การวางแผนเกษียณเป็นเรื่องที่มนุษย์เงินเดือนทุกคนต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อมีการปรับเกณฑ์เงินบำนาญชราภาพ ซึ่งถือเป็นเงินออมสำคัญของมนุษย์เงินเดือน อาจส่งผลต่อการรับเงินหลังเกษียณของคุณโดยตรง รู้หรือไม่ว่าการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ครอบคลุมทั้งเรื่องอายุการรับบำนาญ จำนวนเงินที่ได้รับ และเงื่อนไขการขอรับสิทธิ์ บทความนี้จะสรุปข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการปรับเกณฑ์บำนาญชราภาพที่มนุษย์เงินเดือนควรรู้ พร้อมแนะนำวิธีวางแผนการเงินให้มั่นคงแม้เกณฑ์ใหม่จะเปลี่ยนแปลง
สรุปการปรับเกณฑ์บำนาญชราภาพใหม่ มีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง?
บอร์ดประกันสังคมมีมติเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2568 ให้ปรับสูตรการคำนวณบำนาญชราภาพใหม่ ที่เรียกว่า CARE (Career-Average Revalued Earnings) หรือคิดแบบค่าเฉลี่ยตลอดการทำงาน ปรับเป็นค่าเงินปัจจุบัน ทั้งในส่วนของมาตรา 33 และมาตรา 39 โดยคิดจากฐานเงินเดือนเฉลี่ยตลอดอายุการทำงานจริง ซึ่งจะทำให้ได้เงินบำนาญมากขึ้นกว่าเดิม จะเริ่มใช้สูตรใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 เป็นต้นไป หลักการของ CARE มี 3 ข้อ คือ 1. คิดค่าจ้างทุกเดือนที่เคยส่งสมทบ 2. ปรับค่าจ้างในอดีตให้เป็นปัจจุบัน โดยคำนวณอัตราเงินเฟ้อเข้าไป และ 3. เน้นหลักการ “ส่งมากได้มาก ส่งน้อยได้ตามสัดส่วนจริง”
ตัวอย่าง ผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมบทมาตรา 33 เป็นเวลา 15 ปี และส่งต่อมาตรา 39 อีก 10 ปี หากมีเงินเดือน 15,000 จะได้เงินบำนาญพื้นฐาน 20% x 15,000 = 3,000 + บำนาญเพิ่มเติม 10 ปี x 15,000 x 1.5% = 2,250 เท่ากับจะได้บำนาญรวม 5,250 บาท
แต่สูตรบำนาญชราภาพแบบเดิม หากผู้ประกันตนมาตรา 33 ย้ายมามาตรา 39 การคำนวณเงินชราภาพ จะคำนวณจากฐานเงินเดือนที่จ่ายสมทบเข้ากองทุนในช่วง 60 เดือนสุดท้าย (5 ปี) ก่อนเกษียณอายุ หากเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 เพดานค่าจ้างสูงสุดกำหนดอยู่ที่ 15,000 บาท ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 39 เพดานค่าจ้างสูงสุดกำหนดอยู่ที่ 4,800 บาทเท่านั้น
ดังนั้น หากส่งเงินสมทบมาตรา 33 มาเป็นเวลาหลายปี และเมื่อมาเปลี่ยนเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 จะทำให้ได้รับเงินบำนาญลดลงอย่างมากจากสูตรดังกล่าว
นอกจากนี้ บอร์ดประกันสังคมยังได้ปรับเพดานการคำนวณเงินสมทบ ซึ่งประเทศไทยใช้อัตรา 15,000 บาท มาเป็นระยะเวลายาวนานถึง 30 ปี ขณะที่ต่างประเทศจะมีการปรับเพดานตามค่าครองชีพหรือค่าจ้างเฉลี่ยทุกปี รวมทั้งจะมีมาตรการต่อเนื่อง เพื่อให้สอดรับกับแนวโน้มประชากรที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เช่น
- อายุรับเงินบำนาญ : จากเดิมที่สามารถเริ่มรับบำนาญได้ตั้งแต่อายุ 55 ปี อาจมีการปรับให้เริ่มรับบำนาญได้ช้าลง เพื่อให้สอดคล้องกับอายุขัยที่ยืนยาวขึ้น
- จำนวนเงินบำนาญ : อัตราการจ่ายเงินอาจมีการปรับปรุงเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและค่าครองชีพ
- เงื่อนไขการขอรับสิทธิ : อาจมีการปรับเงื่อนไขระยะเวลาการส่งเงินสมทบ เพื่อให้สิทธิรับบำนาญเป็นไปอย่างเหมาะสมและยั่งยืน
มนุษย์เงินเดือนต้องเตรียมรับมืออย่างไร?
การคำนวณสูตรใหม่ของบำนาญชราภาพไม่ใช่การเพิ่มบำนาญ แต่เป็นการปรับระบบให้มีความยุติธรรมมากขึ้น ถ้าหากคุณส่งมากก็ได้มาก ส่งน้อยก็ได้น้อย สำหรับมนุษย์เงินเดือนต้องวางแผนตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
- วางแผนออมเพิ่ม : เริ่มเก็บออมตั้งแต่วันนี้เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเงินบำนาญ โดยเฉพาะการออมผ่านช่องทางการลงทุนที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนสูง
- ปรับแผนการเกษียณ : ประเมินแผนเกษียณใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับเงื่อนไขการรับบำนาญที่เปลี่ยนไป เช่น การทำประกันชีวิต หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
นอกจากนี้ Krungsri The COACH ขอแนะนำเคล็ดลับการวางแผนการเงินให้มีความมั่นคงมากขึ้นในวันข้างหน้า โดยมีวิธีดำเนินการง่าย ๆ ดังนี้
- ออมเงินและลงทุนตั้งแต่เนิ่น ๆ : เริ่มต้นออมเงินให้เร็วที่สุด เพื่อให้มีเวลาสะสมผลตอบแทนในระยะยาว
- กระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยง : อย่าลงทุนในสินทรัพย์ประเภทเดียว กระจายการลงทุนในหุ้น กองทุนรวม พันธบัตรรัฐบาล และทรัพย์สินอื่น ๆ เพื่อสร้างสมดุลให้พอร์ตการลงทุน
- สำรวจทางเลือกการออมเพื่อการเกษียณ : พิจารณาเครื่องมือทางการเงินที่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่า และเหมาะสมกับเป้าหมายการเกษียณของคุณ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ประกันชีวิตแบบบำนาญ และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
การปรับเกณฑ์บำนาญชราภาพใหม่นี้อาจส่งผลต่อแผนเกษียณของคุณโดยตรง ดังนั้นมนุษย์เงินเดือนทุกคนควรเร่งปรับตัว โดยการวางแผนการเงินอย่างรอบคอบ เพิ่มการออม และขยายช่องทางการลงทุนให้หลากหลาย อย่ารอให้ถึงวัยเกษียณแล้วค่อยเริ่มวางแผน เพราะการเตรียมตัวตั้งแต่วันนี้คือกุญแจสำคัญที่จะทำให้ชีวิตวัยเกษียณของคุณมั่นคง และไร้กังวล เริ่มวางแผนการเงินของคุณวันนี้ เพื่อสร้างอนาคตที่มั่นคงสำหรับวัยเกษียณที่คุณฝันไว้!