บทวิเคราะห์เศรษฐกิจประจำสัปดาห์

เศรษฐกิจมหภาค

ภาวะเศรษฐกิจและการเงินประจำสัปดาห์

21 มิถุนายน 2565

 

ประเทศแกนหลักมีแนวโน้มดำเนินนโยบายการเงินแตกต่างกัน ท่ามกลางปัญหาทางเลือกระหว่างการดูแลเงินเฟ้อกับการฟื้นตัวที่ยังถูกแรงกดดันหลายด้าน


สหรัฐฯขึ้นดอกเบี้ยแรงสุดในรอบ 28 ปี คาดจะปรับขึ้นอีก 75 bps ในเดือนกรกฎาคมนี้ เฟดมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% สู่ระดับ 1.50-1.75% ถือเป็นการปรับขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2537 ส่วนมุมมองอัตราดอกเบี้ยของกรรมการเฟดจาก Dot plot นั้นคาดว่าแตะ 3.4% ในปลายปี และปรับขึ้นสู่ระดับ 3.8% ในสิ้นปี 2566 ทั้งนี้เฟดได้ปรับลดประมาณการเติบโตของ GDP ปีนี้ลงสู่ 1.7% (จาก 2.8% เมื่อเดือนมีนาคม) พร้อมปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 เป็น 5.2% (จาก 4.3%)

เฟดจำเป็นต้องเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดแรงกดดันด้านราคา จากข้อบ่งชี้ทั้งการปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปีนี้เป็น 4.3% (จาก 4.1%) ประกอบกับการตัดข้อความ “กรรมการคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับไปสู่เป้าหมาย 2%” ออกจากแถลงการณ์ภายหลังประชุม สะท้อนว่าเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ประธานเฟดส่งสัญญาณว่าการขึ้นดอกเบี้ยแรงถึง 75 bps นั้นไม่ถือเป็นเรื่องปกติ แต่ยอมรับว่าการปรับขึ้นอีก 50 หรือ 75 bps ต่างเป็นไปได้สำหรับการประชุมครั้งหน้า นอกจากนี้ ยังระบุว่าเฟดจะพยายามไม่ให้เกิดภาวะถดถอย วิจัยกรุงศรีคาดเฟดมีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ย 75 bps ในการประชุมเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งจะต้องคำนึงถึงการรักษาสมดุลระหว่างการควบคุมเงินเฟ้อกับการป้องกันมิให้เศรษฐกิจตกลงแรง (Hard landing)



 

ยูโรโซนประกาศสร้างเครื่องมือลดภาวะพันธบัตรผันผวน ส่วนอังกฤษและหลายประเทศขึ้นดอกเบี้ย ท่ามกลางต้นทุนการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับสูงสุดในรอบ 13 ปีที่ 1.25% โดยเพิ่มติดต่อกันเป็นครั้งที่ 5 ส่วนธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ (SNB) ประกาศขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี สอดคล้องกับธนาคารกลางไต้หวัน ฮ่องกง บราซิล และฮังการี ซึ่งปรับเพิ่มดอกเบี้ยไปในทิศทางเดียวกัน ด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) จัดประชุมฉุกเฉินและประกาศสร้างเครื่องมือใหม่เพื่อจัดการความเสี่ยงจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสำหรับสมาชิกบางประเทศที่มีความเสี่ยงจากภาระหนี้สาธารณะสูง

ธนาคารกลางหลายประเทศต่างใช้มาตรการเข้มงวดในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อรับมือกับความผันผวนในตลาดการเงินและสกัดเงินเฟ้อ โดยเฉพาะอังกฤษที่อัตราเงินเฟ้อเดือนเมษายนแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปีที่ 9.0% ส่วนในยูโรโซนซึ่งประกอบด้วยสมาชิกมีความหลากหลายนั้น ทาง ECB แถลงว่าจะออกเครื่องมือเข้าซื้อพันธบัตรที่ยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อบรรเทาความกังวลของนักลงทุนต่อกลุ่มประเทศ European periphery ที่มีภาระหนี้สูงและเปราะบางต่อต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น ซึ่งต้องเผชิญกับภาวะผันผวนของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล แม้ว่าจะยังไม่มีความชัดเจนในรายละเอียดของกลไกดังกล่าว



 

คาดญี่ปุ่นและจีนต้องใช้มาตรการผ่อนคลายสวนทางกับชาติตะวันตกต่อไปเพื่อหนุนการฟื้นตัวต่อเนื่อง ธนาคารกลางชั้นนำในเอเชียยังรักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายเท่าเดิมไว้ในระดับต่ำต่อไป โดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงอัตราดอกเบี้ย มาตรการ QE และการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลต่อไป ด้านธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ระยะ 1 ปี ไว้ที่ระดับ 2.85% 

แรงกดดันเงินเฟ้อในญี่ปุ่นและจีนยังกระจุกตัวในสินค้าบางกลุ่มและไม่สูงเท่าประเทศตะวันตก เอื้อให้ BOJ และ PBOC สามารถใช้มาตรการทางการเงินผ่อนคลายควบคู่กับด้านการคลังเพื่อหนุนการฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดของรอบนี้ที่มีไวรัสโอมิครอนเป็นปัจจัยกดดันหลักและใช้เครื่องมือแบบเจาะจงเป้าหมายช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ขณะที่ยังมีความจำเป็นต้องประคับประคองเศรษฐกิจจากปัจจัยเสี่ยงทั้งการยืดเยื้อของสงครามยูเครน ภาวะอุปทานชะงักงัน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งขึ้น รวมถึงปัญหาหนี้และการขาดสภาพคล่องในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน และการอ่อนค่าของเงินเยนลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 24 ปีซึ่งจะกดดันต้นทุนภาคธุรกิจที่พึ่งพาการนำเข้าของญี่ปุ่น


 


 

ภาคท่องเที่ยวได้แรงหนุนมากขึ้นจากมาตรการกระตุ้นและการผ่อนคลายเพิ่มเติม ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังเติบโตจำกัด

 

ทางการเตรียมยกเลิกไทยแลนด์พาสต้นเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ และเตรียมขยายมาตรการบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตราคาพลังงานเพิ่มเติม ล่าสุดการประชุมของศูนย์บริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศบค) เห็นชอบให้ปรับระดับพื้นที่ทั่วทั้งประเทศเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง (สีเขียว)   โดยให้มีผลหลังจากประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ขณะเดียวกันยังเห็นชอบให้ยกเลิกการลงทะเบียน Thailand Pass หรือหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศ (Certificate of Entry: COE) ของคนต่างชาติ และยกเลิกการกำหนดเงินประกันการเดินทางสำหรับต่างชาติ เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม เป็นต้นไป สำหรับมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพจากวิกฤตราคาพลังงาน ล่าสุดรัฐบาลเตรียมขยายเวลาในบางมาตรการที่จะสิ้นสุดในเดือนมิถุนายนออกไปอีก 3 เดือน อาทิ การช่วยเหลือค่าก๊าซหุงต้มแก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และการตรึงราคาขายปลีก NGV รวมทั้งอาจมีมาตรการใหม่เพิ่ม โดยจะขอความร่วมมือไปยังกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันนำส่งกำไรค่าการกลั่น เพื่อนำมาช่วยพยุงราคาน้ำมัน



 

ปัจจัยบวกจากการผ่อนคลายเพิ่มเติมและการปรับลดระดับการเตือนภัยโควิดจากระดับ 3 เป็น 2 คาดว่าจะช่วยหนุนให้กิจการและกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ทยอยกลับเข้าใกล้เคียงสู่ภาวะปกติมากขึ้น ประกอบกับกระทรวงการคลังระบุเตรียมเสนอมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศในช่วงครึ่งปีหลังเพิ่มเติม โดยกำหนดให้บริษัทเอกชนที่นำพนักงานไปท่องเที่ยวในเมืองรองสามารถหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า และเมืองหลักลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า การท่องเที่ยวในประเทศจึงมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้ดีกว่าที่คาด เช่นเดียวกับการยกเลิกการลงทะเบียนไทยแลนด์พาส ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกและหนุนให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศมากขึ้นจากค่าเฉลี่ยในปัจจุบันประมาณวันละ 2-2.5 หมื่นคน จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้จึงมีโอกาสที่จะสูงกว่าที่เคยคาดไว้ที่ 5.5 ล้านคน


 

แม้มีสัญญาณเชิงบวกจาก FDI ที่เข้ามาในบางกลุ่มอุตสาหกรรม แต่ยังมีหลายปัจจัยที่อาจจำกัดการเติบโตของการลงทุนภาคเอกชน ข้อมูลจาก BOI รายงานการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วงไตรมาส 1/2565 มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนมูลค่ารวม 77.3 พันล้านบาท ขยายตัว 29.1% YoY (ต่อเนื่องจากปี 2564 ที่เติบโตเกือบ 169%) โดยมูลค่าเงินลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในหมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง (สัดส่วน 61% ของ FDI ทั้งหมด) หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (13%) และหมวดอุตสาหกรรมเบา (11%)  นอกจากนี้ รายได้จากการขายและค่าเช่าในนิคมอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2565 (ตุลาคม 2564-มีนาคม 2565) ขยายตัว 31.7% YoY โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ยังคงเป็นทำเลทองที่ได้รับความสนใจ  ซึ่งในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้มีมูลค่า FDI ที่ยื่นขอรับการลงทุนในพื้นที่ EEC เพิ่มขึ้น 11.7% YoY  ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโครงการยานยนต์สมัยใหม่ (รถยนต์ไฟฟ้า) และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ

การลงทุนแม้จะมีสัญญาณเชิงบวกจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของ FDI แต่ยังมีการกระจุกตัวอยู่ในบางหมวดอุตสาหกรรมที่อาจได้ประโยชน์จากการกลับมาเปิดประเทศและการปฎิรูปอุตสาหกรรม สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตของหลายอุตสาหกรรมที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 วิจัยกรุงศรีประเมินการเติบโตของการลงทุนภาคเอกชนในปีนี้ยังอาจถูกจำกัดจากหลายปัจจัย อาทิ ความกังวลภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวมากขึ้น ต้นทุนการผลิตที่ปรับสูงขึ้น ค่าเงินบาทที่ผันผวน รวมถึงความเชื่อมั่นที่ยังอยู่ในระดับต่ำและล่าสุดยังถูกบั่นทอนจากอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยปี 2565 ที่ร่วงลงมากสู่อันดับ 33 จาก 28 ในปีก่อน




 

Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา