บทวิเคราะห์เศรษฐกิจประจำสัปดาห์

เศรษฐกิจมหภาค

ภาวะเศรษฐกิจและการเงินประจำสัปดาห์

01 กุมภาพันธ์ 2565

 

เฟดพร้อมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังเผชิญแรงกดดันหลายด้าน

 

คาดเฟดขึ้นดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้ โดยอาจปรับขึ้นครั้งแรก 25 bps ท่ามกลางปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นต่อเนื่อง เฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการเข้าซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการ QE โดยประธานเฟดยอมรับว่า “มีแนวคิดที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมีนาคมนี้” เนื่องจากอัตราเงินเฟ้ออยู่สูงกว่าเป้าหมาย ขณะที่ตลาดแรงงานมีพัฒนาการที่แข็งแกร่ง มุมมองดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุด โดย GDP ไตรมาส 4/2564 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 ไตรมาสที่ 6.9% QoQ และ GDP ทั้งปี 2564 ขยายตัว 5.7% สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2527 ด้านดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐานเดือนธันวาคมเพิ่มขึ้น 4.9% YoY สูงสุดในรอบ 40 ปี

เศรษฐกิจสหรัฐฯที่เติบโตแข็งแกร่งประกอบกับอัตราเงินเฟ้อเพิ่มต่อเนื่องนานกว่าคาด กดดันให้เฟดส่งสัญญาณชัดเจนถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วและแรง วิจัยกรุงศรีประเมินว่าเฟดจะเร่งปรับนโยบายการเงินสู่ภาวะปกติ โดยการปรับลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE Tapering) จะสิ้นสุดลงในเดือนมีนาคม เพื่อปูทางในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2561 ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2565 นี้ เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 4 ครั้ง (มีนาคม มิถุนายน กันยายน และธันวาคม) ครั้งละ 25 bps ส่วนการปรับลดขนาดงบดุลของเฟดอาจเริ่มขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2/2565


 

IMF ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกปีนี้ คาดยังเผชิญหลายปัจจัยเสี่ยง โดยปรับลดอัตราการเติบโตของ GDP โลกในปี 2565 ลงสู่ 4.4% จากเดิม 4.9% และชะลอลงจาก 5.9% ในปี 2564  นอกจากนี้ ยังปรับลด GDP ของประเทศแกนหลัก นำโดยสหรัฐฯ เหลือ 4.0% (เดิม 5.2%) ยุโรป 3.9% (4.3%) จีน 4.8% (5.6%) ส่วนญี่ปุ่นได้ปรับเพิ่มเล็กน้อยเป็น 3.3% (3.2%)

การเติบโตของเศรษฐกิจโลกอ่อนแอลงกว่าคาด ส่วนหนึ่งเป็นผลจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งสูง ประกอบกับเศรษฐกิจโลกยังต้องเผชิญแรงกดดันทั้ง (i) ความเสี่ยงด้านต่ำที่เพิ่มขึ้นจากไวรัสกลายพันธุ์ ขณะที่มาตรการควบคุมการระบาดส่งผลให้ปัญหาข้อจำกัดด้านอุปทานยืดเยื้อ (ii) อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นขณะที่อุปทานเผชิญภาวะคอขวด ประกอบกับการเก็งกำไรในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ โดย IMF  ได้ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อในปี 2565 เพิ่มขึ้น ทั้งสหรัฐฯ ยูโรโซน และกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ และ (iii) ข้อจำกัดในการดำเนินนโยบาย โดยแรงกดดันเงินเฟ้ออาจส่งผลให้ธนาคารกลางบางประเทศปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติเร็วขึ้น นอกจากนี้ ปัญหาการขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะยังอาจส่งผลให้บางประเทศเผชิญข้อจำกัดในการออกมาตรการกระตุ้นทางการคลัง ท่ามกลางการเติบโตที่ยังเปราะบางและไม่ทั่วถึง



 

ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯต่อกรณียูเครนเพิ่มความเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก สหรัฐฯและชาติพันธมิตรในกลุ่มองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) ประกาศพร้อมเผชิญหน้ากับรัสเซียที่ตรึงกำลังตามแนวชายแดนยูเครน โดย ปธน.ไบเดน กล่าวว่าหากรัสเซียเข้าโจมตียูเครนจะเป็นการรุกรานครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งยังระบุว่าอาจใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียเพื่อป้องกันมิให้รัสเซียก่อสงคราม ด้าน ปธน.ปูติน ได้เรียกร้องให้สหรัฐฯและชาติพันธมิตรถอนกำลังทหารออกจากกลุ่มประเทศอดีตสหภาพโซเวียต รวมทั้งขู่ว่าจะยกระดับการใช้กำลังทหารเพื่อตอบโต้

สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯและชาติพันธมิตรถือเป็นความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญและอาจสร้างปัญหาในด้านพลังงาน รัสเซียเป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติอันดับ 2 ของโลกโดยส่งออกก๊าซส่วนใหญ่ไปยังยุโรปผ่านทางท่อส่งในยูเครน ขณะเดียวกันรัสเซียยังเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก สำหรับยูเครนถือเป็นแหล่งเพาะปลูกธัญพืชที่สำคัญโดยส่งออกข้าวสาลีเป็นอันดับ 5 ของโลก ปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะพลังงานและราคาสินค้าเกษตรรวมทั้งราคาอาหารในตลาดโลกจะพุ่งสูงขึ้น ส่วนการคว่ำบาตรรัสเซียอาจกระทบบรรยากาศทางธุรกิจและการลงทุนระหว่างสหรัฐฯและรัสเซีย รวมทั้งเป็นอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศและการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ยังต้องเผชิญปัญหาหลายด้าน



 

 

ทางการออกมาตรการด้านการคลังและการเงิน เพื่อพยุงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและสนับสนุนการแก้ไขปัญหา NPLs

 

รัฐบาลอนุมัติวงเงินกู้กว่า 5.3 หมื่นล้านบาท เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและบรรเทาภาระค่าครองชีพ การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติวงเงินรวม 53,222 ล้านบาท จากการใช้เงินตามพ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท เพื่อจัดทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นผ่านโครงการสำคัญ ได้แก่ i) โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 วงเงิน 34,800 ล้านบาท (ให้ g-wallet รายละ 1,200 บาท ใช้จ่ายได้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึง 30 เมษายน) ii) โครงการเพิ่มกำลังซื้อแก่กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ วงเงิน 8,070 และ 1,352 ล้านบาท ตามลำดับ (เพิ่ม g-wallet ให้รายละ 200 บาท/เดือน  เป็นเวลา 3 เดือน เริ่มเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน)  และ   iii) โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ระยะที่ 4 วงเงิน 9,000 ล้านบาท (มีผลตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงกรกฎาคม)



 

วิจัยกรุงศรีประเมินเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในเส้นทางการฟื้นตัว แม้พัฒนาการดังกล่าวอาจล่าช้าออกไปเมื่อต้องเผชิญกับการระบาดของไวรัสโอมิครอน แต่ผลกระทบอาจอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำ จึงคาดว่าการใช้มาตรการควบคุมจะเข้มงวดน้อยกว่าการระบาดที่เกิดจากไวรัสเดลตาในรอบก่อน โดยในกรณีฐาน คาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะแตะจุดสูงสุดในกลางเดือนกุมภาพันธ์ก่อนจะลดลงอย่างช้าๆ  ภาคท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบมากสุดจากการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ และผลต่อภาพรวมของกิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงราว 0.6% อย่างไรก็ตาม ผลบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุดซึ่งจะช่วยให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้เป็นอย่างต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท กอปรกับความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนสนับสนุนให้ทางการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมเพิ่มเติม การนำมาตรการ Test&Go กลับมาใช้สำหรับเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และแรงหนุนจากการขยายตัวของภาคส่งออก ผลกระทบสุทธิจากการระบาดรอบนี้จะทำให้อัตราการขยายตัวของ GDP ยังคงใกล้เคียงกับคาดการณ์เดิม



 

ธปท.สนับสนุนการแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพอันเนื่องมาจากโควิด 19 เพื่อช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของ NPLs ในระยะข้างหน้า  ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาตรการส่งเสริมการจัดตั้งกิจการร่วมทุนเพื่อแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (JVAMC) โดยให้ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทบริหารสินทรัพย์ สามารถร่วมลงทุนในกิจการร่วมทุน (Joint Venture) กำหนดระยะเวลายื่นขอจัดตั้งกิจการร่วมทุนได้ภายในปี 2567  (มีผลตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2565 ถึง 31 ธันวาคม 2567) มีระยะเวลา 15 ปีในการดำเนินกิจการร่วมทุนนี้ สำหรับกลไกดำเนินการกำหนดให้รับซื้อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) และทรัพย์สินรอการขาย (NPA) ในประเทศ ซึ่งจะต้องเน้นให้ความช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่องแก่ลูกหนี้ด้อยคุณภาพที่ได้รับโอนมา

แม้มาตรการดังกล่าวจะเป็นมาตรการชั่วคราว แต่ทางการเล็งเห็นความจำเป็นของการเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่ระบบสถาบันการเงินให้มีการจัดตั้งกิจการร่วมทุน เพื่อรองรับ NPLs ที่อาจทยอยเพิ่มขึ้นในอนาคต  แม้ข้อมูลล่าสุด ณ ไตรมาส 3/2564 สัดส่วน NPLs ต่อสินเชื่อรวมของระบบธนาคารพาณิชย์ยังอยู่ที่ระดับ 3.14% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 3.12% ในไตรมาส 4/2563 เนื่องจากยังได้รับผลเชิงบวกจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นลูกหนี้ อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะในภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโควิด 19 ที่ลากยาวและยังมีความเปราะบางอยู่ มาตรการนี้จึงน่าจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะช่วยให้สถาบันการเงินบริหารจัดการ NPLs ได้อย่างเหมาะสมและยังช่วยให้ลูกหนี้มีโอกาสได้รับความช่วยเหลือเพิ่มเติม (เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ การไกล่เกลี่ยหนึ้) และไม่ถูกเร่งรัดขายสินทรัพย์ในราคาต่ำเกินจริง ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาที่อาจบั่นทอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ



 

 
ประกาศวันที่ :01 กุมภาพันธ์ 2565
Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา