บทวิเคราะห์เศรษฐกิจประจำสัปดาห์

เศรษฐกิจมหภาค

ภาวะเศรษฐกิจและการเงินประจำสัปดาห์

28 มิถุนายน 2565

 

แนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง โดยประเทศหลักทั้งสหรัฐฯมีสัญญาณเผชิญภาวะถดถอย ส่วนจีนอาจเติบโตต่ำจากหลายปัจจัยเสี่ยง

 

เครื่องชี้ของประเทศสำคัญสะท้อนแรงกดดันจากปัจจัยลบ คาดเศรษฐกิจโลกช่วงครึ่งปีหลังอ่อนแอลง ในเดือนมิถุนายน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นของกลุ่มเศรษฐกิจแกนหลักปรับตัวลง ทั้งสหรัฐฯ (51.2 ต่ำสุดในรอบ 5 เดือน) ยูโรโซน (51.9 ต่ำสุดในรอบ 16 เดือน) และอังกฤษ (53.1 ทรงตัวที่ระดับต่ำสุดในรอบ 15 เดือน)

เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ PMI ภาคการผลิตทั้งในสหรัฐฯ ยูโรโซน และอังกฤษ ต่างชะลอลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี บ่งชี้ผลจากสงครามยูเครนและการล็อคดาวน์ในจีนที่กระทบต่อภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานและแรงกดดันเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ส่วน PMI ภาคบริการของสหรัฐฯและยูโรโซนปรับตัวลงจากเดือนก่อนตามการพุ่งของเงินเฟ้อที่กดดันอำนาจซื้อ ในภาพรวมยูโรโซนกำลังเผชิญความเสี่ยงที่สูงกว่าสหรัฐฯ โดยเฉพาะปัญหาหนี้ของ European periphery และวิกฤตยูเครนมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นจากการตอบโต้ของรัสเซียที่จำกัดอุปทานก๊าซธรรมชาติ ขณะที่ยูเครนได้รับแรงหนุนจาก EU ที่ยอมรับสถานะผู้สมัครสมาชิกรายใหม่และให้คำมั่นที่จะให้ความช่วยเหลือทางทหาร จากปัจจัยเหล่านี้คาดว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะไม่แรงเท่าเฟด


 

เฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อต่อไป แม้สหรัฐฯมีโอกาสมากขึ้นที่จะเผชิญภาวะถดถอย ประธานเฟดแถลงนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจรอบครึ่งปีต่อรัฐสภา โดยกล่าวว่าการขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องมีความเหมาะสม พร้อมยืนยันความมุ่งมั่นของเฟดในการควบคุมภาวะเงินเฟ้อแบบ “ไม่มีเงื่อนไข” แต่ยอมรับว่ามีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเข้าสู่ภาวะถดถอย อย่างไรก็ตาม เฟดยังคงคาดหวังที่จะเห็นการชะลอตัวลงอย่างนุ่มนวล (Soft landing) แม้จะเป็นเรื่องที่มีความท้าทายอย่างมากก็ตาม

ท่าทีของประธานเฟดตอกย้ำจุดยืนที่ให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพด้านราคา ส่งสัญญาณว่าเฟดจะใช้นโยบายการเงินเข้มงวดต่อไปแม้ว่าจะมีความเสี่ยงจากภาวะถดถอย โดยตัวเลขล่าสุดมีสัญญาณภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทั้งดัชนีกิจกรรมทางเศรษฐกิจของเฟดสาขาชิคาโกเดือนพฤษภาคมที่ปรับตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือน และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิถุนายนลดลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 50.0 อย่างไรก็ตาม ปัจจัยกดดันเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะ 5 ปีข้างหน้าในเดือนมิถุนายนแตะระดับ 3.1% สูงสุดนับตั้งแต่วิกฤตการเงินเมื่อปี 2551 สะท้อนความจำเป็นในการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดึงการคาดการณ์เงินเฟ้อให้ยึดเหนี่ยวกับเป้าหมายและเพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของราคา


 

จีนเผชิญความเสี่ยงหลายด้านรวมถึงปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยืดเยื้อ อาจกดดันให้ทางการออกมาตรการเจาะจงเป้าหมายเพิ่มเติม ในเดือนพฤษภาคมยอดขายที่อยู่อาศัยหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ขณะที่ราคาบ้านใหม่ลดลง 0.1% YoY ซึ่งเป็นการปรับตัวลงครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2558

จีนเผชิญปัจจัยเสี่ยงหลายด้านทั้งตลาดแรงงานที่อ่อนแอ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่กดดันการส่งออก รวมถึงปัญหาจาก Covid โดยมีการแพร่ระบาดอยู่ประปราย ล่าสุดพบการติดเชื้อแบบกลุ่มก้อนที่เซินเจิ้นและมาเก๊าซึ่งส่งผลให้ทางการต้องใช้มาตรการล็อคดาวน์บางส่วน อีกทั้งปัญหาที่สำคัญคือการตกต่ำของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยืดเยื้อ จากผลกระทบต่อเนื่องของการใช้มาตรการควบคุมการเก็งกำไรรวมถึงการขาดสภาพคล่อง ซึ่งอาจรุนแรงกว่าปัญหาการระบาด เนื่องจากการลงทุนในที่อยู่อาศัยคิดเป็นสัดส่วนถึง 11% ของ GDP จีน แม้ล่าสุด ปธน. สี จิ้นผิง ให้คำมั่นว่าจะผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตตามเป้าหมาย 5.5% ในปีนี้ แต่คาดว่าจีนยังมีข้อจำกัดในการออกมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติม โดยเฉพาะการลดอัตราดอกเบี้ยที่จะนำไปสู่ความแตกต่างของนโยบายกับชาติตะวันตกซึ่งจะกระทบต่อการอ่อนค่าของเงินหยวนและกดดันเงินเฟ้อ ประกอบกับการผ่อนคลายอาจเพิ่มความเสี่ยงในภาคการเงินและอสังหาริมทรัพย์ จึงมีความเป็นไปได้ที่จีนจะใช้มาตรการแบบเจาะจงเป้าหมายเพิ่มเติมเพื่อประคองเศรษฐกิจท่ามกลางปัญหาหลายอย่างที่รุมเร้า


 


 


เศรษฐกิจยังคงได้แรงหนุนสำคัญจากการเติบโตของภาคท่องเที่ยวและส่งออก ขณะที่ทางการอนุมัติมาตรการช่วยเหลือภาระค่าครองชีพเพิ่มเติม

 

มาตรการบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตราคาพลังงานและมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ อาจช่วยลดทอนผลได้บางส่วน ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการลดค่าครองชีพรอบใหม่ เป็นเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม - กันยายน 2565 เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตพลังงาน ซึ่งมีทั้งการต่ออายุมาตรการเดิมที่จะสิ้นสุดลงและมาตรการใหม่ที่เพิ่มเติม อาทิ i) ขยายเวลาการตรึงราคาขายปลีก NGV 15.59 บาทต่อกิโลกรัม และคงราคาไว้ที่ 13.62 บาทต่อกิโลกรัม สำหรับผู้ขับขี่แท็กซี่มิเตอร์ภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกัน ii) ขยายเวลาการช่วยเหลือค่าก๊าซหุงต้มแก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่ถือบัตรฯ iii) อุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลร้อยละ 50 ในส่วนที่ราคาขายสูงกว่า 35 บาทต่อลิตร และ iv) ขอความร่วมมือไปยังกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันนำส่งกำไรค่าการกลั่น เพื่อนำมาช่วยพยุงราคาน้ำมัน  นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบมาตรการเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ ไดแก่ i) ขยายโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 4 เพิ่มเติมอีก 1.5 ล้านสิทธิ์ สิ้นสุดเดือนตุลาคม (เดิมพฤษภาคม) และ ii) มาตรการด้านภาษี โดยให้ธุรกิจสามารถนำค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการอบรม สัมมนาหรือการจัดแสดงงานต่างๆ มาหักลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 2 เท่าสำหรับเมืองรอง และ 1.5 เท่าในจังหวัดอื่นๆ



 

มาตรการบรรเทาความเดือดร้อนล่าสุดค่อนข้างเน้นการช่วยเหลือไปยังเฉพาะกลุ่มมากขึ้น และคาดว่าจะลดทอนผลกระทบได้บางส่วน เนื่องจากแรงกดดันจากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่ยังเพิ่มขึ้นในระดับสูง ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงราคาสินค้าในประเทศที่เตรียมจะปรับขึ้น อาทิ ราคาก๊าซหุงต้ม ค่าไฟฟ้าผันแปร ค่าเดินทางและขนส่ง และสินค้าอุปโภคบริโภค (บะหมี่สำเร็จรูป ผงซักฟอก) กอปรกับค่าเงินบาทที่ผันผวนในทิศทางอ่อนค่าซึ่งจะกระทบต่อราคาสินค้าวัตถุดิบนำเข้าและต้นทุนการผลิตเพิ่ม ทั้งนี้ ท่ามกลางหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง กำลังซื้อของภาคครัวเรือนอ่อนแอและรายได้ที่แท้จริงลดลง ความแตกต่างของตะกร้าการบริโภคชี้ว่ากลุ่มผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบหนักสุดจากราคาอาหารและการขนส่งที่สูงขึ้น เนื่องจากมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคในหมวดดังกล่าวสูง



 

ภาคท่องเที่ยวและส่งออกยังเป็นปัจจัยหนุนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มูลค่าการส่งออกในเดือนพฤษภาคมขยายตัวดีต่อเนื่องที่ 10.5% YoY จาก 9.9% เดือนก่อน และดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 6.7% ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยในเดือนพฤษภาคมมีทั้งสิ้น 5.21 แสนคน เพิ่มขึ้นจาก 2.93 แสนคนในเดือนก่อน โดยนักท่องเที่ยวที่เข้ามาไทยสูงสุด ได้แก่ อินเดีย มาเลเซีย สิงคโปร์ สหรัฐฯ และอังกฤษ สำหรับในช่วง 5 เดือนแรกของปี (มกราคม-พฤษภาคม) มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 1.31 ล้านคน

ปัจจัยบวกจากทางการทยอยผ่อนคลายข้อจำกัดสำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ นับตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมที่มีการยกเลิกระบบ Test & Go แก่ผู้เดินทางที่ได้รับวัคซีนครบ ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายนกว่า 70% และล่าสุดทางการประกาศเตรียมยกเลิกไทยแลนด์พาสและเปิดประเทศเต็มรูปแบบมากขึ้นโดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม คาดว่าจะยิ่งช่วยหนุนให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยมากขึ้นจากค่าเฉลี่ยในช่วงต้นเดือนมิถุนายนประมาณวันละ 2-2.5 หมื่นคน วิจัยกรุงศรีได้ปรับเพิ่มคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้มีโอกาสที่จะแตะระดับ 8 ล้านคน (จากเดิมคาด 5.5 ล้านคน) นอกจากนี้ สัญญาณเชิงบวกจากการส่งออกที่ยังเติบโตได้ดีกว่าคาดแม้ในช่วงที่เหลือของปีอาจมีแนวโน้มชะลอลงบ้างตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ตาม ทั้งภาคส่งออกและภาคท่องเที่ยวนับเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยในช่วงที่เหลือของปี


Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา