บทวิเคราะห์เศรษฐกิจประจำสัปดาห์

เศรษฐกิจมหภาค

ภาวะเศรษฐกิจและการเงินประจำสัปดาห์

15 มีนาคม 2565


วิกฤตยูเครนเพิ่มแรงกดดันต่อเศรษฐกิจโลกและเงินเฟ้อของโลก ด้านยูโรโซนเตรียมเร่งถอนนโยบายการเงิน

 

สหรัฐฯและอังกฤษเพิ่มการคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซีย วิจัยกรุงศรีคาด GDP โลกลดลง 0.5-2.9% แม้สัปดาห์ที่ผ่านมายูเครนได้ประกาศยอมรับว่าจะไม่สมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต้ แต่ผลการเจรจายังไม่มีความคืบหน้าเนื่องจากยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงหยุดยิงได้ ขณะที่สหรัฐฯและชาติพันธมิตรได้เพิ่มแรงกดดันต่อรัสเซีย โดย ปธน. ไบเดนประกาศว่าสหรัฐฯระงับการนำเข้าน้ำมันและแก๊สจากรัสเซีย ขณะที่อังกฤษจะยกเลิกการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียเช่นกัน ส่วนสหภาพยุโรปมิได้เข้าร่วมการคว่ำบาตรดังกล่าว

วิจัยกรุงศรีประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกภายใต้ฉากทัศน์เกี่ยวกับการสู้รบและความรุนแรงของการคว่ำบาตรโดยแยกออกเป็น 3 กรณีตามระดับของสถานการณ์จากน้อยไปหามากที่สุด (อ่านรายละเอียดหน้า 2) พบว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2565 ในแต่ละกรณี มีแนวโน้มลดลงจากกรณีฐาน 0.5% 1.3% และ 2.9% ตามลำดับ ส่วนอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวกว่าที่คาดไว้ 1.3% 2.0% และ 3.6% ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกหดตัวกว่าในกรณีฐาน 1.1% 3.4% และ 3.9% ตามลำดับ ในด้านผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อประเทศแกนหลักพบว่า กลุ่มยูโรโซนจะได้รับกระทบรุนแรงสุด โดยเฉพาะในกรณีที่การสู้รบยืดเยื้อจนถึงกลางปี 2565 และชาติตะวันตกใช้มาตรการคว่ำบาตรรุนแรงขึ้น อาจทำให้รัสเซียตอบโต้ด้วยการไม่ส่งสินค้าพลังงานไปยังยุโรปจนเกิดวิกฤติพลังงานในยุโรป ส่งผลให้เศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ถึง 4.8% ส่วนเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นกว่ากรณีฐาน 6.8% และอาจส่งผลให้ปัญหา Stagflation ลุกลามไปยังประเทศต่างๆได้


 

ยูโรโซนส่งสัญญาณปรับนโยบายการเงินสู่ภาวะปกติเร็วกว่าเดิม ท่ามกลางแรงกดดันราคาที่เพิ่มขึ้นจากปัญหาในยูเครน ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและคงวงเงินในการซื้อพันธบัตรในโครงการ Pandemic Emergency Purchase Program (PEPP) จากนั้นเมื่อโครงการ PEPP ยุติในเดือนมีนาคม 2565 จะซื้อพันธบัตรภายใต้โครงการ Asset Purchase Program (APP) วงเงิน 4 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน (ชดเชยกับ PEPP ที่หายไป 4-5 หมื่น  ล้านยูโรต่อเดือน) ในเดือนเมษายน และลดวงเงินสู่ระดับ 3 หมื่นล้านยูโรในเดือนพฤษภาคม แล้วจะคงวงเงินที่ระดับ 2 หมื่นล้านยูโรตั้งแต่มิถุนายน 2565

ECB มีท่าทีเร่งปรับนโยบายการเงินสู่ระดับปกติเร็วขึ้น จากแผนการเข้าซื้อพันธบัตรภายใต้โครงการ APP ที่ปรับลดวงเงินเร็วกว่าเดิม ซึ่งเคยคาดว่าจะซื้อในวงเงิน 4 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนช่วงไตรมาส 2/65 แล้วลดวงเงินสู่ระดับ 3 หมื่นล้านยูโรในไตรมาส 3/65 และคงวงเงินที่ระดับ 2 หมื่นล้านยูโรตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนที่พุ่งสูงสุดเป็นเวลา 4 เดือนติดต่อกัน โดยล่าสุดแตะระดับ 5.8% ในเดือนกุมภาพันธ์และสูงกว่าเงินเฟ้อเป้าหมายของ ECB ที่ระดับ 2% ด้านประธาน ECB ระบุว่าปัญหาวิกฤตยูเครนอาจเพิ่มความเสี่ยงด้านราคาโดย ECB ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ตัวเลขเงินเฟ้อในปีนี้เป็น 5.1% วิจัยกรุงศรีคาดว่า ECB จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนธันวาคมนี้เป็นครั้งแรกหลังการแพร่ระบาด โดยอาจปรับขึ้น 25 bps และในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกประมาณ 1-2 ครั้ง


 

อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯสูงสุดในรอบ 40 ปี คาดเฟดเริ่มปรับดอกเบี้ยครั้งแรกในสัปดาห์นี้ ในเดือนกุมภาพันธ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 7.9% อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 6.4% สูงสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2525 ส่วนในเดือนมีนาคมอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะ 12 เดือนข้างหน้าซึ่งสำรวจโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกนแตะระดับ 5.4% สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2524

เศรษฐกิจสหรัฐฯเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง และกระจายตัวไปในหลายกลุ่มสินค้า โดยมีรายการสินค้าถึงกว่า 2 ใน 3 ที่มีราคาเพิ่มขึ้นมากกว่า 4% สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปีเช่นกัน วิจัยกรุงศรีคาดว่าเฟดอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยถึง 5 ครั้งในปีนี้ โดยจะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 25 bps ในการประชุมเดือนมีนาคม เพื่อหนุนให้เกิดการเหนี่ยวนำอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์สู่เป้าหมายเงินเฟ้อ โดยคาดว่าตัวเลขเงินเฟ้อยังไม่แตะระดับสูงสุด เพราะยังไม่สะท้อนผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียที่ส่งผลให้ราคาพลังงานพุ่งขึ้นในเดือนมีนาคม


 

 

วิจัยกรุงศรีประเมินฉากทัศน์ (scenario) ของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน คาดลดทอน GDP ไทยปีนี้ลงจากกรณีฐาน 0.4-2.4%

 

วิกฤตราคาพลังงานผลพวงจากสงครามรัสเซียกับยูเครนกดดันความเชื่อมั่นและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย เครื่องชี้เศรษฐกิจเดือนกุมภาพันธ์อ่อนแอลง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 สู่ระดับต่ำสุดในรอบ  5 เดือนที่ 43.3 จาก 44.8 เดือนมกราคมเช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือนที่ 86.7 จาก 88.0 ในเดือนก่อน ปัจจัยลบจากความกังวลจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโอมิครอนที่เพิ่มขึ้นสูงอาจกระทบต่อกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศชะลอลง ราคาพลังงานที่สูงขึ้นมากกระทบต่อต้นทุนการผลิตค่าขนส่ง และเพิ่มภาระค่าครองชีพจากราคาสินค้าที่ทยอยปรับขึ้น

วิจัยกรุงศรีประเมินความเป็นไปได้ของผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนจำแนกเป็น 3 กรณี ได้แก่ (1) การสู้รบยุติภายในเดือนมีนาคม ขณะที่มาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกแบนการค้าและธุรกรรมทางการเงินของรัสเซียบางส่วนไปจนถึงสิ้นปีนี้ (2) การสู้รบยืดเยื้อไปจนถึงไตรมาส 2/2565 ทำให้ชาติตะวันตกใช้มาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงมากขึ้น มีการแบนสินค้าที่ไม่ใช่พลังงานจากรัสเซียทั้งหมด และ (3) การสู้รบยืดเยื้อและขยายขอบเขตไปยังประเทศอื่นจนถึงกลางปี 2565 ชาติตะวันตกใช้มาตรการคว่ำบาตรรุนแรงมากขึ้น ทำให้รัสเซียตอบโต้ด้วยการยุติการส่งออกสินค้าพลังงานไปยังยุโรป จนนำไปสู่วิกฤตพลังงานขึ้นในยุโรป โดยช่องทางการส่งผ่านผลกระทบหลักมีทั้งหมด 4 ด้าน ได้แก่ การค้าและการขนส่ง ความมั่นคงด้านพลังงาน เสถียรภาพด้านราคา และผลจากรายได้และตลาดการเงิน



 

วิจัยกรุงศรีใช้แบบจำลอง Dynamic Stochastic General Equilibrium (DSGE) คำนวณหาผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย โดยผลต่อไทย พบว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ในกรณีฐาน 0.4% 1.1% และ 2.4% ตามลำดับ ส่วนอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวกว่าที่่คาดไว้ 1.4% 2.3% และ 3.5% ตามลำดับ ขณะที่ปริมาณการส่งออกลดลงจากกรณีฐาน 1.1% 3.0% และ 4.7% ตามลำดับ



 

ในส่วนของผลต่อภาคอุตสาหกรรม พบว่าอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมาก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้าง ภาคขนส่ง โรงกลั่นน้ำมัน การขนส่งทางเรือ และอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล่านี้มีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าโลหะและพลังงาน ส่วนอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มผลิตสินค้าเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบ ธุรกิจน้ำตาล เสื้อผ้า อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องหนัง โดยอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้ประโยชน์จากราคาที่สูงขึ้นและการเบี่ยงเบนทางการค้า (Trade Diversion) (อ่านฉบับเต็มได้ที่  Research Intelligence: ผลกระทบของวิกฤติรัสเซีย-ยูเครนต่อเศรษฐกิจไทย)

ล่าสุดแรงกดดันจากราคาพลังงานยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากทางการเตรียมปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มในภาคครัวเรือนเป็น 333 บาทต่อถัง 15 กก. (เริ่ม 1 เมษายน) และการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (FT) ในงวดเดือนพฤษภาคม ส่วนแนวทางในการบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตราคาพลังงาน ทางการเผยเตรียมให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมในกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ  (13.5 ล้านคน) ได้แก่ (i) เพิ่มวงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม จาก 45 บาท/คน/3 เดือน เป็น 100 บาท/คน/ 3 เดือน (ii) ช่วยเหลือค่าน้ำมันเบนซินสำหรับผู้ใช้รถจักรยานยนต์ที่จดทะเบียนในกลุ่มผู้ถือบัตรฯ
 

Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา