กลายเป็นกระแสที่น่าจับตามอง สำหรับฟินเทคสตาร์ทอัพ (FinTech Startup) ทั้ง ๆ ที่ธุรกิจฟินเทคนี้มีมานานแล้ว เช่น การโอนเงินออนไลน์ ธนาคารออนไลน์ การกำเนิดของบัตรเครดิต และตู้ถอนเงินด่วน ATM เป็นต้น แต่หัวข้อนี้กลับถูกพูดถึงมากในปัจจุบัน ได้รับความสนใจมากขึ้นจากทั้งนักลงทุนรุ่นเก่ารุ่นใหม่ และธนาคาร
FinTech มาจากคำว่า Financial + Technology หมายถึง เทคโนโลยีทางการเงิน หรือการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ทางการเงิน ทำให้การทำธุรกรรมของเราง่ายขึ้น
ทำไมธุรกิจสตาร์ทอัพฟินเทคถึงเป็นที่น่าจับตามอง
- เพราะเรื่องการเงิน/การทำธุรกรรมทางการเงิน เป็นเรื่องที่ mass มาก คือเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
- การสร้างบริษัทสตาร์ทอัพ กลายเป็น “เทรนด์ของคนรุ่นใหม่” ที่มีความมุ่งมั่นจะขจัด pain point บางอย่างให้ผู้บริโภค บ้างก็ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม เป็นไลฟ์สไตล์ที่อยากเป็นนายตัวเอง และอยากประสบความสำเร็จในชีวิต
เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2561 ทางธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้จัดงานพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นนี้ โดยอาศัยความร่วมมือระหว่าง Plearn เพลิน by krungsri GURU ผู้นำเว็บไซต์คอนเทนต์ด้านการเงินการลงทุนแนวไลฟ์สไตล์ ร่วมกับ Krungsri Finnovate ผู้สนับสนุนและลงทุนในธุรกิจฟินเทคสตาร์ทอัพของไทย ภายใต้ชื่องาน "SoFin SoFun คุยเรื่องฟินเทคแบบสนุกยุคดิจิทัล" พร้อมเชิญผู้บริหารของ Krungsri Finnovate และบรรดา CEO คนรุ่นใหม่ของธุรกิจ
สตาร์ทอัพที่กำลังมาแรง มาพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กันภายในงาน
เนื้อหาภายในงาน สรุปให้อ่านเข้าใจง่ายได้ดังนี้ครับ
สถานการณ์และแนวโน้มความสำเร็จของ Fintech Startup ไทย
คุณแซม ตันสกุล - Managing Director ของ Krungsri Finnovate ได้ยกกรณีศึกษาขึ้นมา 7 เคส เพื่อให้เราได้สังเกตเห็นทิศทางการลงทุนในธุรกิจฟินเทคสตาร์ทอัพ ดังนี้
กรณีศึกษาที่ 1 QR Payment: การใช้ QR Code ในการจับจ่ายใช้สอย เห็นได้เยอะจากประเทศจีนซึ่งก้าวเข้าสู่การเป็น
Cashless Society ถึง 55% แล้ว
AliPay ครองสัดส่วนอยู่ที่ 51.8% ในขณะที่ Tenpay อยู่ที่ 38.3%
เคยมีคนทดลองอยู่ในเซี่ยงไฮ้ 1 วันโดยไม่ใช้เงินสดเลย ปรากฏว่าอยู่ได้จริง ๆ เพราะทุกร้านค้า ทุกสถานที่จะมี QR Code อยู่ หลายร้านถึงกับไม่รับเงินสดแล้ว สาเหตุเกิดจากการที่จีนประสบปัญหาธนบัตรปลอมเยอะมาก และการจ่ายระบบ
QR Code ช่วยให้เงินเข้ากระเป๋าเจ้าของร้านได้ 100% ไม่มีตกหล่น
สัดส่วนการเป็น Cashless Society ในไทยยังคงอีกยาวไกลครับ เพราะตอนนี้ไทยเรายังอยู่ที่ 3% เท่านั้น คงต้องจับตามองต่อไปในอนาคต
กรณีศึกษาที่ 2 Alipay: Alipay เป็นแอปพลิเคชันรับ
ชำระเงินออนไลน์เหมือน PayPal เป็นของบริษัท Alibaba ซึ่งแอปฯ นี้เกิดจากการที่แจ็คหม่า (Jack Ma) ไม่อยากจ่ายเงินค่าธรรมเนียมให้ธนาคารในการทำธุรกรรมแต่ละครั้ง แจ็คหม่าเขาเลยตัดสินใจทำบริการจ่ายเงินออนไลน์ขึ้นมาเองซะเลย
แถมยังดึงดูดลูกค้า ด้วยวิธีให้ดอกเบี้ยเงินฝากสูงมาก ใครเอาเงินมาฝาก Alipay จะได้ดอกเบี้ยเงินฝากสูงถึง 8%
พอฝากเยอะ คนเลยใช้เงินจับจ่ายใช้สอยเยอะ ในไทยเองก็มีคนเริ่มใช้แล้ว ซึ่ง Alipay เขาทำกำไรได้จากการให้ดอกเบี้ยเงินกู้ครับ
กรณีศึกษาที่ 3 Apps turn into Payment: แอปพลิเคชันหลายราย ขยายบริการครอบคลุมถึงการรับชำระค่าสินค้าแล้ว เช่น กรณีของ Go-Jek ซึ่งเป็นแอพฯ เรียกรถเจ้าดังในตลาดอินโดนีเซีย ได้ขยายบริการให้มี Go-pay, Go-box, Go-ride, Go-mart และอีกหลาย ๆ โก เทียบชั้นกับ Grab bike บริษัทคู่แข่งต่างสัญชาติ เป็นต้น เราจะเห็นแนวโน้มที่แอปฯ เปลี่ยนตัวเองไปเป็นระบบ Payment มากขึ้น
กรณีศึกษาที่ 5 Peer-to-peer lending (P2P lending) นวัตกรรมการให้กู้เงินผ่านระบบออนไลน์ โดยไม่ต้องพึ่งสถาบันการเงิน เหมือนเพื่อนยืมเพื่อน แถมยังให้ดอกเบี้ยที่ถูกกว่าธนาคาร โมเดลเป็นแบบนี้ครับ
เช่น นักศึกษาจบใหม่ อยากเปิดร้านอาหาร กู้ธนาคารยากแน่นอน P2P Lending จะเข้ามาตอบโจทย์ตรงนี้ นักศึกษาคนนั้นไม่ต้องวิ่งไปหาธนาคารแล้ว แต่จะขอกู้จากบริษัท P2P Lending ที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างผู้ให้กู้กับผู้กู้ เหมือนรวบรวมและคัดกรองทั้งสองฝ่ายมาไว้ด้วยกัน พร้อมทำหน้าที่ให้เครดิตนักศึกษาคนนี้ ช่วยเป็นตัวกลางทำสัญญาเงินกู้ รวมทั้งบริการเก็บเงินและติดตามหนี้
แม้จะยังไม่มีในไทย แต่โมเดลธุรกิจนี้ประสบความสำเร็จอย่างสูงในสหรัฐฯ ส่วนภาครัฐของไทยกำลังวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียอยู่ครับ เพราะเกรงว่าวิธีนี้จะทำให้เกิดหนี้เสียเยอะ
กรณีศึกษาที่ 6 Insurtech (Insurance + Technology)
คือการนำเทคโนโลยีมาใช้กับแวดวงประกันภัย เช่น การติดชิพสีดำไว้ที่รถยนต์เพื่อตรวจจับพฤติกรรมการขับรถของลูกค้า เพื่อนำไปประเมินราคาประกันรถยนต์ ใครขับได้น่าหวาดเสียวก็เสี่ยงจ่ายค่าประกันแพง ธุรกิจนี้เกิดขึ้นแล้วที่ญี่ปุ่นและยุโรป ยังไม่มีในไทย
กรณีศึกษาที่ 7 Wealthfront ธุรกิจฟินเทคแนว Robo-Advisor ที่ใช้ AI มาช่วยเทรดหุ้นและจัดสรรสินทรัพย์ในกองทุนให้มนุษย์ โดยทำหน้าที่วางแผนสินทรัพย์ให้ลงทุนไปตามเป้าและความเสี่ยงที่รับได้ โดย AI จะช่วยจับจังหวะ เลือกหุ้น และควบคุมให้การลงทุนเป็นไปตามสัดส่วนที่เหมาะสม ได้รายได้จากค่าคอมมิชชั่น
อย่างกรณีของ Wealthfront นี้จะให้ผลตอบแทนสูงกว่า เข้าใจคนมากกว่า ทำให้ธนาคารต่าง ๆ ในอเมริกาต่างก็ตกที่นั่งลำบาก เพราะฟินเทคนำเทคโนโลยีมาแก้ปัญหา pain point ของคนได้ดีกว่า
Venture Capital มองทิศทางและโอกาสการลงทุนกับ Fintech Startup ไทย
คุณกัมปนาท วิมลโนท (จอม) - Head of Investment ของ Krungsri Finnovate ได้แชร์ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในบรรดาบริษัทสตาร์ทอัพที่เกิดขึ้นในอาเซียนนั้น ไม่มี Unicorn จากประเทศไทยเลย…
ก่อนอื่นขออธิบายว่า Unicorn เป็นศัพท์ในแวดวงสตาร์ทอัพ ถ้าแปลเป็นไทยง่าย ๆ ก็เหมือนคำว่า “ช้างเผือก” หมายถึง บริษัทสตาร์ทอัพดาวเด่นที่ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าจับตามอง
สาเหตุที่เป็นไปได้ว่า ทำไมยังไม่มี Unicorn จากไทยนั้น คุณจอมวิเคราะห์ให้ฟังว่าอาจเกิดจาก 3 สาเหตุใหญ่ ๆ ด้วยกันคือ
- ขาดบุคลากรด้าน Tech และ Software Engineer เก่ง ๆ (หมายถึงคนเขียนโค้ดเก่ง ๆ) และในไทยบุคลากรด้านนี้มีรายได้น้อยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน
- ขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ มีบางหน่วยงานจากภาครัฐให้การสนับสนุนบ้าง แต่ภาพรวมยังกระจัดกระจาย
- นักลงทุนกับบริษัทที่เก่งเรื่อง Tech ยังไม่ได้จับมือกัน
ส่วนเรื่องแหล่งเงินทุนของบรรดาบริษัทสตาร์ทอัพ คงหนีไม่พ้น Venture Capital (VC) และ Initial Coin Offering (ICO) ครับ แต่เทรนด์การระดมทุนผ่าน ICO นั้นมาแรงมาก เพราะทำได้ง่าย แต่ก็มีความเสี่ยงที่ควรทำความเข้าใจก่อนการลงทุนเช่นกัน
Venture Capital (VC) คือ ธุรกิจเงินร่วมลงทุน เป็นแหล่งทุนที่ธุรกิจสตาร์ทอัพมักจะมองหา ซึ่งนอกจากให้เงินมาทำธุรกิจแล้ว VC ยังส่งเสริมให้คำปรึกษาเพื่อให้ธุรกิจที่ร่วมส่งเสริมนั้นเติบโตได้อย่างรวดเร็ว มีกำหนดระยะเวลาการลงทุนที่แน่นอนในรูปแบบกองทุน 3-5 ปี นานสุดไม่เกิน 10 ปี ซึ่งกรุงศรีฟินโนเวตเป็นหนึ่งในนี้ครับ
ส่วน Initial Coin Offering (ICO) คือรูปแบบการระดมทุนเหมือนกัน แต่ต่างจาก VC ตรงที่ ICO เป็นการระดมทุนผ่านคนทั่วไป ใครก็ได้ที่มี Bitcoin อยู่ในมือ
ICO เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงมาก และนักลงทุนไม่มีหลักประกันอะไรเลยว่าจะได้เงินลงทุนกลับมา แต่เนื่องจากระดมทุนได้ง่าย จึงได้รับความนิยมแซงหน้า VC ไปแล้ว
ข้อแตกต่างระหว่าง ICO กับ VC/IPO คือ
- ICO มีความน่าเชื่อถือต่ำกว่า IPO/VC
- ระยะเวลาระดมทุน: สั้นมาก
- ความเสี่ยงสูงมาก
Krungsri Rise
นักกีฬาทีมชาติยังมีโค้ช สตาร์ทอัพเองก็ต้องมีพี่เลี้ยงเหมือนกัน จะได้ฟิตซ้อมเตรียมออกสนามไปสู่โลกธุรกิจได้อย่างมั่นคงมากขึ้น
ไทยต้องมีสตาร์ทอัพเยอะขึ้น เพื่อให้ 1% ในนั้นมีโอกาสเป็น Unicorn ได้ ซึ่งตอนนี้ทางกรุงศรีฟินโนเวตเองก็พยายามผลักดันและให้ทุนสนับสนุนฟินเทคสตาร์ทอัพของไทยมาอย่างต่อเนื่อง คุณแซมบอกว่า ตอนนี้ Krungsri Rise กำลังจะเปิดรับสมัคร Batch 3 นะครับ โอกาสที่จะก้าวมาเป็นฟินเทคสตาร์ทอัพที่โดดเด่นรายถัดไปอาจเป็นคุณ ได้เข้าแคมป์ติวเข้มกับกูรูของทางกรุงศรี หากใครสนใจลองติดตามความเคลื่อนไหวได้ทางเว็บไซต์นี้ดูครับ
Krungsri Rise
ภาพ : เมนเทอร์และผู้เชี่ยวชาญจากทางกรุงศรีและด้านดิจิทัล และรายชื่อบริษัทสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการ Krungsri Rise ใน Batch 2
ภาพ : บริษัทสตาร์ทอัพที่เข้าโครงการ Krungsri Rise ใน Batch 2
นอกจากกูรูของทางกรุงศรีฟินโนเวตแล้ว บรรยากาศในงานยังมี CEO จากสตาร์ทอัพ 4 ท่าน มาร่วมแชร์ประสบการณ์การทำสตาร์ทอัพให้เราได้ฟังกันด้วยครับ...
อะไรทำให้ธุรกิจอาหารที่แสนดุเดือด ฝ่าด่านคนรักสุขภาพได้อย่างง่ายดายแค่ปลายนิ้ว
คุณดาริน สุทธพงศ์ (อิง) – CEO บริษัท Indie Dish แอพพลิเคชั่นที่รวบรวมร้านค้าอาหารคลีนมาไว้ด้วยกัน ทำให้เราได้เลือกสั่งอาหารคลีนได้ง่าย ๆ ในเว็บเดียว เล่าให้เราฟังว่า ตนเคยทำบริษัทสตาร์ทอัพมาแล้วถึง 4 บริษัทตั้งแต่ตอนอยู่สหรัฐฯ ซึ่งพบว่ายากที่จะประสบความสำเร็จ จนภายหลัง ตนได้ไปทำงานที่ Amazon และที่
นั่นทำให้เกิด Passion ขึ้นมาว่า “อะไรก็เกิดขึ้นได้ถ้าเราพยายามมากพอ”
พอกลับมากรุงเทพฯ คุณอิงพบว่าร้านอาหารคลีนในไทยมีหลายเจ้ามาก เลยเริ่มสั่งทาน แต่พบปัญหาความยุ่งยากในการสั่ง เลยเป็นที่มาของแอปฯ Indie Dish ที่รวมร้านอาหารคลีนมาไว้ในที่เดียว พร้อมกับคิดค่าจัดส่งที่ไม่แพงจนเกินไป
ช่วงแรก ๆ เลยทดลองทำเว็บเดโม ปรากฏว่ามีร้านค้าสนใจเข้าร่วมเยอะมาก และตอนนี้มีลูกค้าสั่งอาหารเข้ามามากมายผ่านแอพฯ นี้
แง่คิดการทำสตาร์ทอัพจากคุณอิง
- Do not just follow the trend – understand it! อย่าไปทำอะไรเพียงแค่อยากตามเทรนด์เท่านั้น เพราะเราต้องเข้าใจมันด้วย
- Choose the delivery model wisely ธุรกิจส่งอาหาร เป็นธุรกิจที่ต้องควบคุมระบบการจัดส่งให้ดี เพราะการคุมเมสเสนเจอร์ไม่ใช่เรื่องง่าย
- Think through about the packaging ให้ความสำคัญกับบรรจุภัณฑ์ใส่อาหาร
- People are the key ingredient คนทำอาหาร มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด
- Running a startup is not for everyone เป็นข้อที่ต้องยอมรับว่า การทำสตาร์ทอัพอาจไม่ใช่เรื่องที่เหมาะกับทุกคน เพราะต้องแลกมาด้วยอะไรหลายอย่าง
อะไรที่ทำให้ Zip Event เป็นที่ยอมรับไม่เฉพาะแค่เมืองไทย แต่ยังสยายปีกไปทั่วอาเซียน
คุณภาโรจน์ เด่นสกุล (เจ) - CEO & Co-Founder ของ Zip Event ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเชื่อมโลกชุมชนคนอีเวนต์ เล่าให้เราฟังถึงประวัติความเป็นมาของการจัดตั้งบริษัทสตาร์ทอัพ Zip Event ขึ้นมาว่า เมื่อ 3 ปีก่อนสมัยที่ตนยังเป็นพนักงานบริษัท เล็งเห็นว่าในไทยยังไม่มีการรวบรวมงานอีเวนต์มาไว้ในแพลตฟอร์มเดียว และปัญหานั้นกลายเป็นต้นกำเนิดของ Zip Event ที่
อยากรวมพลคนจัดงานและคนอยากไปงานอีเวนต์มาไว้ในที่เดียวกัน
หลังจากได้เริ่มทำแอปพลิเคชัน Zip Event และได้เข้าไปพูดคุยกับบรรดาออแกไนเซอร์ ทำให้คุณเจยิ่งเห็น pain point ของเหล่าออแกไนเซอร์ผู้จัดงานอีเวนต์มากขึ้น อาทิเช่น ทำอย่างไรให้ระบบลงทะเบียนไม่ล่ม ทำอย่างไรให้รองรับคนเข้างานได้ในจำนวนมาก ฯลฯ
คุณเจ ฝากแนวคิดถึงสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ 6 ข้อด้วยกัน ดังนี้
- Focus on Customers ให้โฟกัสว่าเราต้องทำฟีเจอร์ที่คนต้อง “ยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อสิ่งนั้น”
- Action bias – prototyping and testing อยากทำอะไรให้ลองทดสอบดูก่อนด้วยบัดเจ็ทที่น้อยที่สุด
- Cash flow: โฟกัสที่สภาพคล่องทางการเงินตั้งแต่วันแรกในการทำสตาร์ทอัพ คือทำแล้วต้องมีเงินเข้ามา
- Know when to Say No: เรียนรู้ที่จะปฏิเสธบางโอกาส เพื่อที่จะเลือกบางสิ่งเท่านั้น
- Partnership ที่ดี เหมือนคู่ชีวิตที่ดี
- Love your Team: ใส่ใจทีมงานทุก ๆ คน เพราะพวกเขาสำคัญที่สุด
ธุรกิจที่ทุกคนบอกว่า “เจ๊งแน่” อะไรที่ทำให้เธอไม่ยอมแพ้ จนกลายเป็นความสำเร็จของแบรนด์ที่มีผู้ใช้บอกต่อมากที่สุด
คุณสิรโสมย์ บริสุทธิ์สุวรรณ์ (สิ) – CEO ของแอปพลิเคชันมาแรง U Drink-I Drive ที่เป็นแอปฯ เรียกคนขับรถส่วนตัวมาขับรถของเราในยามที่เราไม่สามารถขับรถเองได้ เช่น หลังจากดื่มหนักจากงานปาร์ตี้ หรือท่องราตรี เป็นต้น ซึ่งตอนนี้ได้พัฒนาให้มีบริการ U Sit I Drive ด้วยเพื่อขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มคนที่อยากใช้บริการเรียกคนขับรถตอนกลางวัน
คุณสิแชร์มุมมองความสำคัญของธุรกิจนี้ว่า ประเทศไทยจัดว่ามีอุบัติเหตบนท้องถนนสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก หากคำนวณออกมาเป็นมูลค่าการสูญเสียทางเศรษฐกิจแล้ว ตัวเลขจะอยู่ที่ 232,000,000 บาทต่อปี ซึ่งนับเป็นมูลค่ามหาศาล ประกอบกับตนเป็นคนเข้าใจ Insight ของคนที่ชอบไปเที่ยวสังสรรค์ตอนกลางคืนว่า คนกลุ่มนี้ไม่ชอบการเรียกแท็กซี่กลับ เพราะคนกลุ่มนี้จะขับรถยนต์ของตนเองมาทำงานทุกวันเนื่องจากบ้านอยู่ไกล และจะขับรถตัวเองไปเที่ยวสังสรรค์ตอนกลางคืนต่อ มากกว่าการจอดรถทิ้งไว้แล้วเรียกแท็กซี่
คุณสิเล่าให้เราฟังว่า ตอนแรกที่มีความคิดจะทำธุรกิจนี้ ได้คิด Business Model นี้ตั้งแต่อายุ 23 ปีสมัยเรียน และอยากสานต่อให้เกิดขึ้นจริง พอไปคุยกับใครก็มีแต่คนบอกว่าเป็นธุรกิจที่ “ไม่น่าจะไปรอด” เพราะคนไทยหวงรถ คงไม่อยากให้คนแปลกหน้ามาขับรถของตัวเอง
แต่เนื่องจากคุณแม่ให้การสนับสนุน คุณสิเลยเดินหน้าทำสตาร์ทอัพ U Drink I Drive เธอเล่าว่า ในช่วง 2 ปีแรกทรมานมาก เพราะยอดคนจองรถบางเดือนมีเพียง 9 คนเท่านั้น จึงต้องลงไปพูดคุยสอบถามผู้บริโภคว่าทำไมถึงไม่ใช้บริการ U Drink I Drive จนได้มุ่งมั่นพัฒนาฟีเจอร์ที่ตอบโจทย์ pain point ของลูกค้ามากขึ้น อาทิเช่น
- Female driver for ladies: เพื่อความสบายใจของลูกค้าสาว ๆ สามารถเลือกคนขับรถเป็นผู้หญิงได้
- GPS tracking record camera: ทางบริษัทสามารถตามแทรคเส้นทางของคนขับได้ขณะทำงาน ว่าไปรับลูกค้าจริงหรือไม่ หรือขับรถออกนอกเส้นทางหรือเปล่า
- 5-star limousine training standard: คนขับทุกคนเป็นกุญแจสำคัญของธุรกิจนี้ คุณสิจึงให้ความสำคัญกับการคัดสรรและเทรนนิ่งคนขับรถอย่างมาก นอกจากจะขับรถดีแล้ว ต้องมุ่งเทรนให้คนขับมีหัวใจบริการ ทำงานเสมือนบริการระดับห้าดาว โดดเด่นด้วยยูนิฟอร์มสูทสีฟ้า ที่ทำให้คนขับรู้สึกเหมือนเป็นฮีโร่ที่ได้เข้าไปช่วยเหลือลูกค้าให้ได้รับความปลอดภัยในการกลับบ้านตอนกลางคืน
- Full insurance coverage: มีประกันภัยให้รถของลูกค้าที่รับบริการทุกคัน ทุกความเสียหายที่มาจากพนักงานขับรถ จะได้รับการคุ้มครอง
คุณสิพบว่า ลูกค้าของ U Drink I Drive ใช้รถหลากหลายประเภทมาก และหลายครั้งก็เป็นรถซูเปอร์คาร์ จึงได้เพิ่มวงเงินประกันให้ครอบคลุมประเภทรถยนต์เหล่านี้ด้วย
จากที่มียอดจองคนขับรถไม่ถึงสิบคนต่อเดือน ปัจจุบัน U Drink I Drive มียอดเรียกใช้บริการคนขับรถถึง 7,000 รอบต่อเดือนแล้ว
พลิกสูตรสำเร็จ จากร้านก๋วยเตี๋ยวแสนธรรมดา ให้เป็น A Must บน Social Media
หากใครไปเที่ยวเพชรบุรีแล้วไม่แวะชิมก๋วยเตี๋ยวร้านเจ๊กเม้ง ถือว่ายังไปไม่ถึงนะครับ
ดร.ธีรศานต์ สาหัสสพาศน์ (ไอซ์) – ผู้บริหารร้านเจ๊กเม้ง ร้านก๋วยเตี๋ยวชื่อดังเมืองเพชรบุรี ได้เล่าถึงการพยายามรีแบรนด์ก๋วยเตี๋ยวเจ๊กเม้ง มาเป็น JM Cuisine จนประสบความสำเร็จ รองรับคนได้ 1,200 ที่นั่ง และกลายเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ที่นักท่องเที่ยวต้องแวะมาเช็คอิน โดยสรุปหลักการดังนี้
- สังเกตพฤติกรรมของลูกค้า คือโอกาสธุรกิจ คุณไอซ์เล่าให้ฟังว่า มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ตนสังเกตว่าเมนูของทางร้านมักจะหายบ่อย ๆ เลยสงสัยว่าทำไมคนถึงชอบหยิบเมนูของทางร้านติดไป ภายหลังเลยแก้ปัญหานี้โดยการจัดทำเมนูขนาดใหญ่ จนกลายเป็น Signature ของร้าน และถ่ายรูปเมนูอาหารให้ดูน่าทาน
คุณไอซ์พบว่า ผลคือลูกค้าที่มาร้านชอบถ่ายเซลฟี่กับเมนู ทำให้เกิดการบอกต่อทางโซเชียลมีเดีย และลูกค้าใหม่มักจะสั่งอาหารมาถ่ายรูปเหมือนในเมนูที่เขาเห็นจากโซเชียลมีเดียด้วย
- จีนอยู่ที่ไหน ให้โฟกัสไปที่นั่น การจับกลุ่มลูกค้าชาวจีนเป็นโอกาสหนึ่งในการเติบโตของทางร้าน แต่ต้องอาศัยความเข้าใจในพฤติกรรมของลูกค้าชาวจีน เช่น เขาชอบเล่นแอปพลิเคชันอะไร เขาชอบสีอะไร เขาถือเรื่องอะไร ฯลฯ
ตอนแรก ๆ ทางร้านทำโลโก้และจัดธีมร้านเป็นลายขาว-ดำตัดกัน จึงได้รู้ว่าคนจีนถือเรื่องสีขาวดำว่าเป็นสีโศกเหมือนงานศพ คุณไอซ์คอยสังเกตว่าเขาชอบสีอะไร ลายอะไร กลายเป็นที่มาของลายดอกไม้สีเหลือง แดง น้ำเงิน เป็นลายใหม่ของร้าน
- เข้าใจ Consumer Journey: คุณไอซ์ถึงกับตามไปสังเกตพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวชาวจีนถึงเชียงใหม่และสนามบิน ว่าเขานิยมซื้ออะไรติดไม้ติดมือกลับบ้าน เวลาเขาเลือกซื้อของ เขาชอบหยิบอะไร หรือใช้งานแอปพลิเคชันอะไรบ้าง และทางร้านจะสร้างภาพจำให้เขาได้ด้วยวิธีไหน เป็นต้น
สุดท้าย คุณไอซ์ได้ฝากถึงสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ว่า “ปัญหาเป็นเพียงเรื่องใหม่ที่เราเพิ่งเคยเจอ” หากใครอยากก้าวเข้ามาเป็นสตาร์ทอัพฟินเทค ก็อย่ายอมแพ้ในช่วงแรก ๆ เสียก่อนนะครับ เพราะไม่แน่ วันหนึ่งสตาร์ทอัพของคุณอาจเป็น Unicorn ตัวต่อไปในเอเชียก็เป็นได้
หากคุณมีไอเดียที่จะสร้างบริษัทสตาร์ทอัพ ลองศึกษารายละเอียดและหาผู้ลงทุนได้ทางลิงก์นี้ครับ
Krungsri Finnovate