บทวิเคราะห์เศรษฐกิจประจำสัปดาห์

เศรษฐกิจมหภาค

ภาวะเศรษฐกิจและการเงินประจำสัปดาห์

08 กรกฎาคม 2568

ความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ สร้างความเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง ด้านเศรษฐกิจจีนยังคงเผชิญแรงกดดันจากภายในและภายนอก

 

สหรัฐ

 

นโยบายภาษีการค้ายังคงสร้างความไม่แน่นอนต่อทิศทางเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลัง ในเดือนมิถุนายน การจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 147,000 ตำแหน่ง จากเดือนก่อนที่ 144,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานลดลงจากเดือนก่อนที่ 4.2% สู่ระดับ 4.1% นอกจากนี้ ทรัมป์เผยว่ารัฐบาลจะเริ่มส่งจดหมายถึงประเทศคู่ค้าเพื่อแจ้งละเอียดอัตราภาษีศุลกากรแบบฝ่ายเดียว ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม เป็นต้นไป

แม้จะมีการผ่านร่างกฎหมาย Big Beautiful Bill แต่คาดว่าผู้มีรายได้สูงจะได้ประโยชน์ ส่วนผู้มีรายได้น้อยจะถูกตัดสวัสดิการทางสังคม ผลบวกต่อเศรษฐกิจจึงค่อนข้างจำกัด นอกจากนี้ แม้ตัวเลขการจ้างงานดีกว่าที่ตลาดคาด แต่การชะลอตัวที่ชัดเจนขึ้นของการบริโภคภาคเอกชนท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการค้า ภาวะทางการเงินที่ยังตึงตัว รวมถึงอัตราการผิดนัดชำระหนี้ของภาคเอกชน (delinquency rate) ที่ในระดับสูง คาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวมากขึ้น และเป็นปัจจัยที่ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) พิจารณาปรับลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีก 2-3 ครั้งในช่วงครึ่งหลังของปีนี้



 

ยูโรโซน

 

เงินเฟ้อยูโรโซนอยู่ใกล้เป้าหมายที่ 2% ภายใต้เศรษฐกิจที่โตต่ำ ในเดือนมิถุนายน ดัชนี PMI ภาคการผลิตยังคงหดตัวต่อเนื่องอยู่ที่ 49.5 จากเดือนก่อนที่ 49.4 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้นอยู่ที่ 2.0% YoY ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเบื้องต้นยังทรงตัวจากเดือนก่อนที่ 2.3%

แม้ว่าความเสี่ยงที่เศรษฐกิจยูโรโซนจะเผชิญกับภาวะหดตัวหรือถดถอย (recession) ยังอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนและตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่ง หลังจากอัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยที่ทยอยลดลง แต่เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากไตรมาสแรกที่ 0.6% QoQ จากผลกระทบของนโยบายภาษีการค้าของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะมีความชัดเจนขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม เป็นต้นไป ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในตะวันออกกลางที่ยังสูง รวมถึงแรงกดดันภายในที่มาจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง อาทิ สัดส่วนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น และภาระหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ จากเศรษฐกิจที่คาดโตต่ำต่อเนื่องและเงินเฟ้อที่อยู่ใกล้เป้าหมาย 2% วิจัยกรุงศรีคาดว่า ECB มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 2 ครั้งในปีนี้



 

จีน
 

ภาคการผลิตจีนปรับตัวดีขึ้น แต่ยังคงเผชิญแรงกดดันจากภาวะอุปทานส่วนเกินต่อเนื่อง ทางการ (NBS) รายงาน PMI ภาคการผลิต ดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ และดัชนีคำสั่งซื้อใหม่เพื่อการส่งออกในเดือนมิถุนายนขยับขึ้นเป็นเดือนที่ 2 หลังหดตัวแรงในเดือนเมษายน ส่วน PMI นอกภาคการผลิตดีขึ้นเล็กน้อย (ดังรูป) อีกด้านหนึ่งรัฐบาลเตรียมออกมาตรการเพิ่มอัตราการเกิด ผ่านการให้เงินอุดหนุนจำนวน 503 ดอลลาร์ต่อเด็กหนึ่งคนต่อปีจนถึงอายุ 3 ปี

ตัวเลข PMI ล่าสุดของทางการสะท้อนแนวโน้มการฟื้นตัวในภาคการผลิตภายหลังจีนและสหรัฐฯ มีข้อตกลงชั่วคราวในการลดภาษีนำเข้าระหว่างกันตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม อย่างไรก็ตาม ภาคการผลิตของจีนยังคงเผชิญแรงกดดันจากภาวะอุปทานส่วนเกินอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากกำไรภาคอุตสาหกรรมซึ่งหดตัวที่ -9.1% YoY ในเดือนพฤษภาคม และ -1.1% ในช่วง 5 เดือนแรก ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตหดตัวติดต่อกันนานกว่า 30 เดือน นอกจากนี้ ภาคการส่งออกยังเสี่ยงมากขึ้น หลังสหรัฐฯ บรรลุข้อตกลงทางการค้ากับเวียดนาม โดยเฉพาะการเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 40% สำหรับสินค้าจากประเทศที่สามที่ใช้เวียดนามเป็นทางผ่านไปยังสหรัฐฯ ดังนั้น ท่ามกลางแรงกดดันจากภายในและสงครามการค้า เศรษฐกิจจีนช่วงครึ่งปีหลังจึงมีแนวโน้มอ่อนแอลงหากไร้มาตรการกระตุ้นเพิ่ม

 



 

เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มชะลอตัวชัดเจน จากแรงส่งในหลายภาคส่วนมีแนวโน้มแผ่วลง

 

เศรษฐกิจเดือนพฤษภาคมชะลอลงจากการผลิตภาค อุตสาหกรรม การลงทุน และภาคท่องเที่ยว ขณะที่การบริโภคทรงตัว ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานภาพรวมเศรษฐกิจในเดือนพฤษภาคมชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง (-0.6% MoM sa) โดยเฉพาะการผลิตในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ลดลงหลังเร่งผลิตไปก่อนหน้า เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนปรับลดลง (-0.6%) จากหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์เป็นสำคัญ ส่วนภาคท่องเที่ยวชะลอลงทั้งรายรับ (-7.0%) และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ (-2.9%) ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนทรงตัว (+0.2%) และมูลค่าการส่งออกไม่รวมทองคำปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน (+8.6%)

เครื่องชี้เศรษฐกิจที่ชะลอลงในหลายภาคส่วนสะท้อนแรงส่งการเติบโตที่แผ่วลง ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 เผชิญแรงกดดันมากขึ้นจากหลายปัจจัย แม้จะได้รับแรงสนับสนุนบางส่วนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดกลางและเล็ก และการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม การเติบโตทางเศรษฐกิจจะเผชิญแรงกดดันที่มากขึ้นจาก (i) ภาคส่งออกและการลงทุนที่จะได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ (Reciprocal tariff)  ซึ่งการเจรจายังไม่มีความคืบหน้าและมีความเสี่ยงที่จะไม่ทันกำหนดในวันที่ 9 กรกฏาคมนี้ (ii) สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอนบั่นทอนความเชื่อมั่นและอาจกระทบต่อการใช้จ่ายภาครัฐ รวมถึงการเจรจาทางการค้า และ (iii) ปัญหาเชิงโครงสร้างที่เป็นข้อจำกัดด้านการบริโภคภาคเอกชนภายใต้ภาระหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง แม้จะมีการขยายมาตรการบรรเทาในโครงการคุณสู้ เราช่วย ก็ตาม ทั้งนี้ ภายใต้บริบทของเศรษฐกิจที่มีความเปราะบางมากขึ้นและแรงส่งการเติบโตที่มีแนวโน้มชะลอลงชัดเจน จึงอาจหนุนให้มีการผ่อนคลายนโยบายการเงินหรือปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมในช่วงครึ่งปีหลัง

 



 

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 ทั้งจำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติหดตัวลง จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้มีแนวโน้มต่ำกว่าคาด ในเดือนมิถุนายนมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยทั้งสิ้น 2.32 ล้านคน หดตัว -15.2% YoY เทียบกับ 2.27 ล้านคน ในเดือนพฤษภาคม สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวได้ 98.9 พันล้านบาท ลดลง -20.3% ด้านนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาสูงสุด 5 อันดับแรกได้แก่ มาเลเซีย จีน อินเดีย สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ สำหรับในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ (มกราคม-มิถุนายน) มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 16.69 ล้านคน ลดลง -4.7% YoY สร้างรายได้ 7.72 แสนล้านบาท ลดลง -2.3%     

ข้อมูลในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 สะท้อนว่าภาคการท่องเที่ยวของไทยยังไม่สามารถกลับเข้าสู่เส้นทางการฟื้นตัว เนื่องจากเผชิญแรงกดดันจากหลายปัจจัยสำคัญ (i) การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนที่ล่าช้า โดยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยลดลงถึง -34.1% YoY เหลือเพียง 2.27 ล้านคน หรือคิดเป็นเพียง 40.1% ของระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิดในปี 2562 (ii) เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวอาจส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของนัก ท่องเที่ยวในหลายประเทศ (iii) การแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของหลายประเทศในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น และเวียดนาม ซึ่งมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งแรกของปี แตกต่างจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทย ทั้งนี้ จากสัญญาณที่แสดงถึงการฟื้นตัวอย่างช้าๆของภาคท่องเที่ยว วิจัยกรุงศรีคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2568 มีความเสี่ยงที่จะต่ำกว่าจากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 36.5 ล้านคน

 


 

Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา