เปิดใจ Startup ไฟแรง กับเคล็ดลับความสำเร็จของ หมู ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ แห่ง Ookbee

เปิดใจ Startup ไฟแรง กับเคล็ดลับความสำเร็จของ หมู ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ แห่ง Ookbee

By ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ (Ookbee)

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่าธุรกิจ “Startup” กันมาบ้างแล้ว แต่อาจจะยังไม่ทราบว่าธุรกิจ Startup นั้นแตกต่างจาก SME อย่างไร สิ่งหนึ่งที่ Startup แตกต่างจากธุรกิจ SME นั้นก็คือ Startup เป็นมากกว่าธุรกิจขนาดเล็ก และเป็นธุรกิจที่ออกแบบมาเพื่อการเติบโตแบบก้าวกระโดด มีวิธีสร้างรายได้ที่สามารถหาเงินแบบทำซ้ำและขยายได้ง่าย หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ เป็นธุรกิจที่มีจุด start เล็ก ๆ แล้ว up to the star อย่างรวดเร็ว นั่นเอง ซึ่งจะแตกต่างจากธุรกิจ SME ที่เจ้าของทำธุรกิจเอง ลงทุนเอง และมีการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป

Ookbee อีบุ๊คแพลตฟอร์มสัญชาติไทยที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในบรรดาผู้ที่ชื่นชอบการอ่าน ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของธุรกิจ Startup ที่ประสบความสำเร็จ ด้วยยอดขายกว่าพันล้าน จากผู้อ่านกว่าเจ็ดล้านคนภายในเวลาเพียงไม่กี่ปี ปัจจุบัน Ookbee ได้ขยายฐานธุรกิจไปยังประเทศต่าง ๆ รวมทั้งเวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ด้วยแนวคิดในการเป็นคนกลางระหว่างผู้ซื้อสิ่งพิมพ์ดิจิตอลกับสำนักพิมพ์ การมองเห็นช่องว่างโอกาสทางธุรกิจในตลาดท้องถิ่น บวกกับประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้าน IT ของคุณหมู ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ซีอีโอและผู้ก่อตั้งบริษัท และการสนับสนุนจากบริษัทร่วมทุน อาทิ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ทำให้ Ookbee ได้เติบโตอย่างก้าวกระโดดจนถึงปัจจุบันนี้
 

จุดเริ่มต้นของ Ookbee 


“ผมเริ่มทำ Ookbee มาตั้งแต่ปี 2553 ในช่วงที่แอปพลิเคชั่นบน iPhone และ iPad เข้ามาในประเทศไทย โดยเห็นว่าในตอนนั้นอีบุ๊คในเมืองไทยยังไม่มีใครทำ จึงรีบนำแนวคิดและคอนเซ็ปต์ของการทำอีบุ๊คออกมาสู่ตลาดในประเทศไทย เริ่มจากการติดต่อคู่ค้า คือ สำนักพิมพ์ นำเสนอไอเดียให้กับบริษัทร่วมลงทุนต่าง ๆ โดยวางแผนธุรกิจด้วยความรู้และประสบการณ์ที่สั่งสมมาจากการรับเขียนโปรแกรมตั้งแต่สมัยวัยเด็ก ประสบการณ์ในการทำงานด้าน IT และประสบการณ์ของทีมผู้ก่อตั้งในการเปิดบริษัท IT Works มาก่อน ทำให้เราเริ่มต้นได้เร็วขึ้น จน Ookbee เริ่มเปิดใช้งานจริงในปี 2554 เป็นต้นมา”
ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ (Ookbee)


เคล็ดลับความสำเร็จของ Ookbee คืออะไร 


“ผมมองว่า Ookbee มีจุดแข็งอยู่ที่ความเร็วในการนำเสนอสิ่งใหม่ ๆ ให้กับลูกค้า เนื่องจากเราเป็น Startup เราสามารถปรับเปลี่ยนตัวเองไปตามความต้องการของลูกค้าและคู่ค้าได้มาก คือ Ookbee ใส่ใจทั้งลูกค้าและสำนักพิมพ์ ด้วยการนำเสนอหนังสือหลากหลายให้กับผู้อ่าน สามารถเลือกชำระค่าบริการตามต้องการทั้งรายวันหรือรายเดือน ตลอดจนพัฒนาแฟลตฟอร์มรองรับให้สะดวกรวดเร็วตอบสนองพฤติกรรมการใช้งานอย่างสูงสุด นอกจากนี้การเป็นเจ้าของเทคโนโลยีของตัวเอง คือ เราเลือกทำในสิ่งที่เราถนัดนั่นคือการสร้างแฟลตฟอร์ม ด้วยประสบการณ์ของทีมผู้ก่อตั้งในวงการ IT ถือเป็นจุดแข็งที่สร้างอำนาจต่อรองทางการตลาดได้ การมองเห็นช่องวางทางการตลาดทางสื่อดิจิตอลในภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากบริษัทอีบุ๊คยักษ์ใหญ่ภาษาอังกฤษอย่าง Kindle หรือ Amazon ยังไม่เข้ามาทำตลาดอีบุ๊คที่เป็นภาษาท้องถิ่น จึงทำให้ Ookbee สามารถเติบโตในตลาดอีบุ๊คได้อย่างรวดเร็ว”


คิดว่าวงการ Startup ของไทยมีการพัฒนาอย่างไร 


“ผมมองว่าธุรกิจ Startup เป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง แต่ก็ให้ผลตอบแทนสูงด้วยเช่นกัน สำหรับประเทศไทย ธุรกิจ Startup เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งธุรกิจ Startup ที่ดีฝีมือคนไทยนั้นมีอยู่มาก ไอเดียและแนวคิดต่าง ๆ ก็ไม่แพ้ชาติอื่นเลย”
“ข่าวดีสำหรับวงการ Startup ไทยก็คือ เราได้มีการก่อตั้งกองทุน 500 Tuk Tuks ขึ้นมา ผม และคุณ กระทิง-เรืองโรจน์ พูนพล หนึ่งในคนไทยที่เคยทำงานในกูเกิลที่ Silicon Valley เรามีความฝันที่จะสร้าง Silicon Valley ให้เกิดขึ้นจริงที่ประเทศไทย โดยกองทุน 500 Tuk Tuks นี้ เกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีที่เป็น Startup ไทยเป็นหลัก โดยที่ผ่านมาได้ลงทุนใน Startup ไทยไปแล้ว 10 ราย และมีเป้าหมายจะลงทุนให้ได้ 60-70 Startup ไทย เพื่อสร้าง Ecosystems ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยโดยเร็ว”
 

หัวใจในการทำตลาดเพื่อเพิ่มยอดขาย มีอะไรบ้าง 


“สิ่งที่ทำให้ Ookbee แตกต่างและสร้างยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น คือการที่เราศึกษาและเข้าใจพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภค หรือผู้อ่านอย่างแท้จริง โดยการนำเสนอความหลากหลายให้แก่ตัวอีบุ๊ค ส่วนเรื่องการทำตลาดเราทำออนไลน์ ร้อยละ 90 เพื่อทำการโปรโมท Ookbee ในสื่อออนไลน์ อย่างเช่น Facebook หรือ LINE@ เป็นต้น เรื่องกลยุทธ์การตลาด เราชูเรื่องประโยชน์ที่ทางลูกค้าจะได้รับในราคาที่ถูกกว่า ประหยัด และเร็วกว่า ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานได้จริงเป็นหลัก”
 

คิดว่า startup ไทย ยังขาดอะไร และควรเสริมอะไร 


“ผมว่าประเทศไทยยังให้คุณค่ากับ ‘ความล้มเหลว’ มากเกินไป จนทำให้หลายคนไม่กล้าที่จะเสี่ยง หรือหยุดความฝันและเลิกล้มความตั้งใจเมื่อต้องเจอกับความผิดพลาดหรือมีความล้มเหลวเกิดขึ้นอย่างน่าเสียดาย เพราะการไม่ทำอะไรเลยผมว่ามันมีต้นทุนสูงกว่านะ ในทางตรงกันข้ามผมว่าความล้มเหลวมันสอนให้เราเรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่างด้วยซ้ำไป คุณสมบัติอย่างหนึ่งของ Startup ก็คือ ‘คุณต้องมีความอึด ต้องไม่เลิกล้มความตั้งใจ เพราะถ้าล้มเลิกทุกอย่างก็จบ แต่ถ้าไม่เลิกก็ยังมีโอกาสสำเร็จ’ เริ่มแรกผมเองก็เคยมีความรู้สึกท้อแท้ในสิ่งที่ทำ มองว่าเพื่อนคนอื่นเขามีอนาคตที่ดีกันหมดแล้ว เรายังมัวทำอะไรอยู่ แต่ด้วยความเชื่อมั่นและไม่ล้มเลิกอะไรง่าย ๆ ผมจึงสู้มาโดยตลอด และทำให้ผมก้าวมาจนถึงทุกวันนี้”
“ไม่มีความสำเร็จไหนที่จะได้มาโดยง่าย และไม่ใช้เวลา ดูอย่าง Facebook ที่ต้องใช้เวลา 10 ปี หรือ LINE ที่ใช้เวลา 5 ปี กว่าจะมาเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์ค และแอปพลิเคชั่นยอดนิยมของคนทั่วโลก Ookbee ก็ใช้เวลา 5 ปี เช่นกัน”


อยากฝากอะไรกับคนรุ่นใหม่ที่สนใจมาทำธุรกิจ startup 


“อย่าไปคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเรื่องง่าย และอย่ารอความสมบูรณ์แบบ เพราะคุณอาจเสียโอกาสให้กับผู้ที่มองเห็นช่องว่างและเร็วกว่าคุณได้ทุกเมื่อ ในการทำธุรกิจให้ยึดในส่วนที่เป็นความสามารถหรือถนัดของเราเป็นหลัก และส่งต่อในส่วนอื่น ๆ ให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ เป็นผู้ดูแล และที่สำคัญ อย่ายอมแพ้อะไรง่าย ๆ เรียนรู้จากข้อผิดพลาด นำมาเปลี่ยนแปลงแก้ไข และเชื่อมั่นว่าคุณสามารถทำได้ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้คุณประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้น” คุณหมู ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ แนะนำเคล็ดลับและเบื้องหลังความสำเร็จของ Ookbee
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา