หากพูดถึงธุรกิจกงสี ประเทศไทยนั้นติดอันดับ 8 ของโลกที่ธุรกิจครอบครัวมีมูลค่ารวมสูงที่สุด ธุรกิจกงสีมักประกอบไปด้วยคน 3 รุ่น ได้แก่ รุ่นปู่ยาตายาย รุ่นพ่อแม่ และรุ่นลูกหลานวัย Gen-Y ซึ่งต่างมีแนวคิดในการทำธุรกิจแตกต่างกันตามแต่ละยุคสมัย ในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอย่างยุคดิจิทัลนี้ ธุรกิจครอบครัวหลายแห่งจึงต้อง
ปรับตัวอย่างหนักเพื่อให้ตนเองอยู่รอด
ธุรกิจกงสีมักก่อตั้งขึ้นโดยคนวัยเบบี้บูมเมอร์ หรือรุ่นปู่ย่าตายายที่มีอายุวัย 65 - 75 ปี ที่ได้ก่อร่างสร้างกิจการให้เติบโตและส่งมอบธุรกิจให้ลูกหลานดูแลต่อ
คนที่มารับช่วงต่อจากรุ่นนี้คือ รุ่นพ่อแม่เรา ที่สานต่อกิจการและมักประสบผลสำเร็จ จากสถิติพบว่าธุรกิจยุคนี้จะเติบโตประมาณ 9% ต่อปี เพราะธุรกิจสร้างบนพื้นฐานความพร้อมและเจริญขึ้นในยุคที่ยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงมากนัก
แต่เมื่อเข้ารุ่นที่ 3 กระแสโลกดิจิทัลมาแรงและรวดเร็ว ทำให้ธุรกิจที่ดูแลด้วยระบบแบบเก่าต้องเผชิญความท้าทายในการปรับตัว หลายรายยังคงยึดติดกับธุรกิจรูปแบบเดิม เพราะคนช่วงวัยเบบี้บูมเมอร์จะมีความมั่นใจในระดับหนึ่งว่า ตนเคยนำพาธุรกิจให้เจริญรุ่งเรืองมาแล้ว ทำให้เกิดเป็นช่องว่างที่คนรุ่นพ่อแม่ของเรายังไม่เปิดรับความคิดและวิธีการใหม่ ๆ ทั้งยังไม่วางใจให้คนรุ่นลูกเข้ามารับช่วงต่อแบบ 100% ส่วนคนรุ่นใหม่เองก็อาจต่อต้านความคิดแบบเดิม มองว่าล้าหลัง ฯลฯ
เราจะหาจุดกึ่งกลางระหว่างคนสองรุ่นได้อย่างไรบ้าง เพื่อให้ธุรกิจครอบครัวสามารถฝ่าฟันกระแสโลกดิจิทัลไปยืนสง่า ณ จุดที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ได้? วันนี้เราเลยอยากแนะนำวิธีดี ๆ มาให้ลองอ่านกันครับ
1. เปิดใจศึกษาสื่อออนไลน์ ในฐานะแพลตฟอร์มยอดนิยมของผู้บริโภค
เราสามารถอธิบายคุณพ่อคุณแม่ได้ว่า ในยุคหนึ่งที่ผู้บริโภคอยู่แต่บนหน้าหนังสือพิมพ์ หรือโทรทัศน์ ตอนนั้นธุรกิจก็ใช้ประโยชน์จาก
สื่อดั้งเดิมเหล่านั้นในการทำธุรกิจ ส่วนสมัยนี้ผู้บริโภคแค่เปลี่ยนถ่ายย้ายที่ มาอยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์เท่านั้นเอง เราอาจลองปรับสัดส่วนจากสื่อดั้งเดิมมาใช้ประโยชน์จากสื่อออนไลน์ที่ผู้บริโภคนิยมและใช้เวลากับมันมากกว่า
เมื่อพ่อแม่เริ่มเห็นความสำคัญกับเรื่องนี้แล้ว เราก็ค่อย ๆ ชวนท่านพูดคุยถึง
การตลาดโซเชียลมีเดียเป็นลำดับถัดไปครับ โดยอาจยกตัวอย่างเคสที่ประสบความสำเร็จมาเล่าให้ท่านได้เห็นภาพ เช่น การรีแบรนด์แป้งหอม “ศรีจันทร์” ที่กลายมาเป็นแบรนด์เครื่องสำอางชั้นนำ เป็นต้น
2. พูดคุยทำความเข้าใจกันในครอบครัว
ข้อนี้สำคัญที่สุดครับ เพราะคนรุ่นพ่อแม่จะมีประสบการณ์ในธุรกิจมานานกว่าเรา ในขณะที่คนรุ่นใหม่มักไฟแรง เวลาอยากทำอะไรก็มั่นใจเต็มที่ ทั้งที่ยัง
ขาดประสบการณ์ในบางเรื่อง ต้องอาศัยการแชร์ความรู้และให้คำปรึกษากันภายในครอบครัว
ปรึกษา แต่ไม่ปิดกั้น
เพื่อประคับประคองให้คนรุ่นใหม่
ไม่หลงทาง และให้คนรุ่นก่อนได้มีบทบาทในฐานะ “พี่เลี้ยงทางธุรกิจ” ได้มากขึ้น ไม่ให้เขารู้สึกว่าถูกริดรอนบทบาทไปเสียเลยทีเดียว
3. ค่อยเป็นค่อยไป อย่าใช้อคตินำ
การเปลี่ยนแปลงมักนำมาซึ่งความยุ่งยากในช่วงแรก และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นท่ามกลางอคติของคนในครอบครัว ยิ่งส่งผลลบต่อความสัมพันธ์ เพราะฉะนั้นการปรับตัวต้องค่อยเป็นค่อยไป อย่าเร่งรีบครับ
หากทุกคนในครอบครัวมีเจตนาที่ดีที่ช่วยกันสานต่อธุรกิจให้เจริญก้าวหน้าแล้วล่ะก็ การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างจะส่งผลที่ดีตามมาอย่างแน่นอน ขอแค่ใจเย็นพอที่จะรอดูความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นร่วมกันเท่านั้น
ธุรกิจกงสีจำนวนมากต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในกระแสโลกดิจิทัล บางธุรกิจถึงกลับต้องแตกไลน์ขายสินค้าอย่างอื่นเป็นหลัก แทนสินค้าที่ตัวเองขายมาเนิ่นนาน เพราะสินค้าที่เคยจำหน่ายได้รับความนิยมน้อยลงในปัจจุบัน เช่น ร้านแมงป่องที่เคยเป็นร้านจำหน่ายซีดี วีซีดีชั้นนำของไทย ได้ปรับกิจการมาขายเครื่องสำอางแบรนด์ Stardust เป็นต้น การสู้เท่านั้นที่จะทำให้ธุรกิจอยู่ต่อได้
ดังนั้น หากคุณเป็นสมาชิกคนหนึ่งในธุรกิจกงสี จงอย่ากลัวการเปลี่ยนแปลง แต่จงกลัวการอยู่กับที่
เริ่มต้นพูดคุยกันในครอบครัวและร่วมแรงร่วมใจกันตั้งแต่วันนี้ ไม่ว่าอย่างไรธุรกิจครอบครัวที่มีประวัติความเป็นมายาวนานยังคงมีรากฐานเหนียวแน่นเสมอครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก Forbes Thailand,
Brand Buffet