ติดแบล็คลิสต์ เครดิตบูโรอยู่แต่อยากกู้ซื้อบ้าน
รอบรู้เรื่องบ้าน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

ติดแบล็คลิสต์ เครดิตบูโรอยู่แต่อยากกู้ซื้อบ้าน

icon-access-time Posted On 16 สิงหาคม 2566
By Krungsri The COACH
เมื่อเรามีความฝันอยากมีบ้านใหม่สักหลังหนึ่งเป็นของตัวเอง แล้วถ้าหากเราซื้อบ้านด้วยเงินสดทั้งหมด..หลายคนก็คงจะรู้สึกไม่ไหว อาจจะเกินกำลังไป เพราะมูลค่าบ้านก็ค่อนข้างสูง ดังนั้น หลายคนจึงมองหาทางออกเพื่อที่จะมาแบ่งเบาเงินก้อนใหญ่ก้อนนี้ ซึ่งธนาคาร และสถาบันการเงินก็มีทางเลือกให้สำหรับคนที่ต้องการซื้อบ้าน หรือคอนโด ก็คือการขอสินเชื่อกู้ซื้อบ้านนั่นเอง

เวลาเราไปขอสินเชื่อต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่ธนาคารก็จะเช็กประวัติการผ่อนชำระหนี้ของเราก่อน หากเรามีประวัติการผ่อนชำระหนี้ที่ดีก็มีโอกาสอนุมัติผ่านง่าย ๆ แน่นอน แต่บางคนอาจจะเคยเจอปัญหากู้เงินซื้อบ้านไม่ผ่านเพราะติดแบล็คลิสต์ ในความเป็นจริงแล้วแม้จะติดแบล็คลิสต์เครดิตบูโรอยู่ก็ยังมีโอกาสกู้ซื้อบ้านได้นะ เพียงแค่เราต้องเข้าใจเรื่องเครดิตบูโร และหาวิธีปลดล็อกแก้แบล็คลิสต์ เครดิตบูโรก่อน
ติดเครดิตบูโรแต่ฝันอยากซื้อบ้าน

“ติดแบล็คลิสต์” หรือ “ติดเครดิตบูโร” คืออะไร?

“ติดแบล็คลิสต์” หรือ “ติดเครดิตบูโร” เป็นคำที่หลายคนพูดกันจนติดปาก ไว้บ่งบอกถึงสถานะทางการเงินของคนที่มีพฤติกรรมการใช้เงินที่ไม่ดี เช่น ผิดนัดชำระหนี้หลายครั้ง หรือไม่ชำระหนี้เลย เป็นต้น เมื่อไปยื่นขอกู้สินเชื่อแล้วไม่ผ่านหลายคนจึงเข้าใจกันเองว่า ติดแบล็คลิสต์ เครดิตบูโรอยู่ ธนาคารจึงไม่อนุมัติสินเชื่อให้ผ่าน

แต่ในความเป็นจริงแล้ว เครดิตบูโร (Credit Bureau) หรือบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (National Credit Bureau) เป็นเพียงสถาบันที่ทำหน้าที่จัดเก็บรวบรวมข้อมูลบัญชีสินเชื่อ และประวัติการชำระสินเชื่อทุกประเภทของทุกคนจากสถาบันการเงินหลาย ๆ แห่ง เพื่อไว้วัดระดับความน่าเชื่อถือในการทำธุรกรรมทางการเงินของเรา หรือเรียกสั้น ๆ ว่า เช็กเครดิตของเรานั่นเอง โดยธนาคารจะมาขอข้อมูลส่วนนี้ไปประกอบการพิจารณาการขอสินเชื่อ และธนาคารก็เป็นผู้อนุมัติสินเชื่อตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์ของธนาคารเอง
ส่วนทางเครดิตบูโรจะจัดเก็บข้อมูลทางการเงิน ประวัติการทำธุรกรรมต่าง ๆ ไว้ไม่เกิน 3 ปี

เครดิตบูโรจัดเก็บข้อมูลเป็น 2 ส่วน ได้แก่

1. ข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า

เช่น ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ วัน/เดือน/ปีเกิด สถานภาพการสมรส อาชีพ เลขบัตรประชาชน และในกรณีนิติบุคคลจะเป็นชื่อ ที่ตั้ง เลขทะเบียนนิติบุคคล เป็นต้น
 

2. ข้อมูลสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติ และประวัติการชำระสินเชื่อ

เช่น ประวัติการกู้ซื้อบ้าน/กู้ซื้อรถ ผ่อนบัตรเครดิตอยู่กี่ใบ มีสินเชื่อทั้งหมดกี่บัญชี สถานะของแต่ละบัญชี และประวัติการผ่อนชำระ เป็นต้น

สำหรับคนที่อยากเช็กเครดิตบูโรของตัวเองเผื่อไว้เตรียมตัวขอสินเชื่อกู้ซื้อบ้านสามารถเช็กได้หลากหลายช่องทางเลย เช่น
  • ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร (กรุงเทพฯ และปริมณฑล) แบบรอรับได้เลย ภายใน 15 นาที เพียงใช้บัตรประชาชนของตนเอง แล้วไปยื่นเรื่องได้เลย
  • ตู้ตรวจเครดิตบูโรด้วยตนเอง (ตู้คีออส) รับรายงานเครดิตการเงินผ่านทางอีเมล ได้ทันที
  • กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด แบบส่งรายงานกลับไปให้ทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ภายใน 7 วันทำการ ติดต่อได้ที่ เคาน์เตอร์ธนาคาร (ทุกสาขา) และที่ทำการไปรษณีย์ เคาน์เตอร์บริการไปรษณีย์ ทุกแห่งทั่วประเทศ
  • กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด แบบส่งรายงานรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (NCB e-Credit Report) ทางอีเมล สามารถตรวจเครดิตบูโรผ่านโมบายแบงก์กิ้งของธนาคารชั้นนำ 

สาเหตุที่ธนาคารให้ความสำคัญกับเรื่องเครดิตบูโร

เพราะต้องการทำความรู้จักลูกค้า และรู้พฤติกรรมการใช้เงินของแต่ละคนมากขึ้น มีประวัติการชำระหนี้เป็นอย่างไร? จ่ายตรงเวลาหรือไม่ และตอนนี้ค้างจ่ายหนี้สินก้อนไหนอยู่บ้าง เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้ไปพิจารณาความเสี่ยงของลูกค้าด้วยว่าลูกหนี้คนไหนมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน

ดังนั้นถ้าเรามีประวัติการชำระหนี้ที่ดี จ่ายเงินตรงเวลาอย่างสม่ำเสมอ ธนาคารก็จะรู้สึกมั่นใจที่จะอยากปล่อยกู้ให้กับเราง่ายขึ้น และในอีกมุมหนึ่ง ถ้าเราเป็นคนที่ประวัติดีอยู่แล้ว เครดิตบูโรถือเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือของเราให้กับสถาบันการเงินได้ด้วยนะ

ถ้าเราติดแบล็คลิสต์ เครดิตบูโรอยู่จะแก้อย่างไรได้บ้าง?

สำหรับคนที่รู้ว่าตัวเองติดแบล็คลิสต์ เครดิตบูโรอยู่ ก็ไม่ต้องกังวลใจไป เพราะมีวิธีปลดล็อกแก้แบล็คลิสต์ เครดิตบูโร และสามารถแก้ไขเครดิตการเงินให้กลับมาดีได้
 
วางแผนแก้แบล็คลิสต์ เครดิตบูโร
 

1. วางแผนชำระหนี้ให้สถานะกลับมาเป็นปกติ

หากเรายังพอมีสภาพคล่องทางการเงินอยู่บ้าง สามารถพอแบ่งเงินบางส่วนมาผ่อนชำระต่อในทุก ๆ เดือน ก็แนะนำว่าควรจะรวบรวมหนี้ที่ยังค้างชำระทั้งหมดแล้ววางแผนจัดลำดับความสำคัญของหนี้โดยดูจากอัตราดอกเบี้ยเป็นสิ่งแรก ยิ่งหนี้ก้อนไหนดอกเบี้ยสูงยิ่งต้องรีบปิดก้อนนั้นก่อน

