เช็กสิทธิเงินชราภาพประกันสังคม เกษียณแล้วได้เงินเท่าไหร่
เพื่อยามเกษียณ
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

เช็กสิทธิเงินชราภาพประกันสังคม เกษียณแล้วได้เงินเท่าไร

icon-access-time Posted On 07 ธันวาคม 2566
By Krungsri The COACH
มนุษย์เงินเดือน หรือคนทำงานส่วนใหญ่คงคุ้นเคยกันดี กับ "สิทธิประกันสังคม" เพราะนั่นเป็นสิ่งคนทำงานกินเงินเดือนอย่างเรา ๆ ต้องส่งจ่ายในทุก ๆ เดือนเพื่อได้รับสิทธิประโยชน์ที่พึงจะได้รับ นำไปสร้างหลักประกันที่ดีเป็นเงินสมทบกองทุนประกันสังคมในยามที่เราเกษียณ

หลายคนเริ่มสงสัยว่าเงินที่เราส่งไปทุกเดือน เมื่อเราเกษียณแล้วจะได้เงินชราภาพประกันสังคมเป็นจำนวนเท่าไร แล้วเงินที่หักไปมันคุ้มจริงหรือไม่ ในบทความนี้เราจะพาทุกคนไปเช็กสิทธิเงินเกษียณประกันสังคมที่ควรรู้ และการคำนวณชราภาพกัน
ผู้สูงอายุนั่งคำนวณเงินชราภาพจากประกันสังคม

มาดูสิทธิที่ควรรู้เมื่อเราเกษียณไปแล้วว่าเงินชราภาพประกันสังคม มีกี่แบบ และได้ตอนไหน ข้อมูลจากประกันสังคมในประกันสังคมมาตรา 33 เมื่อผู้ประกันตนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง มีสิทธิ์ที่จะยื่นขอรับเงินบำเหน็จ หรือเงินบํานาญตามประกันสังคม ม.33 ได้
โดยการยื่นขอสิทธิ์เงินชราภาพประกันสังคมมีเงื่อนไข ดังนี้
 
  1. หากผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบน้อยกว่า 180 เดือน จะได้รับ “เงินบำเหน็จ”
  2. ส่วนผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 180 เดือน (15ปี ) ขึ้นไป จะได้รับ “เงินบำนาญ” ที่ประกันสังคมจ่ายให้เป็นรายเดือนตลอดชีวิต
ดังนั้นเกณฑ์แรกที่จะรู้ว่าเราจะได้รับเงินเกษียณประกันสังคมเป็นบำเหน็จ หรือบำนาญ นั่นก็คือ “ระยะเวลาที่เราส่งเงินจ่ายสมทบในประกันสังคม” นั่นเอง ทีนี้เรามาดูกันในรายละเอียดปลีกย่อยในการได้รับเงินแต่ละแบบกัน

กรณีบำเหน็จชราภาพ แบ่งย่อยเป็น 2 กรณี

จ่ายเงินสมทบน้อยกว่า 12 เดือน

จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบเฉพาะส่วนของผู้ประกันตนที่จ่ายให้กับสำนักงานประกันสังคม
 

จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 180 เดือน

จะจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบส่วนของผู้ประกันตน และส่วนของนายจ้างที่จ่ายเงินสมทบให้กับสำนักงานประกันสังคม เพื่อจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ และผลประโยชน์ตอบแทนประจำปี

กรณีบำนาญชราภาพ แบ่งย่อยเป็น 2 กรณี

จ่ายเงินสมทบมา 180 เดือนพอดี

จะได้รับเงินบํานาญจากประกันสังคม เป็นรายเดือนตลอดชีวิต คิดเป็นอัตราร้อยละ 20 ของเงินค่าจ้าง (ไม่เกิน 15,000 บาท) เฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
 

จ่ายเงินสมทบเกินกว่า 180 เดือน

จะเพิ่มอัตราการจ่ายเงินบำนาญประกันสังคมม.33 ให้อีก ร้อยละ 1.5 ของระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบทุก ๆ 12 เดือน
 
รวมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเงินเกษียณประกันสังคม เกษียณอายุ 55 ได้เงินเท่าไหร่บ้าง

เราจะได้เงินหลังเกษียณกี่บาท?

ส่วนนี้จะพาทุกคนไปดูวิธีคำนวณเงินชราภาพประกันสังคมหลังเกษียณกัน ผ่านตารางคํานวณเงินชราภาพ ประกันสังคม ในที่นี้จะแบ่งเป็น 2 กรณี
 

1. คำนวณกรณีบำเหน็จชราภาพ

(สำหรับผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบไม่ถึง 180 เดือน) กรณีที่จ่ายเงินสมทบไม่ถึง 12 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จแค่ในส่วนที่เราสมทบมาเพียงฝ่ายเดียว ไม่รวมส่วนของนายจ้าง

ตัวอย่าง เราอายุ 55 ปี และสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง ขณะส่งเงินสมทบได้ 10 เดือน และสมมติว่าส่งเงินสมทบเดือนละ 300 บาท ในที่นี้จะได้เงินบำเหน็จชราภาพประกันสังคม จำนวน 3,000 บาท (300 บาท x 10 เดือน)
 
วัยรุ่นชายศึกษาเรื่องเงินบำเหน็จชราภาพและวางแผนการเงิน

กรณีที่จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป จะได้รับเงินชราภาพจากประกันสังคมแบบบำเหน็จ จาก 3 ส่วน คือ จำนวนเงินสมทบของผู้ประกันตน + ส่วนของนายจ้าง + ผลประโยชน์หมายถึงกำไรจากที่ประกันสังคมเอาเงินไปลงทุน ตามที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด ดังนั้นผลประโยชน์ หรือกำไรจากที่ประกันสังคมเอาเงินไปลงทุน ต้องดูจากที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด

ทั้งนี้อัตราผลประโยชน์ตอบแทนย้อนหลัง 5 ปี มีดังนี้
 
ปี อัตราผลประโยชน์ตอบแทน กรณีบำเหน็จชราภาพ มาตรา 33 และมาตรา 39 (ร้อยละ)
2561 3.16
2562 4.52
2563 2.75
2564 2.83
2565 3.46
ตัวอย่าง: ผู้ประกันตนมาตรา 33 เกษียณอายุที่ 55 ปี ทำงานมา 57 เดือน โดยที่ผ่านมาสมทบเข้าประกันสังคมเดือนละ 450 บาท โดย 1 ปี จ่ายประกันสังคม เท่ากับ
 
ปี เงินผู้ประกันตน
(A)
เงินสมทบนายจ้าง
(B)
เงินสมทบสะสม x อัตราผลประโยชน์ตอบแทน ผลประโยชน์ตอบแทน (C)
2561 5,400 5,400 10,800 x 3.16% 341.28
2562 5,400 5,400 (10,800+10,800) = 21600 x 4.52% 976.32
2563 5,400 5,400 (10,800+10,800+10,800) x 2.75% 891.00
2564 5,400 5,400 (10,800+10,800+10,800+10,800) x 2.83% 1,222.56
2565 4,050 4,050 [(10,800+10,800+10,800+10,800+8,100) x 3.46%] x 9/12 1,331.24
รวม 25,650 25,650   4,762.40
หมายเหตุ: 9/12 หมายถึง ผู้ประกันตนนําส่งเงินสมทบมาแค่ 9 เดือน ภายใน 1 ปี

เงินบำเหน็จชราภาพที่จะได้รับประกอบด้วย = เงินสมทบส่วนของตนเอง (A) + เงินสมทบส่วนของนายจ้าง (B)+ ผลประโยชน์ตอบแทน (C) = 25,650 + 25,650 + 4,762.40 = 56,062.40 บาท

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ (prachachat.net/csr-hr/news-1238675#google_vignette)
 

2. คำนวณกรณีเงินบำนาญชราภาพ

2.1 สำหรับผู้ที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วเป็นเวลา 180 เดือนพอดี เมื่อครบอายุ 55 ปี และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง จะได้รับเงินบำนาญชราภาพจากประกันสังคมในอัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย

ตัวอย่าง: ค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย (ค่าจ้าง 60 เดือนสุดท้ายรวมกันหาร 60) แล้วนำไปคุณ 20% จะได้เงินบำนาญชราภาพที่จะได้รายเดือน เช่น ค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายได้ 13,000 บาท คูณ 20% = 13,000 x 20% = 2,600 บาท กรณีนี้ผู้ประกันตนจะได้รับเงินบำนาญชราภาพเดือนละ 2,600 บาท ไปจนตลอดชีวิต

2.2 กรณีที่จ่ายเงิน สมทบเกิน 180 เดือน บํานาญประกันสังคม ม.33 จะปรับเพิ่มอัตราเงินบำนาญชราภาพขึ้นอีกในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบครบทุก 12 เดือน สำหรับระยะเวลาที่จ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือน

ตัวอย่างเช่น นาย A ผู้ประกันตนทำงานได้รับเงินค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาท มาตลอด และส่งเงินสมทบมาแล้ว 20 ปี อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง จะได้รับเงินบำนาญชราภาพเดือนละเท่าใด

คำนวณโดยแบ่งดังนี้
 
ระยะเวลาที่สมทบ ได้อัตราเงินบำนาญ
15 ปี หรือ 180 เดือน (แรก)  20%
5 ปี (หลัง)  7.5% (1.5% (ปรับเพิ่ม) × 5ปี
รวมอัตราเงินบำนาญ 20 ปี  27.5%
ดังนั้นนาย A จะได้รับเงินบำนาญรายเดือน = 27.5% ของ 15,000 บาท = 4,125 บาท/เดือนจนตลอดชีวิต
(ที่มา: tnnthailand.com/news/social/124963/)

เปรียบเทียบ ข้อดี-ข้อเสีย เงินชราภาพประกันสังคม

การรับเงินบำเหน็จ

ข้อดี ได้เงินเกษียณจากประกันสังคมเป็นก้อนใหญ่มาเลยทีเดียว เหมาะกับคนที่ต้องการใช้เงินก้อน
ข้อเสีย จะได้บำเหน็จน้อยกว่าบำนาญ และมีโอกาสที่จะใช้เงินหมดก่อน หากอายุยืนอาจไม่มีเงินเพียงพอใช้ในบั้นปลายชีวิต
 

การรับเงินบำนาญ

ข้อดี ได้เงินชราภาพจากประกันสังคมมากกว่าและมีเงินใช้รายเดือนไปจนเสียชีวิต
ข้อเสีย ไม่มีเงินก้อนสำหรับการลงทุนหากมีความต้องการ
 
ผู้สูงอายุใช้ชีวิตอย่างมีความสุข พร้อมเงินบำเหน็จและบํานาญประกันสังคม ม.33

เป็นอย่างไรกันบ้างหลังจากที่เห็นตัวเลขจากการคำนวณบำเหน็จบำนาญประกันสังคมม.33 แบบนี้แล้ว แม้ว่าเงินที่เราจ่ายสมทบในประกันสังคมถือว่าเป็นหนึ่งในหลักประกันยามเกษียณ แต่จำนวนเงินชราภาพที่ได้จากประกันสังคมอาจไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตหลังเกษียณของเรา ลองคิดดูว่า อีก 10 ปี อีก 20 ปี ข้าวของเครื่องใช้จะแพงขึ้นเพราะเงินเฟ้อขนาดไหน

จะดีกว่าไหม ถ้าเรามีทางเลือกในการออมเงินเพื่อเกษียณอย่างมีความสุขได้อีก โดยธนาคารกรุงศรี มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลายที่จะช่วยให้คุณสามารถเกษียณได้อย่างสบายใจ หนึ่งในนั้นคือกรุงศรีประกันบํานาญ แฮปปี้ รีไทร์ หรือกรุงศรีประกันบำนาญ แฮปปี้ ไลฟ์ สนใจสามารถคลิกดูลิงก์ด้านล่างนี้ได้เลย

กรุงศรีประกันบํานาญ แฮปปี้ รีไทร์ A85/1, A85/5, A85/10, A85/A60
กรุงศรีประกันบำนาญ แฮปปี้ ไลฟ์
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา