บทวิเคราะห์เศรษฐกิจประจำสัปดาห์

เศรษฐกิจมหภาค

ภาวะเศรษฐกิจและการเงินประจำสัปดาห์

22 กรกฎาคม 2568

Weekly Economic Review

แผนปรับขึ้นภาษีนำเข้าระลอกใหม่ของทรัมป์เพิ่มความเสี่ยงต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง ด้านเศรษฐกิจจีนยังขยายตัวได้ดีแต่เริ่มมีสัญญาณชะลอตัว

 

 

สหรัฐ

 

ความกังวลเงินเฟ้อและความไม่แน่นอนของนโยบายภาษีนำเข้าของทรัมป์ คาดเฟดคงดอกเบี้ยในการประชุมปลายเดือนนี้ ในเดือนมิถุนายน อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน โดยเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 2.7% YoY แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานต่ำกว่าตลาดคาดโดยอยู่ที่ 2.9% ขณะที่ยอดค้าปลีกพลิกกลับมาขยายตัวในเดือนมิถุนายนที่ 0.6% MoM จากหดตัว -0.9% ในเดือนก่อนหน้า

ความกังวลแรงกดดันเงินเฟ้อภายใต้แผนปรับขึ้นภาษีนำเข้าต่อประเทศคู่ค้าต่างๆ ในอัตรา 20-50% ของโดนัลด์ ทรัมป์ หลังเส้นตายวันที่ 1 สิงหาคม อาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) คงดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไปวันที่ 29-30 กรกฎาคม เพื่อรอดูความชัดเจนของนโยบายภาษีนำเข้า อย่างไรก็ตาม จากสัญญาณของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอลง ท่ามกลางแรงกดดันจากแผนการปรับขึ้นภาษีนำเข้า การเนรเทศกลุ่มผู้อพยพผิดกฎหมาย และการลดการใช้จ่ายของรัฐบาล วิจัยกรุงศรีคาดว่าเฟดมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 2-3 ครั้งในปีนี้



 

ยูโรโซน

 

ความเสี่ยงจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯเพิ่มขึ้นหลังทรัมป์ประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากยุโรปขั้นต่ำ 15-20%. ในเดือนกรกฎาคม ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ (ZEW) เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 36.1 จากเดือนก่อนที่ 35.3 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปขยับขึ้นสู่ระดับ 2.0% YoY ในเดือนมิถุนายน จากเดือนพฤษภาคมที่ 1.9% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 2.3% เท่ากับเดือนก่อนหน้า

เศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันมากขึ้นจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ หลังประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากยุโรปขั้นต่ำ 15-20% หากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าได้ก่อนวันที่ 1 สิงหาคม โดยผลการศึกษาของเราพบว่า แม้สหรัฐฯ จะเก็บภาษีเพียง 20% อาจทำให้การส่งออกของยุโรปในระยะยาวสูญเสียไป -1.42% โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าสิ่งทอ โลหะ และอิเล็กทรอนิกส์ที่จะหายไป –2% ถึง –3% ขณะที่ ตลาดแรงงานเริ่มส่งสัญญาณอ่อนแรงจากตัวเลขค่าจ้าง ตำแหน่งงานว่าง และอัตราการว่างงาน ประกอบกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจที่อาจชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปี จากปัจจัยดังกล่าว วิจัยกรุงศรีคาดว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 2 ครั้งในปีนี้



 

จีน
 

มาตรการกระตุ้นช่วยหนุนเศรษฐกิจจีนแต่แรงส่งเริ่มแผ่ว ท่ามกลางแรงกดดันจากสงครามการค้า ในครึ่งปีแรก GDP จีนขยายตัวดีเกินคาดที่ 5.3% YoY ขณะที่ยอดค้าปลีกขยายตัวสูงขึ้นจาก 4.6% ในช่วงสามเดือนแรกเป็น 5% ในช่วง 6 เดือนแรก ส่วนการส่งออกขยายตัวสูงขึ้นจาก 5.7% เป็น 5.9%

เศรษฐกิจจีนในช่วงครึ่งปีแรกส่วนหนึ่งได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นการบริโภค รวมถึงภาคการส่งออกที่ยังขยายตัวได้จากผลของการเร่งส่งออกสินค้าเพื่อเลี่ยงภาษีนำเข้า อย่างไรก็ตาม ความอ่อนแอในภาคอสังหาฯ ประกอบกับภาวะอุปทานส่วนเกินในภาคการผลิตยังคงกดดันเศรษฐกิจต่อเนื่อง และฉุดรั้งแรงส่งการเติบโตในปลายไตรมาสที่ 2 สะท้อนจาก (i) ยอดขายบ้านใหม่ที่หดตัวแรงขึ้นจาก -8.6% ในเดือนพฤษภาคมเป็น -22.8% ในเดือนมิถุนายน (ii)  ยอดค้าปลีกที่ขยายตัวชะลอลงจาก 6.4% เป็น 4.8% (iii) การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรซึ่งขยายตัวลดลงจาก 3.7% ในช่วง 5 เดือนแรกเป็น 2.8% ในช่วง 6 เดือนแรก นอกจากนี้ “สงครามการค้า” อาจกลับมาทวีความรุนแรงขึ้นหลังข้อตกลงลดภาษีนำเข้าเป็นการชั่วคราวระหว่างจีนและสหรัฐฯ สิ้นสุดลงในเดือนสิงหาคม ซึ่งจะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง

 



 

Weekly Economic Review

จับตาผลการเจรจาการค้าไทย-สหรัฐฯ หลัง 2 ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนต่อรองภาษีตอบโต้เหลือ 19-20% ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้อาจชะลอลงจากปีก่อน

 

แม้มีมาตรการรองรับผลกระทบสงครามการค้าจาก BOI แต่ยังต้องติดตามการเจรจากการค้าไทยกับสหรัฐฯ เลขาสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เผยว่าจากการประกาศใช้นโยบายเก็บภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯล่าสุด ทำให้นักลงทุนเกิดความกังวล ประกอบกับการแข่งขันทางธุรกิจในประเทศมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ทาง BOI จึงออกมาตรการ “ส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทย เพื่อรองรับโลกยุคใหม่” โดยมีเป้าหมาย คือ (i) เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเสริมสร้าง Supply Chain ในประเทศให้แข็งแกร่ง และ (ii) ลดความเสี่ยงจากนโยบายการค้าสหรัฐฯ และจัดระเบียบการลงทุนเพื่อรักษาสมดุลในการแข่งขันทางธุรกิจให้เหมาะสม ประกอบด้วย 5 มาตรการ (ดังตาราง) 

ข้อมูลจาก BOI ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มการเติบโตของยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนที่เพิ่มขึ้นทั้งในแง่จำนวนโครงการ (822 โครงการ หรือ +20% YoY) และมูลค่าการลงทุน (4.31 แสนล้านบาท หรือ +97% YoY) นำโดยการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนของนโยบายภาษีของสหรัฐฯ นับเป็นแรงกดดันที่มีนัยสำคัญต่อการตัดสินใจของนักลงทุน โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานโลก และพึ่งพาการเข้าถึงตลาดสหรัฐฯเป็นหลัก ทั้งนี้ยังต้องติดตามการเจรจาการค้าไทยกับสหรัฐฯ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการว่าจะสามารถลดอัตราภาษีตอบโต้ให้ต่ำกว่า 36% ได้หรือไม่ ขณะที่ประเทศคู่แข่งในภูมิภาคอย่างเวียดนามและอินโดนีเซียสามารถเจรจาลดอัตราภาษีลงเหลือ 20% และ 19% ตามลำดับ หากไทยเผชิญอัตราภาษีที่สูงกว่าอาจกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของไทยในระยะต่อไป
 

จำนวนนักท่องเที่ยวจีนฟื้นตัวอย่างช้าๆ วิจัยกรุงศรีคาดปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดเพียง 34 ล้านคน  ล่าสุดข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง วันที่ 13 กรกฏาคม มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยรวม 17.75 ล้านคน ลดลง 5.6% YoY สร้างรายได้ 8.22 แสนล้านบาท โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ มาเลเซีย จีน อินเดีย รัสเซีย เกาหลีใต้

จากข้อมูลรายสัปดาห์ล่าสุดแม้เห็นสัญญาณการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับกว่า 10,000 คนต่อวัน จากราว 7,000-8,000 คนต่อวัน ในช่วงก่อนหน้า แต่ยังนับว่าต่ำเมื่อเทียบกับปี 2562 ที่เคยมากถึง 30,000 คนต่อวัน สะท้อนให้เห็นว่าการฟื้นตัวยังอ่อนแอและยังไม่กลับเข้าสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ซึ่งนอกจากผลกระทบจากความกังวลด้านความปลอดภัยแล้ว ยังเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากประเทศคู่แข่ง เช่น ญี่ปุ่น และเวียดนาม ปัจจัยดังกล่าวจึงเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้ วิจัยกรุงศรี ตัดสินใจปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้าไทยในปี 2568 ลงเหลือ 34 ล้านคน จากเดิมคาดที่ 36.5 ล้านคน และลดลงจากปีก่อนที่ 35.5 ล้านคน โดยประเมินว่าการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนอาจยังไม่สามารถเร่งตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่ตลาดท่องเที่ยวจากประเทศอื่นๆ แม้บางประเทศจะมีแนวโน้มดีขึ้น อาทิ อินเดีย และยุโรป แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยช่องว่างของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เคยเป็นตลาดหลักของไทย


Weekly Economic Review
 

 

 

Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา