แก้เครดิตเสียยังไง ให้กลับมาดีอีกครั้ง
เพื่อชีวิตสบาย
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

แก้เครดิตเสียยังไง ให้กลับมาดีอีกครั้ง

icon-access-time Posted On 12 มกราคม 2566
by Krungsri The COACH
หลาย ๆ คนคงเป็นกังวลกับการติด “เครดิตบูโร” หรือ “ถูกแบล็กลิสต์” กันไม่น้อยเลย และแน่นอนว่าจังหวะชีวิตคนเรามันมีขึ้นมีลงบ้าง บางทีก็หมุนเงินไม่ทันเอาไปปิดยอดหนี้บัตรเครดิต หรือเงินอาจจะเข้าช้าไปบ้าง จึงทำให้เป็นสาเหตุทำให้หลาย ๆ คนอาจจะติดเครดิตบูโรได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การติดเครดิตบูโรกับถูกแบล็กลิสต์นั้นต่างกัน วันนี้เราจะพาทุกคนมาทำความเข้าใจว่า เครดิตบูโรคืออะไร เครดิตบูโรติดกี่ปี เครดิตบูโรเช็กอะไรบ้าง? และต่างยังไงกับถูกแบล็กลิสต์ รวมถึงบอกวิธีแก้เครดิตเสียให้กลับมาดีอีกครั้ง
 
เครดิตบูโร คืออะไร?

เครดิตบูโร คืออะไร?


เครดิตบูโร (Credit Bureau) หรือบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (National Credit Bureau) เป็นสถาบันที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการจัดเก็บข้อมูลบัญชีสินเชื่อและประวัติการชำระสินเชื่อทุกประเภทของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ซึ่งส่งมาจากสถาบันการเงินและบริษัทที่เป็นสมาชิกเครดิตบูโร ที่เราเรียกกันว่า “ข้อมูลเครดิต” บุคคลทั่วไปสามารถเช็กสุขภาพทางการเงินของตนเองได้โดยยื่นคำขอตรวจเครดิตบูโรผ่าน โมบายแอปพลิเคชั่น หรือช่องทางการให้บริการต่าง ๆ เช่น ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร เคาเตอร์ธนาคาร / ธนาคารออนไลน์ / ตู้ ATM หรือที่ทำการเคาร์เตอร์บริการไปรษณีย์ที่ให้บริการ เป็นต้น โดยสามารถตรวจสอบได้ทุกปี เหมือนเช็กสุขภาพประจำปีได้เลย เผื่อพบอะไรผิดปกติจะได้แก้ไขทัน

โดยทั่ว ๆ ไป เครดิตบูโรจะแสดงประวัติสินเชื่อย้อนหลัง 3 ปี กรณีถ้าเราปิดหนี้หมดเลย ไม่ได้ใช้เครดิตแล้ว รายงานประวัติสินเชื่อในเครติดบูโรก็จะค่อย ๆ ถอยไป ๆ ทีละเดือนจนครบ 36 เดือน หรือ 3 ปี ก็จะไม่เห็นรายงานแล้ว หรือกรณีที่ลูกค้าผิดนัดชำระหนี้และค้างชำระเกิน 90 วัน ปัจจุบันกำหนดให้สถาบันการเงินจะส่งข้อมูลสินเชื่อคงค้างให้บริษัทข้อมูลเครดิตต่อเนื่องไปอีกเป็นเวลาไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่ค้างชำระเกิน 90 วัน พอครบ 5 ปี ก็ไม่ใช่รายงานจะหายไปทันที จะกลับไปเหมือนกรณีที่เราปิดหนี้หมดแล้วคือ ประวัติจะค่อย ๆ ขยับถอยออกไป กว่าจะถอยออกจากรายงานหมดก็อีก 3 ปี บางคนบางหนี้เสียพ้น 3 ปีก็กู้ใหม่ได้แล้ว อันนี้อย่าลืมว่าประวัติการใช้สินเชื่อของเราไม่ได้มีอยู่ที่เครดิตบูโรอย่างเดียวนะ แต่สถานบันการเงินหรือผู้ให้บริการการเงินก็ยังเก็บข้อมูลไว้อยู่ จะนานมากน้อยแค่ไหน 10 ปี 20 ปี หรือนานกว่านั้นก็แล้วแต่เกณฑ์ของแต่ละสถาบัน ซึ่งก็กระทบต่อการขอใช้เครดิตในอนาคตได้ทั้งนั้น

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว น่าจะเห็นภาพตรงกันว่าเครดิตนั้นสำคัญแค่ไหน หลายคนคงพอจะมีไอเดียในการจัดการ หรือแก้ไขเครดิตบูโร ให้กลับมาดีได้อีกครั้งแล้ว แต่ถ้าใครอยากฟังรวดเดียวยาว ๆ ขอแนะนำ “Krungsri The COACH Ep.46 จ่ายหนี้ช้า เครดิตเสีย ต้องทำยังไง?” เข้าไปฟังกันต่อได้เลย

แบล็กลิสต์ คืออะไร?


แบล็กลิสต์ (Blacklist) มักจะเป็นคำพูดติดปากที่คนทั่วไปมักจะใช้เรียกแทนพฤติกรรมการชำระเงินที่ไม่มีวินัย จนเป็นหนี้เสีย ซึ่งหลายคนมักจะเข้าใจผิดว่าคำนี้มาจากเครดิตบูโร ขอย้ำชัด ๆ กันตรงนี้อีกทีว่า เครดิตบูโร มีหน้าที่จัดเก็บรักษารวบรวมและประมวลผลข้อมูลสินเชื่อของลูกค้าสถาบันการเงินตามที่สถาบันการเงินหรือบริษัทที่เป็นสมาชิกจัดทำให้เท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่ "ขึ้นบัญชีดำ" หรือ Blacklist อย่างที่หลาย ๆ คนเข้าใจกัน

เราบริหารเครดิตไม่ดี ชำระไม่ตรง สถาบันการเงิน หรือผู้ให้บริการทางการเงินก็แค่ส่งรายการตามความเป็นจริงตามช่วงเวลาที่กำหนดเท่านั้น ผลแห่งการกระทำก็จะสะท้อนผลให้เห็นเมื่อเราไปสมัครสินเชื่อ หรือบัตรเครดิต แล้วไม่ได้รับอนุมัติ ซึ่งเกณฑ์การพิจารณาตรงนี้จะเข้มข้นแตกต่างกันไปตามแต่ละสถาบันจะกำหนด

การขอสินเชื่อและได้รับการอนุมัติ โดยปกติแล้วก็จะมีวันที่ครบกำหนดชำระ ซึ่งหากกรณีเรามีการชำระค่างวดล่าช้า ก็จะมีการติดตามทวงถามหนี้ซึ่งส่วนนี้ก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม โดยเราจะมายกตัวอย่างของสินเชื่อส่วนบุคคลกันให้ดูกันว่า ถ้าเราชำระหนี้ล่าช้า จะเกิดอะไรขึ้น จะมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง

ตัวอย่างการผิดนัดชำระหนี้หรือชำระหนี้ล่าช้า จะมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง?


ตัวอย่างการผิดนัดชำระหนี้หรือชำระหนี้ล่าช้า จะมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง?


ค่าทวงถามหนี้ สำหรับสินเชื่อบุคคลที่มียอดค้างชำระ หรือค้างชำระสะสมตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป ธนาคารเรียกเก็บครั้งแรก 50 บาท และครั้งต่อไปครั้งละ 100 บาท

ดอกเบี้ยปรับ กรณีชำระล่าช้า จะคำนวณเรียกเก็บตั้งแต่วันที่ครบกำหนดชำระ โดยคิดบวกเพิ่ม 1% - 3% ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ค้างชำระ

พอจะเข้าใจความหมายของเครดิตบูโร และการติดแบล็กลิสต์กันมาพอสังเขปแล้ว และถ้าเราเป็นหนึ่งในคนที่กำลังประสบปัญหาอยู่ก็อย่าเป็นกังวลไปเลย เพราะเรามีทางแก้ไข และสร้างประวัติทางการเงินที่ไม่ดีให้กลับมาดีใหม่ได้อีกครั้ง อีกทั้งยังสามารถขอสินเชื่อใหม่ได้อีกด้วย

ไม่อยากเสียเครดิต ทำอย่างไรได้บ้าง?


ไม่อยากเสียเครดิต ทำอย่างไรได้บ้าง?
 

สำหรับคนที่ยังมีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีอยู่

หากเรายังสามารถที่จะใช้หนี้โดยที่ยังมีเงินเหลือใช้อยู่ สิ่งที่ทำได้จะเป็น ดังต่อไปนี้
  1. สรุปหนี้ที่ยังมีรายการค้างชำระอยู่ ตัวอย่างเช่น เป็นหนี้กับสถาบันการเงินไหนไว้ และเป็นในจำนวนเท่าไหร่ มีรายละเอียดดอกเบี้ยและต้องชำระต่องวดเท่าไหร่ เพื่อที่ว่าจะได้ตั้งงบประมาณมาคำนวณรายรับรายจ่ายได้อย่างเหมาะสม
  2. วางแผนการชำระเงิน ลองคำนวณดูว่าหนี้ก้อนไหนที่คิดว่าสามารถจัดการให้หมดได้ไวที่สุด จะได้เพิ่มยอดชำระแต่ละงวดเพื่อที่หนี้ก้อนนั้นจะหมดลงไวที่สุด และยิ่งถ้าหากหนี้ก้อนไหนมีการคิดดอกเบี้ยทบต้นทบดอกยิ่งควรรีบทำการปิดหนี้ให้โดยเร็วที่สุดเลย
  3. พยายามใช้หนี้ให้ตรงต่อเวลาทุกงวด เพราะจะมีผลต่อการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อใหม่ในอนาคต
  4. นำเงินก้อนมาปิดชำระหนี้ ตัวอย่างเช่น เมื่อได้เงินโบนัส หรือเงินค่าคอมมิชชั่น หรือเงินพิเศษอื่น ๆ มา หลังจากแบ่งส่วนเก็บออมแล้ว ก็อย่าลืมที่จัดสรรบางส่วนมาโปะหนี้ที่มีอยู่ หนี้ลดก็ปลดหนี้ไว
  5. รีไฟแนนซ์ หรือใช้บริการโอนยอดหนี้ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย ประหยัดดอกเบี้ย และเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้เรามากขึ้น
  6. อย่าก่อหนี้เพิ่ม พยายามอย่าสร้างภาระหนี้สินให้กับตัวเองเพิ่มขึ้นไปอีก เนื่องจากตอนนี้จำเป็นมากที่จะต้องโฟกัสที่การชำระหนี้ที่มีให้หมดก่อน
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา