บทวิเคราะห์เศรษฐกิจประจำสัปดาห์

เศรษฐกิจมหภาค

ภาวะเศรษฐกิจและการเงินประจำสัปดาห์

15 กรกฎาคม 2568

Weekly Economic Review

ความเสี่ยงจากนโยบายการค้าสูงขึ้นอีกครั้งหลังทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าจากประเทศคู่ค้าสูงถึง 20-50% ขณะที่ภาวะอุปทานส่วนเกินกดดันเศรษฐกิจจีนต่อเนื่อง

 

สหรัฐ

 

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวชัดเจนขึ้นใน 2H68 คาดหนุนเฟดปรับลดดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 2 ครั้งในปีนี้ ตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสหรัฐฯ ลดลง 5,000 ราย สู่ระดับ 227,000 รายในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 กรกฎาคม ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 7 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม รายงานจาก ADP ระบุว่า ธุรกิจเอกชนลดการจ้างงานลงในเดือนมิถุนายน ซึ่งลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 สะท้อนภาพตลาดแรงงานที่เผชิญความไม่แน่นอน

ความตึงเครียดทางการค้าสูงขึ้นหลังประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากกว่า 27 ประเทศ ในอัตรา 20–50% รวมถึงการปรับขึ้นภาษีนำเข้าทองแดงที่ 50% โดยจะมีผลในวันที่ 1 สิงหาคม นอกจากนี้ ยังมีแผนขึ้นภาษีนำเข้ายาในอัตราสูงถึง 200% ซึ่งอาจซ้ำเติมห่วงโซ่อุปทานและค่าครองชีพของผู้บริโภค ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมในปีนี้ท่ามกลางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวจากแรงกดดันด้านการค้า นโยบายจำกัดผู้อพยพ สภาพการเงินที่ตึงตัว และหนี้เอกชนที่สูง จากปัจจัยดังกล่าว วิจัยกรุงศรีคาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 2-3 ครั้ง ในปีนี้


Weekly Economic Review
 

ญี่ปุ่น

 

คาด BOJ คงอัตราดอกเบี้ยจนถึงสิ้นปีภายใต้ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจที่สูงขึ้นและเงินเฟ้อที่มีทิศทางชะลอตัว ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) รายงานว่า ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นปรับลดราคารถยนต์ส่งออกไปยังสหรัฐฯ ในเดือนมิถุนายนลงถึง 19.4% YoY ซึ่งเป็นการปรับลดลงมากสุดนับตั้งแต่ปี 2559 สะท้อนว่าบริษัทญี่ปุ่นยอมลดกำไรเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน หลังสหรัฐฯ เริ่มเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์จากญี่ปุ่น 25% ตั้งแต่เดือนเมษายน

อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นมีแนวโน้มผ่อนคลายลงในครึ่งหลังของปีจากแรงหนุนของมาตรการภาครัฐ เช่น การระบายข้าวในสต็อกและเงินอุดหนุนพลังงาน อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงภายนอกประเทศยังคงสูง โดยเฉพาะประเด็นความตึงเครียดทางการค้ากับสหรัฐฯ หลังประธานาธิบดีทรัมป์ขู่ว่าจะเก็บภาษีนำเข้า 25% กับสินค้าเกษตรและยานยนต์จากญี่ปุ่นหากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการค้าภายในวันที่ 1 สิงหาคม ทั้งนี้ จากปัจจัยดังกล่าวรวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มลดลง วิจัยกรุงศรีคาดว่า BOJ จะยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติมในระยะนี้ เพื่อประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไปจนถึงสิ้นปี 2568 นี้


Weekly Economic Review
 

จีน
 

จีนเผชิญแรงกดดันจากภาวะอุปทานส่วนเกินอย่างต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมิถุนายนยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 1% YoY นานติดต่อกัน 28 เดือน ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิตหดตัวแรงขึ้นจาก -3.3% เป็น -3.6% แรงสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 สอดคล้องกับกำไรภาคอุตสาหกรรมซึ่งหดตัว -9.1% ในเดือนพฤษภาคมและ -1.1% ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่อยู่ในระดับต่ำและดัชนีราคาผู้ผลิตที่ลดลงต่อเนื่อง สะท้อนถึงปัญหาอุปทานส่วนเกินในภาคการผลิตและภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งยังคงฉุดรั้งภาคธุรกิจและเศรษฐกิจโดยรวม แม้รัฐบาลพยายามกระตุ้นอุปสงค์ผ่านมาตรการอุดหนุนการแลกซื้อสินค้าใหม่ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา วิจัยกรุงศรีประเมินว่าภาวะอุปทานส่วนเกินของจีนยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน และอาจต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าที่ระดับอุปทานส่วนเกินจะไม่ส่งผลเชิงลบต่อเศรษฐกิจ นอกจากนี้ หากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ กลับมารุนแรงขึ้นอีกครั้ง ภาคการส่งออกอาจขยายตัวชะลอลง ซึ่งจะซ้ำเติมปัญหาในภาคการผลิตที่กำลังพึ่งพาอุปสงค์ต่างประเทศมากขึ้นในจังหวะที่อุปสงค์ในประเทศยังอ่อนแอ

Weekly Economic Review



 

Weekly Economic Review

เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มชะลอตัวชัดเจน จากแรงส่งในหลายภาคส่วนมีแนวโน้มแผ่วลง

 

วิจัยกรุงศรีประเมินกรณีเลวร้ายหากสหรัฐฯเก็บภาษีนำเข้ากับไทยในอัตรา 36% มูลค่าการส่งออกจะหายไปกว่า 1.62 แสนล้านบาท และหากยกเว้นภาษีนำเข้าแก่สหรัฐฯ ไทยอาจเสี่ยงเกิดภาวะ Twin Influx ในวันที่ 7 กรกฏาคม ไทยได้รับจดหมายจากสหรัฐฯ แจ้งเตรียมเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยในอัตราสูงถึง 36% โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคมนี้  หากไม่มีข้อตกลงทางการค้าใหม่เกิดขึ้น ล่าสุดรัฐบาลไทยได้ยื่นข้อเสนอทางการค้าปรับปรุงเพิ่มเติม (ดังตาราง) หลังการเจรจารอบแรกไม่ประสบความความสำเร็จ รวมถึงเร่งขอเจรจาเพื่อต่อรองให้ได้อัตราภาษีที่ลดลงต่ำกว่า 36%

 

Weekly Economic Review

 

หากสินค้าส่งออกของไทยต้องถูกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราสูงถึง 36% ซึ่งนับเป็นอัตราที่ค่อนข้างสูงในบรรดาประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ และสูงกว่าประเทศคู่แข่งในภูมิภาคอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเวียดนามซึ่งสามารถเจรจาลดอัตราภาษีเหลือ 20% (และ 40% สำหรับสินค้าที่ต้องสงสัยว่าถูกส่งผ่าน)  ในกรณีเลวร้ายนี้วิจัยกรุงศรีประเมินว่ามูลค่าการส่งออกของไทยจะหายไปถึง 1.621 แสนล้านบาท โดยอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ  กลุ่มสิ่งทอ เครื่องหนังและรองเท้า อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้า อาหารและเครื่องดื่ม ยางและพลาสติก


Weekly Economic Review
 

ส่วนกรณีหากไทยและสหรัฐฯ บรรลุข้อตกลงทางการค้าที่มีลักษณะคล้ายกับข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ กับเวียดนาม โดยที่สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยในอัตรา 20% ขณะที่ไทยยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เป็น 0% ผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอาจรุนแรงน้อยกว่ากรณีที่มีการเรียกเก็บภาษีที่ 36% ถึง 9.3 เท่า หรือคิดเป็นมูลค่าส่งออกที่หายไป 0.174 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม การยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ดังกล่าวอาจเป็นการแก้ปัญหาหนึ่งแต่จะสร้างอีกปัญหาตามมา โดยเฉพาะความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก จากแบบจำลองพบว่าในระยะยาวการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ อาจเพิ่มขึ้นถึง 27% หรือประมาณ 1.883 แสนล้านบาท โดยกลุ่มสินค้าที่มีความอ่อนไหว อาทิ กลุ่มสินค้าเกษตร และอาหารและเครื่องดื่ม อาจเผชิญกับการหลั่งไหลเข้าของสินค้าจากสหรัฐฯ ในอัตรากว่า 100% ขณะที่กลุ่มสินค้าอื่น ๆ เช่น ยานยนต์และอุปกรณ์ขนส่ง สิ่งทอ เครื่องหนังและรองเท้า ยางและพลาสติก ก็อาจมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นในระดับเลขสองหลักเช่นกัน

การเปิดตลาดให้สินค้าสหรัฐฯมากขึ้นเพื่อแลกกับการลดภาษีอาจนำไปสู่ภาวะ "Twin Influx" หรือ การไหลทะลักเข้าของสินค้าจากสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นพร้อมกับการไหลทะลักของสินค้าจีนเข้าสู่ไทย ในท้ายที่สุด ภาวะ "Twin Influx" อาจบั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขัน และส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตในประเทศ โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมที่มีการจ้างงานถึง 28.6% ของกำลังแรงงาน (ปี 2567) ทั้งนี้ ท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่รุนแรงขึ้น ประเทศไทยอาจมีทางเลือกตอบโต้ที่จำกัด ดังนั้น จึงควรเร่งขยายตลาดและเจรจาการค้ากับประเทศอื่นๆมากขึ้น และหันมาแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างในระยะยาวอย่างจริงจัง เพื่อลดแรงกดดันจากนโยบายการค้าของประเทศแกนหลัก


Weekly Economic Review

 

 

Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา