“บ้าน” ความฝันใหญ่ของใครหลาย ๆ คนที่ครั้งหนึ่งในชีวิตอยากจะพิชิตให้ได้ บางคนที่มีพร้อมในฐานะ หน้าที่การงาน และการเงิน ก็คงจะมองว่า ไม่เห็นจะยาก วางเงินดาวน์ แล้วผ่อนไม่กี่ปีก็หมด แต่สำหรับคนทั่วไปที่ฐานะปานกลาง หรือเป็นมนุษย์เงินเดือนแล้ว การจะซื้อบ้านสักหลัง คอนโดสักห้อง เป็นเรื่องที่ต้องคิดแล้วคิดอีก วางแผนอย่างน้อย ๆ ก็ 6 เดือน หนึ่งปี ไม่ว่าจะด้วยเรื่องทำเล สาธารณูปโภค การเดินทาง อาหารการกิน และสำคัญที่สุด “เงินดาวน์ + ค่างวด”
กว่าจะได้เงินก้อนมาดาวน์บ้านนั้น ก็เก็บเงินกันอยู่นาน แต่ถ้าการทำงานงก ๆ แล้วเก็บตังค์มานาน คุณก็ยังไม่ได้แตะฝันสักที สงสัยต้องหาตัวช่วยแล้วล่ะค่ะ ลองมาดูวิธีเหล่านี้กัน เผื่อบ้านในฝันจะอยู่ใกล้เข้ามาอีกหน่อย
เริ่มจากตั้งเป้าหมาย
เพื่อให้รู้แน่ชัดว่าคุณอยากได้บ้านแบบไหน โดยตีจากไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต เรื่องพื้นที่การใช้งานฟังก์ชันต่าง ๆ ของบ้าน ทำเลที่ตั้ง การเดินทาง อาหารการกิน เพราะการเริ่มต้นจากสิ่งเหล่านี้จะทำให้คุณกะเกณฑ์ราคาของบ้านได้ เมื่อเห็นแล้วว่า ต้องการบ้านประมาณนี้ ๆ ก็สามารถมองหาแบบบ้านที่อยากได้ ไม่ว่าจะเป็นบ้านโครงการหรือบ้านที่สร้างเอง แต่ก็ต้องระวังสักนิดสำหรับบ้านสร้างเองที่เขาว่ากันว่า ยิ่งสร้างยิ่งบานปลายบีบงบลำบาก แต่สำหรับคนที่มีที่เป็นของตนเองอยู่ ก็สบายกระเป๋าได้เปราะหนึ่งเลยล่ะ
เก็บเงินเท่ากันเป็นประจำทุกเดือน
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เตรียมซื้อบ้าน การเก็บออมเงินเป็นประจำน่าจะเป็นเรื่องที่คุ้นชินอยู่แล้ว แต่เรามาเพิ่มเลเวลการออมด้วยการเก็บเงินที่เท่า ๆ กันทุกเดือน สร้างระเบียบให้เป๊ะไปเลย เช่น การเก็บ 10-15% ต่อเดือน ถ้าอยากได้บ้านเร็วหน่อยก็ฮึบอีกนิดเก็บเพิ่มเป็น 20-25% ต่อเดือน และที่สำคัญต้องเก็บเป็นประจำด้วย
บัญชีเงินฝากประจำหรือ
การออมเงินในกองทุน DCA เป็นต้น
นำเงินเก็บไปลงทุนให้งอกเงย
ต่อเนื่องจากการออมด้วยการทำให้เงินงอกเงย เพื่อย่นระยะเวลาเก็บเงิน ทางที่ดีนอกจากการฝากประจำแล้ว เมื่อได้เงินออมมาก้อนหนึ่ง ก็ควรแบ่งไปลงทุนเสียส่วนหนึ่งในกองทุนรวมระยะสั้น เพื่อผลตอบแทนที่สูงขึ้นมาอีกหน่อย คุ้มค่า และยังมีความเสี่ยงต่ำกว่าลงทุนในหุ้น แต่ถ้าบางคนมีความสามารถในการวิเคราะห์คาดเดาหุ้นแล้วล่ะก็ นำเงินนี้ไปลงทุนในหุ้นก็จะได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้นอีกแต่ก็ต้องยอมรับความเสี่ยงให้ได้ด้วยนะคะ
ลดค่าใช้จ่าย
นอกจากการเก็บออมเป็นประจำแล้ว การพยายามลดค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนก็เป็นอีกตัวแปรสำคัญ ต้องยอมรับว่าในแต่ละเดือนเรามักจะเสียเงินไปกับ “อะไรก็ไม่รู้” ไม่ว่าจะเป็นมื้ออาหารหรู บุฟเฟ่ต์แสนอร่อย เสื้อผ้าราคาเซล ปาร์ตี้แฮงเอาท์กับเพื่อน หรือแม้แต่ของจุกจิกไม่จำเป็น นับจากนี้แนะนำให้ลิสต์รายการที่จำเป็นจะต้องซื้อเข้าบ้านทุกเดือนไว้ก่อนเลย เพื่อจะไม่ลอกแลกไปซื้ออะไรก็ไม่รู้อีก เมื่อลดค่าใช้จ่ายได้แล้ว เราจะก็ได้เงินเพิ่มมาต่อเดือนอีกส่วนหนึ่ง ก็สามารถนำไปสมทบทุนเงินแต่งบ้าน หรือหยอดกระปุกเงินออมอีกทางหนึ่ง
สลายหนี้สิน
หนี้เก่าเก็บ หนี้บัตรเครดิต หรือหนี้เพื่อน เมื่อเก็บเงินได้ส่วนหนึ่ง ก็ควรรีบไปจัดการโปะและปิดให้เรียบร้อย เอาจริง ๆ บางคนเก็บเงินเก่งมาก แต่ก็ไม่มีเงินสักทีเพราะหนี้บัตรเครดิต หรือหนี้ผ่อนโน่นนี่ ถ้าเป็นหนี้ 0% ก็ยังไม่เท่าไหร่ แต่หนี้บัตรเครดิตที่เอาแต่จ่ายขั้นต่ำทุกเดือนไม่มีจบสิ้นเสียทีนี่ล่ะ ที่เป็นตัวฉุดรั้งเงินของเรา ไหนดอกเบี้ยที่ต้องเจอ ไหนจะยอดใหม่ที่รูดเพิ่ม เมื่อมีเงินเก็บประมาณหนึ่งแล้ว ต้องใช้ยาแรงสลายหนี้ตัดต้นตอ ทีนี้พอหมดหนี้ ก็เก็บเงินได้มากขึ้นเยอะเลย
มองหาบ้านมือสอง
ถ้าบ้านมือหนึ่งกลางใจเมือง มันแพงเกินตัวเกินไป ก็ลองมองหาบ้านมือสองทำเลรองลงมาหน่อย พื้นที่เล็กลง หรือยอมเดินทางจากบ้านอยู่ชานเมืองเข้ามาหน่อย ต้นทุนก็อาจจะลดลงเยอะเลยทีเดียว ทั้งนี้ก็ต้องยอมรับในเรื่องเงื่อนไขการเดินทางและสภาพของบ้าน แต่ก่อนที่จะตกลงปลงใจซื้อบ้านมือสองด้วยน้ำพักน้ำแรงที่หามาแล้ว ก็ควรศึกษาให้ดี ชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียให้ครบถ้วนเสียก่อน
กู้เงินซื้อบ้าน
อีกหนึ่งหนทางที่หลาย ๆ คนสนใจแต่ยังลังเล เพราะ
การกู้เงินซื้อบ้านนั้น คือ การเป็นหนี้ก้อนโตในระยะยาว ซึ่งการเป็นหนี้แบบนี้นับเป็นหนี้ที่ดีต่อตัวคุณ เพียงแต่ควรตรวจสอบความพร้อมของรายได้และการผ่อนเสียก่อน ในช่วงที่ผ่อนบ้านกับแบงก์ ก็ไม่ควรลดรายจ่าย ไม่สร้างหนี้เพิ่ม เร่งเก็บออม หรือหาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ เพื่อเร่งนำเงินมาโปะบ้านให้หมดไว ๆ
เทคนิคที่นำมาบอกเล่านี้ ไม่ได้เป็นเรื่องยากเกินไปเมื่อตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว การมีวินัยในเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะคว้าบ้านในฝันมาให้ได้