5 เรื่องการเงินที่ต้องรู้ ก่อนวางแผนมีลูกน้อย
เพื่ออนาคตลูก
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

5 เรื่องการเงินที่ต้องรู้ ก่อนวางแผนมีลูกน้อย

icon-access-time Posted On 06 ตุลาคม 2564
By Krungsri The COACH
สำหรับใครที่กำลังจะสร้างครอบครัวและมีเจ้าตัวน้อย การวางแผนการเงินถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก เพราะสิ่งที่จะต้องตามมาอย่างแน่นอนก็คือ "ค่าใช้จ่าย" ที่เพิ่มขึ้น เพื่อจัดสรรให้ใช้จ่ายได้อย่างเพียงพอ วันนี้เรามาดูกันดีกว่าว่า สำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่จะต้องเตรียมตัววางแผนการเงินอย่างไรเพื่อต้อนรับเจ้าตัวน้อยกัน

1. ตรวจสุขภาพทางการเงิน


ขั้นตอนแรกที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำก่อนเริ่มต้นวางแผนการเงินเลยก็คือ การ "ตรวจสุขภาพทางการเงิน" เพื่อเป็นการประเมินสถานการณ์ในปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร จากนั้นให้ลองทำบัญชีรายรับรายจ่ายต่าง ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วง 3 ปีข้างหน้าว่าจะมีค่าใช้จ่ายอะไรเพิ่มเติมเกิดขึ้นบ้าง เช่น ค่าอาหารเสริมคุณแม่และเจ้าตัวน้อย ค่าฝากครรภ์ ค่าทำคลอด รวมไปจนถึงประเมินว่าในกรณีที่มีเจ้าตัวน้อย คุณแม่อาจจะมีช่วงที่ขาดรายได้ไปด้วย หรือคุณแม่หลาย ๆ คนก็ตัดสินใจออกมาเป็นคุณแม่เต็มตัว
5 เรื่องการเงินที่ต้องรู้ ก่อนวางแผนมีลูกน้อย

ในช่วงระหว่างตั้งครรภ์จนถึงช่วงอายุ 3 ปีแรกโดยเฉลี่ยจะต้องเตรียมเงินไว้ประมาณ 140,000 – 200,000 บาทต่อปี การวางแผนล่วงหน้าจะช่วยให้เรารู้ว่าสถานการณ์ ณ ปัจจุบันและอนาคตเป็นอย่างไร มีเงินเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่กำลังจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ เพื่อได้รู้ว่าจะนำเงินส่วนเกินไปลงทุนทำอะไรเพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติมได้บ้าง แต่ถ้าไม่เพียงพอจะได้ทำการประเมินค่าใช้จ่ายหรือหารายได้เพิ่มได้ทัน

สำหรับท่านใดที่สนใจ สามารถเข้าตรวจสุขภาพทางการเงินของตัวเองว่า ณ ปัจจุบัน มีสถานะเป็นอย่างไรได้ ที่นี่คลิก

2. เตรียมบริหารความเสี่ยงให้พร้อม


ความเสี่ยงที่เรากำลังจะพูดถึง ประกอบด้วย 2 เรื่องหลัก ได้แก่

2.1 เงินสำรองฉุกเฉิน


หลาย ๆ คนมักจะคิดว่าเงินสำรองฉุกเฉินมีไว้สำหรับเรื่องฉุกเฉินที่คาดไม่ถึงว่าจะเกิดขึ้น อย่างการที่เราจะต้องเข้าโรงพยาบาลด้วยเหตุฉุกเฉิน เกิดอุบัติเหตุชนเฉี่ยวรถชน หรือจะเป็นเรื่องฉุกเฉินอย่างค่าเล่าเรียนของลูกที่กำลังจะต้องจ่ายในช่วงเปิดเทอม แต่ในความเป็นจริงแล้วเรื่องฉุกเฉินเพียงเรื่องเดียวสำหรับการวางแผนการเงินก็คือ "การตกงาน"

การตกงานถือว่าเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก เพราะมีปัจจัยภายนอกเข้ามากระทบได้มากมาย ทำให้หลาย ๆ ครั้งเราอาจจะไม่สามารถประเมินสถานการณ์ได้ว่า เราจะตกงานเมื่อไหร่ ดังนั้น ทุกคนควรจะมีเงินสำรองฉุกเฉินเก็บไว้อย่างน้อย 6 เดือนของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนหรือสำหรับคนที่กำลังจะมีเจ้าตัวน้อยควรมีเงินสำรองฉุกเฉินไว้อย่างน้อยสัก 12 เดือนของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าหากเกิดโชคร้ายตกงานหรือรายได้ขาดหายไป ครอบครัวของเราก็ยังสามารถใช้ชีวิตต่อได้โดยไม่ขัดสนเรื่องเงิน จนกว่าจะหางานใหม่หรือรายได้กลับมาเข้าที่ได้อีกครั้ง

2.2 การมีประกันอย่างพอเพียง


ส่วนเรื่องความเสี่ยงจากปัญหาสุขภาพ อุบัติเหตุ ที่อาจจะขึ้นกับร่างกายและสินทรัพย์ของเรา แนะนำว่าควรมีการทำประกันเพื่อโอนย้ายความเสี่ยงอย่างเพียงพอเสมอ เมื่อเกิดเหตุขึ้น ประกันเหล่านี้จะได้เป็นเบาะรองรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทันที โดยไม่กระทบกับเรื่องของการเงินส่วนอื่น ๆ ที่เราจัดสรรไว้

สำหรับตัวคุณแม่เองก็สามารถทำประกันคุ้มครองเรื่องสุขภาพและอุบัติเหตุได้เช่นกัน แต่ส่วนใหญ่แล้วการจะทำประกันสุขภาพที่คุ้มครองระหว่างคลอดด้วยจะมีระยะรอคอยก่อนทำประกัน 280 วัน หรือไม่ท้องก่อนทำประกันก็จะช่วยคุ้มครองระหว่างตั้งครรภ์ด้วยเช่นกัน

และหลังจากที่คลอดเรียบร้อยแล้วก็อย่าลืมศึกษาประกันของเจ้าตัวน้อยด้วย โดยทั่วไปแล้วจะสามารถทำประกันได้ตั้งแต่อายุ 1 เดือนขึ้นไป หรือบางบริษัทรับทำประกันตั้งแต่อายุ 15 วันก็มีเช่นกัน ทั้งนี้แนะนำให้ลองศึกษาเงื่อนไขการรับประกันของกรมธรรม์อย่างละเอียดก่อนทำประกันทุกครั้ง เพื่อหาแผนประกันที่ถูกใจและเหมาะสมกับความต้องการของเรามากที่สุด

3. ลดภาระหนี้


สำหรับใครที่กำลังวางแผนมีเจ้าตัวน้อย อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องทำเลยก็คือ "ลดภาระหนี้" ให้มากที่สุด เพราะเมื่อมีสมาชิกครอบครัวที่มากขึ้น “รายจ่าย” ก็ยิ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว การลดภาระหนี้ด้วยวิธีรวมหนี้ให้เป็นก้อนเดียว ก็จะช่วยให้สภาพคล่องในแต่ละเดือนเพิ่มมากขึ้น รวมถึงช่วยลดภาระดอกเบี้ยจากหลายทางอีกด้วย

การแบ่งความรับผิดชอบทางด้านการเงินว่าส่วนใดใครเป็นผู้รับผิดระหว่างคุณพ่อคุณแม่ เปิดอกพูดคุยกันให้ลงตัวก่อนมีเจ้าตัวน้อยเสมอ ปัญหาเรื่องการเงินในครอบครัวที่พบเจอบ่อยมากที่สุด คือ การไม่เปิดอกพูดคุยถึงสถานะทางการเงินกันอย่างตรงไปตรงมา ทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันได้ง่าย
5 เรื่องการเงินที่ต้องรู้ ก่อนวางแผนมีลูกน้อย
*หมายเหตุ: ราคาที่แสดงด้านบนเป็นราคาเริ่มต้นเท่านั้น

4. ทุนการศึกษา


อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นรายจ่ายที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน คือ รายจ่ายเรื่องการศึกษา ซึ่งเราสามารถประมาณการล่วงหน้าได้ว่า เราต้องการให้เจ้าตัวน้อยของเราเรียนที่ไหน โรงเรียนรัฐบาล เอกชน อินเตอร์สองภาษา ก็สามารถวางแผนได้ ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่จะแตกต่างกัน คือ เรื่องของค่าเทอม โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถเดินเข้าไปที่ฝ่ายการเงินของโรงเรียนที่เราต้องส่งให้เจ้าตัวน้อยเรียนเพื่อสอบถามค่าเทอม รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการเรียนเพื่อนำมาประกอบการวางแผนการเงินได้ นอกจากนี้ต้องอย่าลืมประเมิน “เงินเฟ้อ” ที่จะทำให้ค่าเทอมแพงขึ้นด้วยในทุก ๆ ปี เพื่อที่จะประเมินให้ใกล้เคียงความเป็นจริงที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ใกล้เคียงที่สุด

5. ทุนประกันชีวิต


"ทุนประกัน" เป็นอีกเรื่องที่หลาย ๆ คนอาจจะไม่ทันได้นึกถึง ในกรณีที่เราวางแผนการเงินเสร็จเรียบร้อย สามารถเลี้ยงดูได้อย่างปลอดภัยไร้กังวลเรื่องของการเงินแล้ว เราต้องอย่าลืมว่า สมมติฐานหนึ่งในการวางแผนการเงินก็คือ หัวหน้าครอบครัวหรือตัวคุณพ่อคุณแม่เองยังสามารถทำงานมีรายได้ เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายที่อาจจะเกิดขึ้นได้

แต่เคยคิดกันหรือไม่ว่า ถ้าในกรณีที่โชคร้ายแล้ว "หัวหน้าครอบครัว" เกิดไม่สามารถหารายได้เพื่อมาเป็นค่าใช้จ่ายได้จะเป็นอย่างไร ปัญหาหรือความเสี่ยงนี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการมี "ทุนประกันชีวิต" ที่เหมาะสมกับค่าใช้จ่ายที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปแล้วทุนประกันที่เหมาะสมควรมีเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายที่กำลังจะเกิดขึ้นได้อย่างน้อย 5 ปี เพื่อให้ครอบครัวสามารถปรับตัวได้ทัน หรือถ้าใครที่มีงบประมาณเยอะหน่อย หลาย ๆ ครั้งก็จะทำทุนประกันให้เจ้าตัวน้อยได้เรียนจบอย่างน้อยปริญญาตรีเลยก็ได้เช่นกัน

เรื่องการวางแผนการเงินโดยเฉพาะเรื่องของการมีเจ้าตัวน้อย หลายคนอาจจะคิดว่ามีไปก่อนเดี๋ยวก็เลี้ยงไหวไม่เป็นไร แต่รู้กันหรือไม่ว่าเราสามารถวางแผนและบริหารจัดการเพื่อเตรียมสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ยิ่งเราสามารถวางแผนเพื่อรับมือได้ดีมากเท่าไหร่ โอกาสที่จะเกิดความล้มเหลวหรือความผิดพลาดทางด้านการเงินที่อาจจะทำให้เงินไม่พอใช้ จนทำให้ต้องเป็นหนี้สินในอนาคตก็จะยิ่งน้อยลงเท่านั้น
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา