เคลียร์หนี้แบบล้างกระดาน ด้วยวิธีปรับโครงสร้างหนี้ แบบ “แฮร์คัท”
รอบรู้เรื่องยืมเงิน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

เคลียร์หนี้แบบล้างกระดาน ด้วยวิธีปรับโครงสร้างหนี้ แบบ “แฮร์คัท”

icon-access-time Posted On 21 เมษายน 2566
By Krungsri The COACH
หนี้” คำที่คุ้นหู และเป็นปัญหาเรื้อรังมานานสำหรับใครหลาย ๆ คน ที่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือในบางคนก็อาจจะใช้เกินตัวไปซะหน่อยคือเป็นหนี้บัตรเครดิต และแน่นอนว่าเมื่อเราเป็นหนี้ก็จะมีบางครั้งที่เราจ่ายหนี้ไม่ตรงบ้าง ขาดการส่งหนี้บ้าง ทำให้บางเดือนเจ้าหนี้ก็จะโทรมาทวงถามหนี้ ไม่เช่นนั้นก็จะโดนยึดทรัพย์สิน ซึ่งเราก็ควรที่จะปรับโครงสร้างหนี้เราใหม่ และการปรับโครงสร้างหนี้ก็มีได้ในหลายรูปแบบแต่ในวันนี้เราจะมาพูดถึงวิธี “แฮร์คัทหนี้” ตามไปอ่านกันต่อเลย
หนี้

"แฮร์คัท" คืออะไร?

Hair Cut (แฮร์คัท) คือ การปรับโครงสร้างหนี้โดยการเจรจาขอส่วนลดจากเจ้าหนี้แล้วจ่ายหนี้ทั้งหมดเพื่อปิดบัญชีทันที พูดง่าย ๆ คือ ตกลงกับเจ้าหนี้ว่าจะลดหนี้ที่ติดค้างกันให้เหลือที่ต้องจ่ายคืนเท่าไหร่ โดยถ้าต้องการเคลียร์หนี้จบทันที ก็ทำการตกลงกับเจ้าหนี้ว่าจะขอลดหนี้ที่ติดค้าง จากนั้นก็ขอจ่ายหนี้ก้อนนั้นเพียงครั้งเดียว เช่น มียอดหนี้ 100,000 บาท ขอลดเหลือ 80,000 บาทแล้วจ่ายเพื่อปิดบัญชีทันที แต่หากไม่มีเงินเพียงพอในการเคลียร์หนี้ให้จบในครั้งเดียวก็อาจเจรจาขอลดหนี้ด้วยการจ่ายหนี้เป็นงวด ๆ ภายในเวลาที่กำหนด ขึ้นอยู่กับนโยบายช่วยเหลือของแต่ละธนาคาร ซึ่งส่วนใหญ่จะพิจารณาตามสภาพคล่องของลูกหนี้
 
อยากเคลียร์หนี้

ไม่อยากจ่ายหนี้เต็มจำนวน ชวนกันมา Hair Cut ดีมั้ย?

อาจจะเคยได้ยินบางคนพูดว่า ธนาคารอยากได้เงินคืนเร็ว ไม่ต้องคอยติดตามทวงถาม ได้บางส่วนดีกว่าเสียทั้งหมดยังไงธนาคารก็ต้องยอม ความจริงแล้วผลกระทบที่เกิดจากการทำ Hair Cut มีมากกว่าที่เคยได้ยินมาแน่นอน เรามาไล่เรียงกันดังนี้

ในมุมของลูกหนี้

การทำ Hair cut มีประโยชน์คือ

  • ช่วยปลดภาระหนี้ได้เร็วขึ้นแม้จะมีเงินไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้เต็มทั้งจำนวน
  • ไม่ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยในระยะยาว
  • ได้เริ่มต้นชีวิตใหม่
 

ส่วนข้อเสียที่เกิดขึ้นกับลูกหนี้ก็คือ

  • เสียประวัติการเป็นลูกค้าที่ดีของสถาบันการเงิน เพราะการทำ Hair Cut ธนาคารจะพิจารณาทำให้กับลูกค้าที่ประสบปัญหาทางด้านการเงินจริง ๆ ไม่สามารถชำระหนี้ตามปกติได้จนกระทบต่อประวัติการใช้สินเชื่อ ซึ่งธนาคารก็จะมีมาตราการในการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวอยู่แล้ว
  • เสียโอกาสในการขอสินเชื่อใหม่ ๆ เนื่องจากประวัติการค้างชำระหนี้ในอดีต
  • ภาระหนี้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากการค้างชำระตามระยะเวลาที่ค้าง
  • เสียค่าใช้จ่ายในกรณีที่ถูกสถาบันการเงินฟ้องคดี
  • กระทบกับการใช้ชีวิต การงาน และชีวิตครอบครัว เนื่องจากกังวลกับภาระหนี้คงค้าง

ในมุมของธนาคาร

เป็นผู้ได้ประโยชน์เต็ม ๆ ตามที่ลูกหนี้บางรายเข้าใจหรือเปล่า? ประโยชน์ที่ธนาคารได้จากการทำ Hair Cut คือ

  • สามารถช่วยเหลือให้ลูกค้าผ่านวิกฤตหนี้ไปได้ ปลดภาระหนี้ได้เร็วขึ้น ไม่ลุกลามกลายเป็นวิกฤตหนี้เสีย จนธนาคารต้องเข้มงวดกับการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกหนี้ที่มีคุณภาพที่อาจได้รับผลกระทบจากวิกฤตที่เกิดขึ้น ทำให้เศรษฐศาสตร์การเงินของประเทศยังคงหมุนเวียนไปได้เป็นปกติ

ประเด็นข้อนี้เหมือนกับภูเขาน้ำแข็งที่จมตัวอยู่ใต้น้ำ คนทั่วไปมองไม่เห็น และไม่ค่อยมีคนพูดถึง ภาพที่ทุกคนมองเห็นคือธนาคารก็ยังได้เงินคืนแม้จะไม่เต็มจำนวน ดีกว่าไม่ได้เลยจริง ๆ แล้วระหว่างเก็บหนี้ได้บางส่วนกับเก็บหนี้ไม่ได้เลย ที่สุดของปลายทางคือวิกฤตทางการเงินเหมือนกัน เพียงแต่อย่างแรกเป็นปัญหาที่ค่อย ๆ สะสมตัว ยังพอให้ธนาคารวางแผนรับมือหรือผ่อนหนักเป็นเบาได้ ไม่ได้เกิดฉับพลันเหมือนกรณีที่สอง แค่นั้น!
 
  • หากธนาคารไม่ต้องสำรองหนี้เสีย เพราะลูกหนี้มีวินัยทางการเงิน ธนาคาร หรือสถาบันการเงิน ก็สามารถผ่อนคลายมาตรการการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงสามารถขยายการบริการไปยังกลุ่มลูกค้าที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินของธนาคารได้ เศรษฐกิจของประเทศก็สามารถพัฒนาไปได้อย่างยั่งยืน
 

ส่วนข้อเสียก็คือ

  • ธนาคารมีส่วนสูญเสีย ได้รับหนี้ไม่เต็มจำนวน (ต้นไม่ครบ ดอกเบี้ยไม่ครบ)
  • ธนาคารอาจต้องระมัดระวังในการให้สินเชื่อกับลูกค้ารายใหม่ (ในกรณีที่มีหนี้เสียจำนวนมาก และลูกค้าเจตนาค้างชำระเพื่อใช้สิทธิ์ในการขอ Hair Cut)

“ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย” เดี๋ยวธนาคารก็ให้ส่วนลดเอง! เหล่านี้ยังเป็นประโยคที่ถูกต้องหรือไม่ จากที่เล่ามาทั้งหมดข้างต้น หวังว่าจะช่วยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการทำ Hair Cut ได้ชัดเจนขึ้นนะ
 

สรุป

ในวันที่เราตัดสินใจยื่นกู้ เพื่อนำมาเสริมสภาพคล่องไม่ว่าจะเป็นในส่วนธุรกิจ หรือส่วนตัว ก็อยากให้ลูกหนี้วางแผนทางการเงินให้ดี เพื่อประโยชน์ในการทำธุรกรรมอื่น ๆ ในอนาคต และเพื่อช่วยให้พี่น้องประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้

เป็นหนี้ไม่ใช่เรื่องผิด ไม่ใช่เรื่องที่ต้องคิดหักเหลี่ยมตัดมุมกัน แต่เป็นการสนับสนุนเกื้อกูลกันในระบบเศรษฐศาสตร์การเงินมากกว่า ซึ่งหากเราประสบปัญหาจริง ๆ ธนาคารย่อมไม่ชักช้าในการเข้าเจรจาปรับลดหนี้เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้อยู่แล้ว ส่วนการช่วยเหลือจะเป็นจำนวนมากน้อยเท่าไหร่ ธนาคารก็จะพิจารณาตามสภาพปัญหา และผลกระทบลูกหนี้แต่ละรายได้รับ เพื่อไม่ให้กระทบกับภาพรวมตามที่กล่าวมา

และเมื่อเคลียร์ตัวเองได้แล้วในครั้งนี้ หากจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบกู้ยืมอีกในอนาคตก็อย่าลืมวางแผนการเงินให้พร้อม แต่การไม่พาตนเองเข้าสู่วงจรหนี้ถึงจะดีที่สุด และมีสติในทุกการใช้จ่ายนะทุกคน

แหล่งที่มา:
https://taokaemai.com
https://www.set.or.th
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา