิน 1,763 ล้านบาท

ทางการดำเนินมาตรการระยะสั้นเพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน (ราว 40 ล้านคน) ภายใต้การประเมินสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนเบื้องต้นอาจนาน 3 เดือน  ผลกระทบจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นจะส่งผลต่อ GDP และอัตราเงินเฟ้อ เป็น 3 กรณี คือ i) ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 100  $/bbl ราคาดีเซลเฉลี่ย 33 บาท/ลิตร อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 5.0% GDP โต 3.5% ii) ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 125  $/bbl ราคาดีเซลเฉลี่ย 40 บาท/ลิตร อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 6.2% GDP โต 3.2% และ iii) ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 150  $/bbl ราคาดีเซลเฉลี่ย 46 บาท/ลิตร อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 7.2% GDP โต 3.0% ด้านวิจัยกรุงศรีล่าสุดปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้ลงเหลือ 2.8% จากเดิมคาด 3.7% จากการสู้รบในยูเครนอาจยืดเยื้อไปจนถึงไตรมาส 2 ชาติตะวันตกดำเนินมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียรุนแรงขึ้น (ยกเว้นพลังงาน)


Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา