หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ขาดความรู้ด้านการเงินหรือยังไม่มั่นใจว่ามีความรู้รอบมากพอ การใช้บริการ ที่ปรึกษาด้านการเงิน (Financial Advisor) จึงเป็นทางเลือกที่ดีในการหาผู้ช่วยวางแผนการเงินส่วนบุคคลให้เป็นไปตามเป้าหมายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว หรือวางแผนเฉพาะเป้าหมายด้านใดด้านหนึ่งก็ได้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเงินและความต้องการของแต่ละบุคคลที่มีความแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงชีวิต
“การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน”
เป็นคำเตือนที่คุ้นหูคุ้นตา และสามารถนำมาใช้เป็นข้อคิดในการเลือกที่ปรึกษาด้านการเงินได้เช่นกัน
หากคุณไม่อยากเผชิญกับความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากคำแนะนำของที่ปรึกษาด้านการเงินที่ฉ้อฉลและไม่เป็นมืออาชีพ
ดังนั้น ก่อนตัดสินใจเลือกที่ปรึกษาด้านการเงินสักคนหนึ่ง มีเรื่องที่คุณจำเป็นต้องรู้ ดังนี้
1. เข้าใจการทำงานของที่ปรึกษาด้านการเงิน
สิ่งแรกที่คุณควรรู้และทำความเข้าใจก่อนเลือกที่ปรึกษาด้านการเงิน คือ ขอบเขตการทำงานของอาชีพนี้ว่ามีความครอบคลุมเกี่ยวกับการจัดการเงินในด้านใดบ้าง
งานในภาพรวมของที่ปรึกษาด้านการเงินโดยส่วนใหญ่มีดังนี้
- วางแผนค่าใช้จ่ายขั้นพื้นฐาน
ที่ปรึกษาด้านการเงินสามารถแนะนำวิธีจัดการเงินเบื้องต้นในชีวิตประจำวัน เพื่อให้คุณมีรายรับมากกว่ารายจ่าย มีเงินเหลือเก็บออมตามเป้าหมาย และเตรียมพร้อมสำหรับการลงทุนในอนาคต โดยขั้นต้นทุกคนควรมีเงินออมเผื่อฉุกเฉินให้ได้อย่างน้อย 3-6 เท่าของรายจ่ายต่อเดือน
- แนะนำการวางแผนชีวิตระยะยาว
การวางแผนวัยเกษียณถือเป็นเป้าหมายทางการเงินในระยะยาวและมักเกี่ยวข้องกับการลงทุนที่มีความเสี่ยงระดับปานกลางถึงสูง เพื่อเพิ่มมูลค่าเงินให้ได้ผลตอบแทนที่เอาชนะค่าเงินเฟ้อในอนาคตได้ ซึ่งที่ปรึกษาด้านการเงินจะสามารถแนะนำและจัดพอร์ตการลงทุนให้มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับความต้องการและระดับความเสี่ยงของแต่ละบุคคลได้
- วางแผนควบคุมกระแสเงินสด
คนจำนวนมากขาดความรู้และทักษะในการวางแผนควบคุมกระแสเงินสด ทำให้ประสบปัญหาใช้เงินแบบเดือนชนเดือน ไม่มีเงินเหลือเก็บ บ้างก็มีหนี้สินล้นตัวจนจัดการไม่ไหว ในขณะที่บางคนก็มีเงินเหลือใช้จนไม่รู้จะบริหารจัดการอย่างไรให้เกิดประโยชน์ ซึ่งทุกปัญหาข้างต้นนี้ ที่ปรึกษาทางการเงินสามารถช่วยแนะแนวทางและหาทางออกให้ได้ด้วยการวางแผนการใช้จ่ายอย่างเป็นระบบ
- วางแผนภาษี
ที่ปรึกษาด้านการเงินสามารถแนะนำการวางแผนภาษีในแต่ละปี ตั้งแต่การบริหารจัดการรายได้และวิธีลดหย่อนภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงการจัดการเอกสารด้านภาษีให้มีความถูกต้อง ชัดเจน ลดความเสี่ยงและข้อผิดพลาดที่อาจก่อให้เกิดการความเสียหายในภายหลัง
- วางแผนมรดก
ที่ปรึกษาด้านการเงินไม่ได้ทำหน้าที่ให้คำแนะนำเพื่อสร้างความมั่นคงด้านการเงินให้กับคุณในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังช่วยวางแผนระยะยาว เช่น การส่งต่อมรดกที่คุณสั่งสมไว้ให้กับลูกหลานในอนาคตได้อีกด้วย
ทั้งนี้ คุณสามารถอ่านรายละเอียดการทำงานของที่ปรึกษาด้านการเงินเพิ่มเติมได้
ที่นี่
2. สำรวจความต้องการและงบประมาณของตัวเอง
ที่ปรึกษาด้านการเงินมีค่าใช้จ่ายแตกต่างกันไปตามความถนัด ความเชี่ยวชาญ รวมถึงประสบการณ์
ดังนั้น ก่อนที่คุณจะมองหาที่ปรึกษาด้านการเงิน ควรกำหนดงบประมาณไว้ในใจล่วงหน้า และอีกสิ่งสำคัญที่ต้องทำ คือ การสำรวจตัวเองเบื้องต้นว่าคุณต้องการความช่วยเหลือเกี่ยวกับการวางแผนทางการเงินในด้านใดบ้าง
ยกตัวอย่าง ถ้าคุณเป็นคนหนุ่มสาวที่ยังไม่มีครอบครัว อาจต้องการแค่ขอคำปรึกษาในการวางแผนเตรียมพร้อมด้านการเงินหลังเกษียณอายุ
แต่ถ้าคุณเป็นเจ้าของธุรกิจหรือหัวหน้าครอบครัวที่มีลูกยังเล็ก อาจต้องการคำแนะนำในการวางแผนด้านการเงินที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น การวางแผนด้านภาษี การบริหารจัดการกระแสเงินสดหมุนเวียนของธุรกิจ คำแนะนำเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยประเภทต่างๆ เพื่อความคุ้มครองด้านสุขภาพและทุนการศึกษาให้กับบุตรหลาน เป็นต้น
การกำหนดงบประมาณและรู้ความต้องการที่ชัดเจนของตัวเองจะช่วยให้คุณค้นพบที่ปรึกษาด้านการเงินที่เหมาะสมโดยไม่ต้องเสียค่าบริการในสิ่งที่ไม่จำเป็น นอกจากนี้ ยังช่วยให้กระบวนการวางแผนในขั้นตอนต่างๆ เป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับเป้าหมายทางการเงินที่คุณต้องการ
หากคุณยังไม่มั่นใจว่าตนเองต้องการที่ปรึกษาทางการเงินมากน้อยแค่ไหน สามารถอ่านได้ที่
สัญญาณบ่งชี้ว่าคุณต้องการที่ปรึกษาด้านการเงิน
3. ความน่าเชื่อถือของที่ปรึกษาด้านการเงิน
ที่ปรึกษาด้านการเงินที่คุณเลือกจำเป็นต้องมีความน่าเชื่อถือ แต่ความน่าเชื่อถือนั้นจะดูได้จากอะไรบ้าง
- ที่ปรึกษาด้านการเงินควรมาจากองค์กรหรือหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ เพราะเป็นการการันตีได้ในระดับหนึ่งว่าเป็นบุคคลที่ผ่านการคัดเลือกมาแล้วว่ามีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์เป็นที่ยอมรับ นอกจากนี้ ยังสามารถตรวจสอบรายชื่อบริษัทที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.
- ที่ปรึกษาด้านการเงินจำเป็นต้องมีใบรับรองที่เกี่ยวข้อง คือ CFP License (Certified Financial Planner License) เป็นใบอนุญาตประกอบวิชาชีพมาตรฐานสากลจาก Financial Planning Standard Board Ltd. (FPSB) ซึ่งจะออกให้เฉพาะบุคคลที่ผ่านการสอบและฝึกอบรมในหลักสูตรการวางแผนการเงินรูปแบบต่างๆ เท่านั้น รวมทั้งต้องมีประสบการณ์ทำงานที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 3 ปี
- ที่ปรึกษาด้านการเงินต้องสามารถตอบคำถามได้อย่างละเอียด ครอบคลุม และคำนึงถึงประโยชน์ที่ผู้เข้ารับการปรึกษาจะได้รับ เช่น การแนะนำผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ อย่างเป็นกลาง ชี้ให้เห็นถึงข้อดีข้อเสียอย่างรอบด้าน และไม่ผูกขาดเฉพาะผลิตภัณฑ์ของบริษัทตัวเอง
4. ที่ปรึกษาด้านการเงินต้องมีความโปร่งใส
การเลือกที่ปรึกษาด้านการเงินก็เหมือนกับการเลือกนักบำบัดหรือแพทย์รักษาโรคที่คุณกำลังอนุญาตให้พวกเขาช่วยวินิจฉัยและตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญและมีค่ากับชีวิตของคุณ
ด้วยเหตุนี้ คุณจึงจำเป็นต้องเฟ้นหาที่ปรึกษาด้านการเงินที่มีความโปร่งใสในการให้คำแนะนำ สามารถอธิบายทุกข้อสงสัยได้อย่างชัดเจน ไม่พยายามปิดบังสิ่งที่พวกเขากำลังทำ และต้องได้รับความเห็นชอบจากคุณในทุกขั้นตอน รวมทั้งมีเป้าหมายในการทำงานเพื่อให้ลูกค้าได้รับประโยชน์สูงสุดจากการวางแผนด้านการเงิน
5. เลือกที่ปรึกษาที่บริการด้วยใจ
ที่ปรึกษาด้านการเงินที่มีใจรักในการให้บริการมักจะมีความสามารถในการรับฟังและเข้าใจความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง รวมทั้งมีวิธีการสื่อสารที่ช่วยสร้างความไว้วางใจและทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นว่าจะสามารถจัดการกับสถานการณ์ทางการเงินของตัวเองทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้อย่างมั่นคงและมีประสิทธิภาพ
เพราะที่ปรึกษาที่ดีจะไม่เพียงแค่แนะนำว่าคุณต้องทำอย่างไร แต่ต้องช่วยสร้างแรงจูงใจให้คุณอยากทำตามเป้าหมายให้สำเร็จอีกด้วย
สรุป
การเลือกที่ปรึกษาด้านการเงินถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความมั่งคั่งและต่อยอดความมั่นคงทางการเงินให้กับชีวิต คุณจึงจำเป็นต้องค้นหาที่ปรึกษาที่มีความน่าเชื่อถือ ทำงานโปร่งใส และเต็มใจให้บริการ สามารถวางแผนการเงินให้สอดคล้องกับความต้องการและงบประมาณของแต่ละบุคคลในแต่ละช่วงชีวิต
ทั้งนี้ การหาที่ปรึกษาด้านการเงินอาจไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้เวลาพอสมควร แต่ท้ายที่สุด เมื่อคุณค้นพบแล้ว สิ่งที่จะได้รับ คือ คำแนะนำในการบริหารจัดการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมายทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
หากคุณมีคำถามหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับที่ปรึกษาทางการเงินและการวางแผนการเงินอย่างยั่งยืน สามารถติดต่อทีมที่ปรึกษาด้านการลงทุน ผ่านช่องทางฮอตไลน์ได้ที่ 02-296-5959 จันทร์ - ศุกร์ เวลา 9.00 น.- 17.00 น.
บทความโดย
ขวัญชัย รุ่งเรืองกอสว่าง AFPT™
กลุ่มบริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา