บทวิเคราะห์เศรษฐกิจประจำสัปดาห์

เศรษฐกิจมหภาค

ภาวะเศรษฐกิจและการเงินประจำสัปดาห์

13 มิถุนายน 2566

เศรษฐกิจสหรัฐมีสัญญาณชะลอตัว ขณะที่แรงส่งการเติบโตของจีนและญี่ปุ่นถูกลดทอนจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก


สหรัฐ

ความร้อนแรงของตลาดแรงงานที่คลายลง หนุนคาดการณ์เฟดคงดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์นี้ ในเดือนเมษายน สหรัฐมียอดขาดดุลการค้าภาคสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น 23% สู่ 7.46 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดในรอบ 8 ปี ขณะที่จำนวนผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก เพิ่มขึ้น 28,000 ราย สู่ 261,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว สูงสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 ในเดือนพฤษภาคม ดัชนี ISM ภาคบริการชะลอลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือนที่ 50.3

ผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ปัญหาเสถียรภาพภาคธนาคาร รวมถึงประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ ยังคงเป็นปัจจัยที่ทำให้สหรัฐเสี่ยงต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่รุนแรงมากขึ้น หรือมีโอกาสเผชิญกับภาวะถดถอยทางเทคนิคที่สูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งสัญญาณการชะลอตัวเริ่มปรากฎให้เห็นบ้างแล้วผ่านอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลง รวมถึงการหดตัวของดัชนีภาคการผลิต ในขณะที่ความแข็งแกร่งของภาคบริการมีแนวโน้มลดลงหลังแรงหนุนจาก Pent-Up Demand เริ่มหมดลง กรณีที่อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในทิศทางชะลอตัวตามที่คาด วิจัยกรุงศรีประเมินว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเดือนมิถุนายนเพื่อให้สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่เริ่มเป็นบวก และเพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงแรงในระยะข้างหน้า


 

ญี่ปุ่น

ผลบวกจากการเปิดประเทศคาดหนุนเศรษฐกิจญี่ปุ่นโตต่อในช่วงครึ่งปีหลัง ในไตรมาส 1/2566 ตัวเลข GDP ญี่ปุ่นขยายตัว 2.7% YoY มากกว่าประมาณการเบื้องต้นที่ 1.6% โดยการลงทุนภาคเอกชนที่ไม่ใช่ที่พักอาศัยหรือการใช้จ่ายด้านทุน เพิ่มขึ้น 1.4% สูงกว่าประมาณการเบื้องต้นที่ 0.9% อุปสงค์ภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 1.2% และอุปสงค์ในประเทศเพิ่มขึ้น 1% ในขณะที่การส่งออกสินค้าและบริการลดลง 4.2%

แม้ความเสี่ยงเชิงลบของภาคการส่งออกยังอยู่ในระดับสูง แต่คาดว่าการเติบโตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศผ่านแรงหนุนของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นหลังเปิดประเทศ แรงกดดันด้านต้นทุนที่ทยอยลดลง รวมถึงนโยบายการเงินที่ยังคงผ่อนคลาย จะช่วยให้ภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงครึ่งปีหลังยังคงเป็นบวก ทั้งนี้จากอัตราเงินเฟ้อในญี่ปุ่นที่ยังคงอยู่ในระดับสูง รวมถึงปัญหาด้านเสถียรภาพของตลาดพันธบัตร วิจัยกรุงศรีประเมินว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะพิจารณาลดระดับการผ่อนคลายทางการเงินลงแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อในระยะยาวที่ 2%

 

จีน

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนเผชิญแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่วนเงินเฟ้อที่ต่ำอาจหนุนการผ่อนคลายนโยบายการเงิน ในเดือนพฤษภาคม การส่งออกของจีนกลับเข้าสู่แดนหดตัวอีกครั้งที่ -7.5% YoY หลังจากเติบโตได้ +14.8% และ +8.5% ในเดือนมีนาคมและเมษายน ตามลำดับ อีกทั้งยังต่ำกว่าตลาดคาดที่ -0.4% สำหรับในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกของจีนเพิ่มขึ้นเพียง 0.3% สำหรับอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำที่เพียง 0.2% ในเดือนพฤษภาคม ขยับขึ้นเล็กน้อยจากระดับต่ำสุดในรอบ 26 เดือนที่ 0.1% ในเดือนเมษายน   

เศรษฐกิจในประเทศของจีนยังปรับตัวดีขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการคุมโควิดและการเปิดประเทศ สะท้อนจากยอดขายยานยนต์ในเดือนพฤษภาคมที่เพิ่มขึ้นสู่ 2.38 ล้านคัน หรือเติบโต 27.9% YoY และยอดนำเข้าที่หดตัวในอัตราชะลอลงเหลือ -4.5% จาก -7.9% ในเดือนเมษายน โดยการนำเข้าหลายกลุ่มเติบโตเป็นบวก อาทิ น้ำมันดิบ ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และถั่วเหลือง ซึ่งสะท้อนความต้องการภายในประเทศที่ยังเติบโต อย่างไรก็ตาม การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกกำลังส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกของจีน โดยการส่งออกไปยังสหรัฐและสหภาพยุโรปหดตัวถึง 18.2% และ 26.6% ตามลำดับ นับเป็นการลดทอนแรงส่งการเติบโตของจีนโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ แรงกดดันเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำอาจเปิดทางให้มีการผ่อนคลายนโยบายการเงิน อาทิ การปรับลดอัตราเงินสดสำรองตามกฎหมายหรือ RRR ของธนาคารพาณิชย์ เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องและหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป



 

แรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อบรรเทาลง ขณะที่ครัวเรือนที่มีรายได้ปานกลางลงมาเผชิญข้อจากัดในการใช้จ่ายแม้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับขึ้นต่อเนื่อง

 

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤษภาคมชะลอลงเหลือเพียง 0.53% ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายของธปท. แนวโน้มเฉลี่ยทั้งปีอาจต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 2.5% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤษภาคมชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 21 เดือน ที่ 0.53% YoY(ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์และวิจัยกรุงศรีคาดไว้ที่ 1.7% และ 1.5% ตามลำดับ)  และชะลอลงจาก 2.67% ในเดือนเมษายน เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับลดลง (-11.3%) ตามสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมถึงการปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม และราคาสินค้าในกลุ่มอาหารบางชนิดมีการปรับลดลง อาทิ เนื้อสุกร และน้ำมันพืช  ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักราคาหมวดอาหารสดและพลังงาน) เดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 1.55% ชะลอลงจาก 1.66% ในเดือนก่อน สำหรับในช่วงห้าเดือนแรกของปี 2566 (มกราคม-พฤษภาคม) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 2.96% และ 1.98% ตามลำดับ

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤษภาคมชะลอลงเร็วกว่าที่คาดและต่ำกว่ากรอบเป้าหมายของธปท.ที่ 1-3% ในระยะต่อไปมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องหรืออาจติดลบได้ในบางเดือนของช่วงที่เหลือของปี ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานที่สูงมากในปีก่อน  ประกอบกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเฉลี่ยแล้วต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน นอกจากนี้ ยังมีมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าบางกลุ่ม วิจัยกรุงศรีคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงที่เหลือของปีจะเฉลี่ยอยู่ที่ 1-1.5% และเฉลี่ยทั้งปีนี้มีแนวโน้มต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 2.5% ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เริ่มกลับมาเป็นบวกได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม อาจเป็นปัจจัยหนุนให้กนง.หยุดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 2 สิงหาคมนี้ 
 



 

แม้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคฟื้นต่อเนื่อง แต่ครัวเรือนส่วนใหญ่มีหนี้สูงและมีสภาพคล่องไม่เพียงพอ ในเดือนพฤษภาคม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับขึ้นสู่ระดับ 55.7 จาก 55.0 ในเดือนก่อน เป็นการปรับขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 สู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวที่ชัดเจน รวมถึงบรรยากาศการเลือกตั้งที่คึกคักทั่วประเทศส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศและหนุนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวลดลงช่วยผ่อนคลายความกังวลเรื่องค่าครองชีพ

แม้การบริโภคในระยะข้างหน้าจะได้แรงหนุนจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีแนวโน้มทยอยปรับขึ้น แต่ยังมีปัจจัยกดดันจากทั้งดอกเบี้ยขาขึ้นที่อาจเป็นภาระเพิ่มเติมแก่ครัวเรือนที่มีความเปราะบางและมีข้อจำกัดในการใช้จ่าย โดยวิจัยกรุงศรีได้วิเคราะห์ความสามารถในการใช้จ่ายของครัวเรือนจำแนกตามระดับรายได้ ซึ่งพิจารณาจากอัตราส่วนของค่าใช้จ่ายทั้งหมด (รวมการชำระหนี้) ต่อรายได้และเงินฝาก พบว่าครัวเรือนที่มีหนี้และมีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 50,000 บาท มีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาทางการเงินเนื่องจากมีสภาพคล่องค่อนข้างต่ำ โดยกลุ่มนี้มีอัตราส่วนของค่าใช้จ่ายทั้งหมดสูงถึง 30% ของรายได้และเงินฝาก หรือสะท้อนว่าสภาพคล่องที่มีอยู่จะสามารถใช้จ่ายและชำระหนี้ได้เพียง 3 ปี โดยจำนวนกลุ่มครัวเรือนนี้มีมากถึง 85% ของครัวเรือนที่มีหนี้ทั้งหมด (ดังรูป) ขณะที่กลุ่มครัวเรือนที่มีหนี้และมีรายได้ต่อเดือนสูง (มากกว่า 50,000 บาท) พบว่าอัตราส่วนค่าใช้จ่ายรวมต่อรายได้และเงินฝากอยู่ที่ 6-17% บ่งชี้ว่าสภาพคล่องที่มีอยู่สามารถใช้จ่ายและชำระหนี้ได้นาน 5-10 ปี แสดงถึงความสามารถในการใช้จ่ายของครัวเรือนกลุ่มนี้ซึ่งมีสัดส่วนเพียง 15% ของครัวเรือนที่มีหนี้ทั้งหมด สะท้อนปัญหาความไม่เท่าเทียมที่ยังแฝงอยู่แม้เศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น


 

Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา