Startup แบบไหน ที่พิชิตใจ VC

Startup แบบไหน ที่พิชิตใจ VC

By Krungsri Guru

หนึ่งในปัญหาของหลาย ๆ Startup ที่ต้องการขยายธุรกิจอย่างก้าวกระโดดคงหนีไม่พ้นเรื่องเงินลงทุน โดยหนึ่งในแหล่งลงทุน คือ การนำเสนอธุรกิจกับ VC (Venture Capital) หรือบริษัทจัดตั้งกองทุนที่ระดมเงินจากนักลงทุนเพื่อมาลงทุนในธุรกิจ Startup โดยเงินลงทุนจาก VC นี้มักจะเป็นเงินก้อนใหญ่ ดังนั้น เพื่อจำกัดความเสี่ยง VC จึงมักจะให้ความสนใจ Startup ที่ดำเนินธุรกิจมาได้ระยะหนึ่งแล้ว รวมถึงมีแนวโน้มและศักยภาพที่จะขยายตลาดได้อย่างรวดเร็ว หรือถ้ายังไม่ได้ทำตลาดจริง ๆ ตัว Product ก็จะต้องเด่น จน VC มั่นใจว่าเงินที่ลงทุนไปนั้นคุ้มค่า

วันนี้ เรามีลักษณะของ Startup ที่จะพิชิตใจ VC มาฝากกันครับ 


 
Product มีความโดดเด่น สามารถแก้ปัญหาได้อย่างสร้างสรรค์ และมีจุดเด่นที่ลอกเลียนแบบได้ยาก โดยทั่วไป Startup มีเวลาเพียงไม่กี่นาทีในการนำเสนอโครงงานต่อ VC หรือที่เรียกกันว่า การ pitch หากคุณยังไม่มี product ที่วางขายในตลาด การทำสินค้าตัวอย่างจะช่วยให้ VC เข้าใจสินค้าหรือบริการได้อย่างรวดเร็วขึ้น
 
Market มีตลาดรองรับขนาดใหญ่ และมีความเป็นไปได้ที่ product จะแจ้งเกิดในตลาดนั้น ๆ โดยหากมีคู่แข่งในตลาด ทางทีม Startup จะต้องแสดงให้ VC เห็นว่าคุณมีจุดเด่นเหนือกว่าคู่แข่งอย่างไร
 
Team ทีมงานมี passion ใน product ที่นำเสนอ มีความสามารถในการแก้ไขปัญหา และปรับตัวกับสิ่งรอบตัวได้อย่างเหมาะสม รู้วิธีที่จะเสริมจุดแข็ง และรู้วิธีที่จะปิดจุดด้อย โดยทั่วไปแล้ว ทีมงานก่อตั้ง Startup มักจะเป็นการรวมกลุ่มเล็ก ๆ ประมาณ 3-5 คน ซึ่งแต่ละคนจะมีความเชี่ยวชาญคนละด้าน เพื่อครอบคลุมหน้าที่ทั้งหมดที่สำคัญ เช่น การวางแนวการดำเนินงาน, แผนการเงิน, การดูแลด้านเทคโนโลยี, ด้านการทำตลาด โดยทั้งหมดนี้ คุณต้องแสดงให้ VC เห็นได้ว่าคุณมีทีมงานที่ดี มีความสามารถที่จะผลิตสินค้า และทำธุรกิจให้เป็นที่ยอมรับของตลาดได้ อีกส่วนหนึ่ง คือ การมีทีมงานที่มี background ที่ดี ย่อมช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจจากทาง VC ได้มากขึ้นเช่นกัน
 
Marketing Plan ของดีจะขายดีได้ จำเป็นต้องมีแผนการตลาดที่ดี และแผนการตลาดที่ดีไม่จำเป็นจะต้องใช้เงินลงทุนสูง ซึ่งแผนการตลาดหนึ่ง ๆ อาจจะเหมาะกับสินค้าบางอย่างเท่านั้น ดังนั้น Startup จำเป็นต้องมองกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนเพื่อเน้นสร้างกลยุทธ์การตลาดให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย
 
Tracing มีการทดสอบตลาด ด้วยการเสนอขายสินค้าในตลาดกลุ่มเล็ก ๆ เพื่อดูการตอบรับของกลุ่มลูกค้า ทั้งยังเป็นการตรวจสอบดูว่าแผนการตลาดที่ตั้งไว้เหมาะสมและได้ผลหรือไม่ หาก Startup มีสินค้าที่มีผู้ใช้งานในตลาดอยู่บ้างแล้ว จะยิ่งทำให้ความเป็นไปได้ของธุรกิจดูชัดเจนมากยิ่งขึ้น
 
Business Model มีแผนการทำธุรกิจที่เหมาะสมเพื่อสร้างกำไรอย่างยั่งยืน การเขียน Business Model ช่วยให้ startup มองธุรกิจได้รอบด้าน เช่น คุณค่าของสินค้าที่นำเสนอ, กลุ่มลูกค้า, ช่องทางการจำหน่าย, กิจกรรมในการทำธุรกิจ, ทรัพยากรที่ต้องใช้ โดยทุกข้อมูลและสมมติฐานในแผนงานนั้นต้องตั้งอยู่บนโลกตามความเป็นจริง
 
Financial Plan นอกจาก Business Model จะช่วยตอบคำถามในแง่ธุรกิจแล้ว Startup จำเป็นต้องมีการวางแผนเรื่องการเงินด้วย อย่าลืมครับว่า จุดประสงค์ของคุณ คือ การขอเงินทุนจาก VC และด้วยความจริงที่ว่า การลงทุนต้องหวังกำไร ดังนั้นแผนการเงินจะเป็นตัวที่แสดงให้ VC เข้าใจว่าคุณต้องการเงินลงทุนเท่าไหร่ เงินทุนที่ขอไปจะถูกนำไปใช้อย่างไรบ้าง และจะสร้างรายได้อย่างไร รวมถึงการคาดการณ์ถึงผลกำไรที่จะได้รับในอนาคต เช่นกันครับ อย่าลืมว่า ทุกตัวเลข เช่น การคาดการณ์รายได้ในอนาคตควรจะตั้งอยู่บนสมมติฐานที่เหมาะสม ไม่เข้าข้างตัวเองมากเกินไป (อ่านบทความด้านธุรกิจเพิ่มเติมได้ที่นี่)
สุดท้ายนี้ อย่าลืมนะครับว่า VC นั้น มุ่งเน้นการลงทุนเพื่อทำกำไรเป็นหลัก ดังนั้น นอกจากการมี Product ที่ดีแล้ว Startup ยังต้องแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการดำเนินงาน และมีศักยภาพที่พร้อมสำหรับการขยายธุรกิจอย่างก้าวกระโดด
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา