การขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืน
การธนาคารเพื่อความยั่งยืน
ด้วยจิตสำนึก “ธนาคารที่มีจุดยืนด้านความยั่งยืน” (Banking with Purpose) และความรับผิดชอบในฐานะสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบของประเทศไทย (Domestic Systemically Important Bank: D-SIB) กรุงศรีจึงยึดมั่นการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของการกำกับดูแลกิจการที่ดีตามแนวทาง
“การธนาคารเพื่อความยั่งยืน” (Sustainable Banking) โดยบูรณาการมิติด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ในกระบวนการทำงานของธนาคาร ควบคู่ไปกับการบริหารความเสี่ยงด้าน ESG อย่างรอบคอบและรัดกุม รวมทั้งแสวงหาโอกาสที่เหมาะสมต่อการดำเนินธุรกิจผู้ให้บริการทางการเงินอย่างรับผิดชอบโดยคำนึงถึงผลลัพธ์เชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับแนวปฏิบัติด้าน
“การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ” (Responsible Lending) เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ตลอดจนเสริมศักยภาพในการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในระดับประเทศและระดับสากล
หลักการธนาคารที่มีความรับผิดชอบของสหประชาชาติ (UN Principles for Responsible Banking)
กรุงศรีได้ยกระดับการดำเนินงานของธนาคารโดยเข้าร่วมเป็น
สมาชิกของสำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติว่าด้วยข้อริเริ่มด้านการเงิน (UNEP FI) และได้รับการรับรองเป็นผู้ลงนาม (Signatory) รับใน
หลักการธนาคารที่มีความรับผิดชอบของสหประชาชาติ (UN Principles for Responsible Banking) อย่างเป็นทางการในปี 2565
ซึ่งนับเป็นก้าวย่างที่สำคัญของกรุงศรีในการดำเนินงานตามแนวทาง “การธนาคารเพื่อความยั่งยืน”
หลักการธนาคารที่มีความรับผิดชอบถือเป็นกรอบการทำงานระดับโลกที่สำคัญ ซึ่งได้รับการพัฒนาโดยความร่วมมือระหว่างธนาคารทั่วโลกกับ UNEP FI การลงนามรับใน
หลักการดังกล่าวของกรุงศรีสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการธนาคารเพื่อความยั่งยืน อีกทั้งยังเอื้ออำนวยให้ธนาคารสามารถกำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางปฏิบัติที่สอดคล้องกับเป้าหมายระดับสากลในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) และความตกลงปารีส (Paris Climate Agreement) ยิ่งไปกว่านั้นยังช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของกรุงศรีด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อสังคม สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน ตลอดจนส่งเสริมการยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานของสถาบันการเงินในประเทศให้มีเสถียรภาพยิ่งขึ้น และเทียบเท่ามาตรฐานสากล
เจตนารมณ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG Declaration)
กรุงศรีตอกย้ำความมุ่งมั่นด้านการธนาคารเพื่อความยั่งยืน โดยร่วมกับธนาคารสมาชิก 14 แห่งภายใต้สมาคมธนาคารไทย
ประกาศเจตนารมณ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม
และธรรมาภิบาล (ESG Declaration) เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินด้วยความโปร่งใสและยืดหยุ่น และกำหนดทิศทางที่ชัดเจนของอุตสาหกรรมธนาคารบนมาตรฐานเดียวกันภายใต้หลักการ “ปฏิบัติตามให้มากที่สุด หรือชี้แจงเหตุผลในกรณีไม่สามารถปฏิบัติได้” (Comply or Explain) เพื่อมุ่งเน้นการแก้ปัญหาเชิงรุกในมิติด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายและสิทธิมนุษยชน การเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างครอบคลุม และการจัดการปัญหาความไม่เสมอภาค พร้อมทั้งขับเคลื่อนการสร้างความตระหนักรู้ด้านความยั่งยืนแก่ผู้มีส่วนได้เสีย ตลอดจนสนับสนุนประเทศไทยในการเปลี่ยนผ่านอย่างราบรื่นบนเส้นทางสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติและพันธกิจของประเทศที่มีต่อความตกลงปารีส
การดำเนินธุรกิจสถาบันการเงินโดยคำนึงถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
กรุงศรีและธนาคารพาณิชย์ไทย ภายใต้สมาคมธนาคารไทย (Thai Bankers’ Association: TBA) ได้ริเริ่มและร่วมมือกันพัฒนา
“คู่มือการดำเนินธุรกิจสถาบันการเงินโดยคำนึงถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” (Industry Handbook) ในปี 2566 โดยมีการกำหนดแนวปฏิบัติด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สอดคล้องกับเอกสาร "ทิศทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย" (Directional Paper)
และ “แนวนโยบายเรื่อง การดําเนินธุรกิจสถาบันการเงินโดยคํานึงถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” (Standard Practice)
ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของธนาคารพาณิชย์ในการให้ความสำคัญกับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของ
สภาพภูมิอากาศอันเป็นวาระเร่งด่วนระดับประเทศและระดับสากล และเป็นพันธกิจสำคัญของธนาคารในฐานะตัวกลางทางการเงินที่ช่วยสนับสนุนและขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านของภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) ไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
คู่มือ Industry Handbook ฉบับนี้ จะช่วยสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์ ตลอดจนสาขาหรือบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศในไทย สามารถผนวกรวมการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจ และนำข้อปฏิบัติสำคัญ (Key Actions) ที่กำหนดไว้ในคู่มือฉบับนี้ไปปรับใช้อย่างเหมาะสมและเป็นไปตามความคาดหวังของหน่วยงานกำกับดูแล
นอกจากนี้ การดำเนินงานตามคู่มือดังกล่าวยังช่วยให้สถาบันการเงินสามารถพัฒนาระบบ กระบวนการ ข้อมูล และเตรียมความพร้อมความสามารถของบุคลากรได้อย่างเหมาะสมกับบริบทขององค์กร รวมทั้งสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่สนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามเจตนารมณ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG Declaration) ที่เคยประกาศไปก่อนหน้านี้