วางแผนการลงทุนเพื่ออนาคตลูกรัก
เพื่ออนาคตลูก
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

วางแผนการลงทุนเพื่ออนาคตลูกรัก

icon-access-time Posted On 25 กุมภาพันธ์ 2558
By Krungsri Guru
พ่อแม่ทุกคนย่อมต้องการให้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูกเสมอ ทั้งในด้านการดำรงชีวิต และการเตรียมพร้อมในด้านการศึกษาเพื่อให้พวกเขาสามารถดูแลตัวเองได้เมื่อเติบใหญ่ แต่แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายที่อาจจะเพิ่มขึ้นตามช่วงวัยและสภาพสังคม ดังนั้น การวางแผนการลงทุนเพื่ออนาคตของลูกและเริ่มเก็บออมตั้งแต่วันนี้จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อเป็นหลักประกันว่าเรามีเงินเพียงพอเพื่อจะทำให้อนาคตของลูกเป็นไปอย่างที่ตั้งใจไว้
ตั้งเป้าหมายการลงทุนเพื่อลูก เริ่มต้นโดยการตั้งงบประมาณเป้าหมายค่าใช้จ่าย ตามระยะเวลาที่ต้องการใช้เงินตามช่วงวัยของลูก
  • ช่วงวัยที่ 1: ก่อนเข้าประถม ตั้งแต่ ก่อนอนุบาลและอนุบาล 1 - 3 เป็นระยะเวลา 4 ปี
  • ช่วงวัยที่ 2: ประถมศึกษา ป.1 - ป.6 เป็นระยะเวลา 6 ปี
  • ช่วงวัยที่ 3: มัธยมศึกษา ม.1 - ม.6 เป็นระยะเวลา 6 ปี
  • ช่วงวัยที่ 4: อุดมศึกษา เป็นระยะเวลา 4 ปี ถึง 6 ปี ในกรณีที่ต่อปริญญาโท
ในแต่ละช่วงวัย เราควรพิจารณาค่าใช้จ่ายดังต่อไปนี้
  • ค่าเทอม ซึ่งมักจะเป็นค่าใช้จ่ายหลักสำหรับเด็กในวัยเรียน การวางงบประมาณที่เตรียมไว้ควรขึ้นอยู่กับลักษณะแผนการศึกษาที่คุณจะวาง เช่น จะให้ลูกเข้า โรงเรียนอนุบาลที่ใด โรงเรียนประถมศึกษาแห่งไหน จะเป็นโรงเรียนที่มีทั้งชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา หรือจะย้ายโรงเรียนตอนเข้ามัธยม จะเป็นโรงเรียนรัฐบาล เอกชน หรือนานาชาติ จะเรียนปริญญาตรี หรือจะต่อปริญญาโท ในประเทศ หรือต่างประเทศ
    ทั้งนี้ ในการวางแผนการเลือกสถานศึกษาเราควรพิจารณาปัจจัยหลายๆ ด้านประกอบกัน เช่น รายได้ปัจจุบันของครอบครัว ความสามารถในการหารายได้เพิ่มขึ้นในอนาคต คุณภาพ หลักสูตรการเรียน การสอน สภาพแวดล้อมของโรงเรียน และการเดินทาง เป็นต้น
  • ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในระหว่างการศึกษา เช่น ค่าหนังสือ ค่าเสื้อผ้า ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเรียนพิเศษด้านวิชาการ หรือด้านความสามารถพิเศษในช่วงประถม ค่าเรียนกวดวิชาในช่วงมัธยม หรือค่าหอพักในช่วงเรียนมหาวิทยาลัย
ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในระหว่างการศึกษา เช่น ค่าหนังสือ ค่าเสื้อผ้าชุดนักเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเรียนพิเศษด้านวิชาการ หรือด้านความสามารถพิเศษในช่วงประถม ค่าเรียนกวดวิชาในช่วงมัธยม หรือค่าหอพักในช่วงเรียนมหาวิทยาลัย
 
เมื่อวางแผนการศึกษาได้แล้ว เราควรหาข้อมูลด้านค่าเทอม และค่าใช้จ่ายโดยประมาณสำหรับทั้ง 4 ช่วงวัย อย่าลืมว่าตัวเลขที่ได้เป็นค่าในปัจจุบัน ซึ่งเราอาจพิจารณาเพิ่มอัตราเงินเฟ้อ 3-5 % ต่อปี เข้าไปในเป้าหมายค่าใช้จ่ายด้วย
จากขั้นตอนนี้ จะทำให้เราสามารถประเมินค่าใช้จ่ายคร่าวๆ ในแต่ละช่วงวัยที่เราควรจะเตรียมเอาไว้ ขั้นตอนต่อไปเป็นการวางแผนว่าเราจะเลือกใช้วิธีการใดในการออม และมีวิธีใดที่เราจะสามารถใช้ประโยชน์การจากลงทุนเพื่อผ่อนแรงในการออมของเรา
วางแผนการลงทุน การลงทุนอาจทำได้ 2 แบบ

แบบที่ 1

เราสามารถเริ่มวางแผนการลงทุนด้านออมค่าใช้จ่ายสำหรับลูกทั้งสี่ช่วงวัยตั้งแต่วันนี้ และใช้ประโยชน์จากการลงทุน หากพิจารณาตามระยะเวลา จะพบว่า เราสามารถแบ่งความจำเป็นในการใช้จ่ายออกเป็นความต้องการใช้เงินระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว นั่นคือ 6 ปี, 12 ปี, 18 ปี และ 22 ปี ด้วยระยะเวลาของความจำเป็นในการใช้เงินที่ต่างกัน ทำให้มีเราทางเลือกในการนำเงินออมไปลงทุนได้ด้วยความเสี่ยงที่แตกต่างกัน นั่นคือ ส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายในระยะสั้น ควรจะถูกเก็บออมไว้ในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ ส่วนเงินสำหรับค่าใช้จ่ายระยะยาวสามารถนำไปลงทุนเพื่อลูกในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้นเพื่อโอกาสในการรับค่าตอบแทนที่สูงขึ้น ดังนี้
  • ค่าใช้จ่ายช่วงก่อนเข้าประถม เป็นค่าใช้จ่ายที่กำลังจะเกิดขึ้น ควรลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ และมีสภาพคล่องสูง เช่น กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น เงินฝากประจำ
  • ค่าใช้จ่ายช่วงประถมศึกษา ซึ่งความต้องการการใช้เงินอยู่ในระยะ 12 ปีข้างหน้า ดังนั้น เราอาจลงทุนเพื่อลูกในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เพื่อผลตอบแทนที่ดีขึ้น เช่น หุ้นกู้คุณภาพดี พันธบัตรรัฐบาล กองทุนตราสารหนี้ระยะยาว
  • ค่าใช้จ่ายสำหรับการศีกษาช่วงมัธยมศึกษา และอุดมศึกษา ด้วยระยะเวลาการลงทุน 18-22 ปี เราสามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น เช่น หุ้นพื้นฐานดี กองทุนรวมหุ้น กองทุนรวมผสมหุ้นและตราสารหนี้ นอกจากการลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินแล้ว เราอาจแบ่งลงทุนใน อสังหาริมทรัพย์ หรือ ทองคำได้อีกด้วย

แบบที่ 2

สำหรับการออมเงินในแต่ละช่วงวัยของลูกนั้นจะช่วยในการลดภาระในการออมในปัจจุบัน เช่น ออมเงินตั้งแต่ลูกเกิดเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายสำหรับวัยประถม และออมเงินสำหรับค่าใช้จ่ายช่วงมัธยม เมื่อลูกเรียนระดับประถม เนื่องจากการออมเงินในลักษณะนี้ เป็นการเก็บเงินเพื่อค่าใช้จ่ายล่วงหน้าในระยะภายใน 6 ปี ดังนั้นเราควรวางแผนการลงทุนด้วยการออมเงินในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงไม่สูงนัก
เริ่มลงทุน
เมื่อได้เป้าหมายการลงทุน และเลือกวิธีการลงทุนได้แล้ว ขั้นต่อไปเราก็คำนวณกลับว่า เราต้องเริ่มออมด้วยเงินจำนวนเท่าไหร่ โดยเราควรแยกบัญชีการลงทุนเพื่อลูกไว้เพื่อความสะดวกในการติดตามผล อย่าลืมที่จะนำยอดการออม และแผนการลงทุนออกมาประเมินทุกๆ ปี เพื่อตรวจสอบว่าเราสามารถทำตามแผนการลงทุนหรือไม่ หรือมีอะไรต้องปรับปรุง เราอาจมีการปรับแผนการลงทุนทุกปีเมื่อพบว่าผลที่ได้ไม่เป็นไปตามแผน หรืออย่างน้อยเราควรพิจารณาเปลี่ยนแผนการลงทุนสำหรับค่าใช้จ่ายที่ใกล้จะเกิดขึ้นในระะหว่างการเปลี่ยนช่วงวัย เช่น ลดความเสี่ยงในการลงทุนของเงินที่เตรียมไว้สำหรับช่วงมัธยมศึกษาเมื่อลูกเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาตอนปลาย
เคล็ดลับการลงทุนเพื่อลูก
  • เริ่มวางแผนการลงทุนตั้งแต่วันนี้ การลงทุนด้วยเวลาที่นานกว่าจะทำให้เราได้ใช้ประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยที่มากกว่า
  • พิจารณาเพิ่มยอดลงทุน 3-5% ทุกปี เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อ
  • ใช้วิธีการตัดบัญชีอัตโนมัติจากบัญชีเงินเดือนเข้าบัญชีเงินออมสำหรับลูก เพื่อความสะดวกและสร้างวินัยการลงทุน
  • เพื่อลดความเสี่ยงของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับแผนการลงทุนจากเหตุอันไม่คาดคิด เราอาจพิจารณาซื้อกรมธรรม์ประกันภัย เช่น ประกันอุบัติเหตุ หรือประกันสุขภาพให้ลูก หรือทำประกันเพื่อการศึกษา โดยมีทุนประกันเทียบเท่ากับจำนวนเงินที่เราวางแผนการลงทุนไว้สำหรับการศึกษาของลูก เพื่อให้มั่นใจได้ว่าลูกของเราจะได้รับการศึกษาตามที่เราวางแผนไว้ แม้เกิดเหตุที่ทำให้เราไม่สามารถส่งเสียค่าเล่าเรียนได้อีกต่อไป
การวางแผนการลงทุนเพื่ออนาคตของลูก เป็นหนึ่งในการลงทุนที่ควรได้รับการวางแผนแต่เนิ่นๆ เพื่อเป็นหลักประกันในอนาคตว่าลูกจะได้รับสิ่งที่ดีที่สุดตามความสามารถที่พ่อแม่จะให้ได้
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา