ตรุษจีนแล้ว... ถ้าเป็นสมัยเด็ก ๆ หลายๆ คน โดยเฉพาะครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน ต้องแฮปปี้ตั้งหน้าตั้งตารอคอย “อั่งเปา” หรือ “แต๊ะเอีย” กันอย่างใจจดใจจ่อเลยทีเดียว แต่พอเข้าสู่วัยทำงานเท่านั้นแหละ ซองแดงที่เคยได้เป็นกอบเป็นกำจากบรรดาญาติ ๆ ก็โบยบินหายวับไปพร้อมกับอายุ แถมบางคนยังต้องเป็นฝ่ายควักเงินใส่ซองแดงให้ลูก ๆ หลาน ๆ รุ่นต่อไปอีกต่างหาก เอาล่ะสิ จะทำไงดีทีนี้ ช่วงต้นปีก็ใช้เงินกิน เที่ยว ช้อปช่วยชาติจนเพลินอุรา พอมาตรุษจีนก็ยังอดอีก ไม่ได้การล่ะ ต้องรีบมาวางแผน เฮง เฮง เฮง กับ Plan Your Money กันด่วน ๆ เลย
เริ่มจากตั้งเป้าหมายด้านการเงิน
ก่อนอื่นเลยเราต้องมานั่งคิดว่าตัวเองมีเป้าหมายในการใช้ชีวิตอย่างไร อยากได้อะไร และต้องการอะไร เพราะแต่ละคนต่างก็มีรูปแบบการใช้ชีวิต มีภาระที่ต้องรับผิดชอบ มีรายรับ-รายจ่าย และมีไลฟ์สไตล์ที่ต่างกัน เช่น ถ้าเป็นคนโสด สตรอง ไม่มีภาระอะไร เราอาจจะมีเป้าหมายด้านการเงินอีกแบบ แต่ถ้าเป็นคนมีครอบครัวก็จะมีเป้าหมายอีกแบบหนึ่ง เพราะนอกจากค่าใช้จ่ายส่วนตัว ยังต้องมีภาระอื่น ๆ ตามมาอีกมาก ทั้งค่าใช้จ่ายในบ้าน ค่าเลี้ยงดูลูก ค่าเล่าเรียนลูก ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ และเงินหลังเกษียณ เห็นไหมคะ ถ้าเราไม่มีการตั้งเป้าหมายก่อน เราจะไม่มีทางทราบเลยว่าควรจัดการ
วางแผนการเงินของเราอย่างไรดี
วางแผนบริหารการเงินอย่างเป็นระบบ
เมื่อเรารู้เป้าหมายของตัวเองแล้ว คราวนี้ก็มาถึงขั้นตอน
การวางแผนการเงินอย่างชาญฉลาดกันเลย เพื่อที่จะทำให้เราได้รู้ทิศทาง และมีวินัยในการใช้เงิน ตรงนี้อย่างที่บอกตั้งแต่ต้นว่าแต่ละคน แต่ละช่วงวัยก็จะวางแผนแตกต่างกันไป แต่สำหรับมือใหม่เรื่องการเงินอย่างเรา อาจจะต้องใช้เวลาในการศึกษาสักนิด เพื่อความรัดกุมและคุ้มค่าที่สุด มีอะไรบ้างลองไปดูกันเลย
1.
วางแผนแบ่งเงินออกเป็น 3 ส่วน คือ ค่าใช้จ่ายประจำวันในแต่ละเดือน เงินออม และเงินลงทุน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราอยู่ในช่วงเริ่มต้นทำงาน ใช้จ่ายประจำวัน 70% ออม 10% และลงทุนอีก 20% ต่อไปถ้าเราทำงานมาสักพักทุกอย่างเริ่มลงตัวอาจจะค่อย ๆ ปรับสัดส่วนของเงินออมและเงินลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ให้ตรงตามเป้าหมายของแต่ละคน
2.
วางแผนเพิ่มความมั่งคั่ง ควรเริ่มต้นโดยยึดเป้าหมายของเราเป็นหลักว่า เราอยากมีเงินเท่าไร ภายในกี่ปี อยากได้ผลตอบแทนระยะสั้น-ระยะยาว หรือต้องมีเงินสำหรับค่าเล่าเรียนลูกเท่าไรในอนาคต เป็นต้น ปัจจุบันมี
การลงทุนแบบหลากหลายที่รองรับเป้าหมายของเรา ไม่ว่าจะเป็นหุ้น พันธบัตร
กองทุนรวมประเภทต่าง ๆ ฯลฯ แต่ที่สำคัญ คือ เราต้องเข้าใจสุขภาพการเงินในปัจจุบันของเราอย่างถ่องแท้เสียก่อน และถามตัวเองว่ายอมรับความเสี่ยงได้ในระดับไหน
3.
วางแผนเกษียณ ข้อนี้เราจะละเลยไม่ได้เลย ถ้าเวลานั้นมาถึงแล้วเราไม่มีการวางแผนที่ดี อาจจะมานั่งเสียใจที่ไม่วางแผนไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะหลังเกษียณหมายความว่าเราจะไม่มีรายได้ มีแต่รายจ่าย ทั้งค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ และค่าใช้จ่ายด้านไลฟ์สไตล์อื่น ๆ
ตัวอย่างเช่น เกษียณตอนอายุ 60 และคิดว่าจะอยู่ไปอีก 20 ปี ค่าใช้จ่ายเดือนละ 25,000 บาท 1 ปี = 300,000 บาท 20 ปี = 6,000,000 บาท นี่ยังไม่รวมค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายฉุกเฉินอื่น ๆ อีกนะคะ ดังนั้นถ้าเราเริ่ม
วางแผนออมเงิน ลงทุน และ
ประกันภัยตั้งแต่อายุน้อย ๆ อนาคตก็จะไม่ปวดหัวแน่นอน
วินัยทางการเงินสำคัญที่สุด
ถึงเราจะมีเป้าหมาย มีการวางแผนที่ดีเพียงไร แต่ถ้าขาดวินัยแล้วล่ะก็รับรองตกม้าตายทุกราย เพราะฉะนั้นเราทุกคนจึงควรตั้งสติก่อนสตาร์ท พยายามอย่าออกนอกลู่นอกทาง ผัดวันประกันพรุ่ง ออม ๆ หยุด ๆ ใช้จ่ายเกินงบที่กำหนดแต่ละเดือน แต่ถ้าใครเพิ่งเริ่มออมแล้วยังไม่มั่นใจตัวเอง อาจจะใช้วิธีการตัดเงินออมเข้าบัญชีอัตโนมัติทันทีที่เงินเดือนออก ก็เป็นอีกทางเลือกที่ช่วยให้คุณมีวินัยเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามเราควรฝึกเรื่องวินัยทางการเงินให้เป็นนิสัยตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อที่จะได้บรรลุเป้าหมายและมีคุณภาพชีวิตที่ดี
พออ่านจบแล้วเริ่มเห็น เฮง เฮง เฮง อยู่ตรงหน้าแล้วใช่ไหมคะ ทีนี้ต่อให้เราไม่ได้แต๊ะเอียก็ไม่ง้ออีกต่อไป ขอเพียงเริ่มต้นปีด้วยการใช้เวลาในการศึกษาและวางแผนด้านการเงินตามที่แนะนำข้างบน หรือถ้ายังไม่จุใจสามารถเข้าไปวางแผนต่อที่นี่ ง่าย ๆ เท่านี้เราก็จะสบายใจไปจนบั้นปลายชีวิตทีเดียว