พยายามปลดหนี้เก่าทั้งหมดเพื่อให้เรากลับมามีสถานะปกติก่อน จากนั้นค่อยสร้างเครดิตใหม่ในรายงานของเครดิตบูโร และแนะนำเว้นระยะเวลาห่างอีกประมาณ 6 - 12 เดือน ค่อยกลับไปทำเรื่องเอกสาร ขอกู้สินเชื่อใหม่อีกครั้ง
 

2. เจรจากับสถาบันการเงิน เพื่อขอปรับโครงสร้างการชำระหนี้

ในกรณีที่บางคนอาจจะมีรายจ่ายเยอะ ไม่สามารถชำระหนี้ต่อไหว แนะนำลองเข้าไปเจรจากับธนาคาร เพื่อขอปรับโครงสร้างการชำระหนี้ โดยเจรจาขอลดอัตราดอกเบี้ยลงหรือขอขยายระยะเวลาชำระแทน ซึ่งส่วนใหญ่ทางธนาคารก็มักจะช่วยเหลือ และช่วยหาทางออกเรื่องการชำระหนี้สินให้หมดร่วมกัน

วิธีนี้จะช่วยให้เราชำระหนี้ให้หมดได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้เมื่อเราได้โอกาสนี้แล้ว ก็ควรจะจ่ายให้ตรงเวลา และไม่ลืมจ่าย เพื่อเป็นการสร้างเครดิตความน่าเชื่อถือที่ดีกลับมาใหม่ และทำให้ธนาคารรู้สึกมั่นใจกับเครดิตการเงินของเรา

เมื่อเราได้ปลดล็อกจนไม่ติดแบล็คลิสต์แล้วก็อย่าลืมปรับพฤติกรรมการใช้เงินของตัวเองด้วยนะ ลดการซื้อของแบบเงินผ่อนจนเกินความจำเป็น คอยตรวจดูว่าตอนนี้เรามีภาระหนี้สินเกินกำลังตัวเองแล้วหรือไม่ รวมถึงควรจะเริ่มต้นเก็บออมเงินเพื่ออนาคตด้วย สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การออมเงินก่อนใช้จ่ายในทุก ๆ เดือน เพื่อให้เรามีเงินก้อนเก็บออมไว้

ติดแบล็คลิสต์อยู่ อยากกู้ซื้อบ้านได้ไหม?

เป็นอีกคำถามที่เจอหลายคนถามกันบ่อยมาก คำตอบคือ คนที่ติดแบล็คลิสต์อยู่ แนะนำให้กู้ซื้อบ้านร่วมกับคนในครอบครัว คู่สมรส หรือกู้ร่วมกับแฟน รวมถึงกลุ่ม LGBTQ โดยผู้กู้ร่วมต้องมีเครดิตบูโรดี มีประวัติการชำระหนี้ที่ดี จ่ายเงินตรงเวลาอย่างสม่ำเสมอ และถ้ามีการเงินที่มั่นคงก็ยิ่งมีโอกาสที่จะช่วยให้กู้บ้านผ่านได้สูงขึ้น หรือถ้าไม่มีผู้กู้ร่วม ก็แนะนำวางแผนชำระหนี้ให้สถานะกลับมาเป็นปกติก่อน
 
แก้ไขเครดิตบูโรเสร็จ ยื่นกู้ซื้อบ้าน

ในระหว่างที่เรากำลังแก้ปัญหาที่ติดแบล็คลิสต์อยู่ อีกหนึ่งอย่างที่เราไม่ควรลืมอย่างยิ่ง คือ การเก็บออมเงินเพื่อเตรียมไว้เป็นค่าดาวน์บ้าน และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าจดจำนอง ค่าอากรแสตมป์ ค่าประเมินพื้นที่ เป็นต้น เพราะส่วนใหญ่ธนาคารจะให้วงเงินกู้สูงสุด 90% ของราคาประเมิน ดังนั้น เราควรจะเตรียมเงินก้อนไว้สำรองอย่างน้อย 10-20% ของราคาบ้านที่จะไปกู้เงินซื้อบ้าน

นอกจากนี้ หลายคนก็อาจจะกังวลว่าจะผ่อนบ้านไม่ไหว เพราะมูลค่าราคาบ้านก็หลักล้าน และเป็นการกู้ระยะยาว (ระยะเวลาผ่อนขึ้นอยู่กับอายุของผู้กู้ด้วย) แต่หากเราได้วางแผนกู้เงินซื้อบ้าน และวางแผนผ่อนรายเดือนอย่างรอบคอบ ความฝันว่าซื้อบ้านใหม่ก็ไม่ไกลเกินเอื้อมแน่นอน รวมถึงเราควรจะเลือกซื้อบ้านที่ราคาสัมพันธ์กับรายได้ด้วยนะ เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการผ่อนของเราเอง โดยส่วนใหญ่ภาระหนี้รวมทั้งหมดไม่ควรเกิน 50-55% ของรายได้ต่อเดือน

สำหรับคนที่คำนวณเลขไม่เก่ง ทางธนาคารกรุงศรีฯ มีเครื่องมือคำนวณให้เราได้ลองไปคำนวณความสามารถในการผ่อนชำระต่อเดือนด้วยนะ เพียงแค่กรอกวงเงินที่ขอกู้ อัตราดอกเบี้ย และระยะเวลาขอกู้ เราก็จะรู้ทันทีว่ายอดผ่อนชำระต่อเดือนกี่บาท คลิกตรงนี้เลย

ยกตัวอย่าง คำนวณยอดผ่อนบ้าน

เรากู้เงินซื้อบ้าน 3 ล้าน อัตราดอกเบี้ย 6.5% ต่อปี และระยะเวลากู้ 30 ปี

ผลออกมาว่า เราจะมียอดผ่อนชำระต่อเดือนอยู่กี่ 21,000 บาท

ดังนั้น จากอัตราส่วนภาระหนี้รวมทั้งหมดไม่ควรเกิน 50% ของรายได้ต่อเดือน เราจึงควรมีรายได้ประมาณ 42,000 บาทต่อเดือน
 
เครดิตบูโรผ่าน กู้ซื้อบ้านสำเร็จ

กู้ซื้อบ้านใหม่ หรือมือสอง แบบไหนมีโอกาสผ่านมากกว่ากัน

ไม่ว่าจะกู้ซื้อบ้านใหม่ หรือบ้านมือสองทางธนาคารจะดูจากประวัติการทำธุรกรรมทางการเงิน และสถานะบัญชีจากข้อมูลของเครดิตบูโรประกอบการพิจารณาขออนุมัติกู้เงินซื้อบ้าน ดังนั้น หากเรามีประวัติดี มีรายได้มั่นคง ก็มีโอกาสขอสินเชื่อกู้ซื้อบ้านผ่านทั้งได้บ้านใหม่ และบ้านมือสอง

สำหรับคนที่สนใจกู้เงินซื้อบ้านมือสอง แนะนำให้ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพื่มเติมกับทางธนาคารอีกที แม้ว่าธนาคารจะให้วงเงินกู้สูงสุด 90% ของราคาประเมิน แต่ก็อาจมีบางกรณีที่ธนาคารมีโอกาสจะอนุมัติวงเงินจำนวนน้อยกว่า 90%

ท้ายที่สุดการขอสินเชื่อกู้ซื้อบ้านไม่ได้ดูเพียงประวัติเครดิตบูโรเพียงอย่างเดียว มักจะดูปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วย เช่น รายได้ที่มั่นคง ความสามารถในการชำระหนี้ เป็นต้น ดังนั้น คนที่มีประวัติในเครดิตบูโรอยู่ก็ยังมีโอกาสกู้ซื้อบ้านได้ และวิธีที่ดีที่สุดในการแก้การติดแบล็คลิสต์ เครดิตบูโร คือการแก้หนี้ทั้งหมดที่มีเพื่อให้สถานะเครดิตบูโรกลับมาเป็นปกติ ควบคู่ไปกับการสร้างประวัติทางการเงินที่ดีให้ธนาคารเห็นอีกครั้งหนึ่ง
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา