Krungsri Business Forum: CEO 4.0 Thinking Transformation ปฏิรูปความคิด พลิกโฉมประเทศไทย

Krungsri Business Forum: CEO 4.0 Thinking Transformation ปฏิรูปความคิด พลิกโฉมประเทศไทย

By Krungsri Plearn Plearn

งานสัมมนา “Krungsri Business Forum: CEO 4.0 Thinking Transformation ปฏิรูปความคิด พลิกโฉมประเทศไทย” เชิญเหล่าผู้บริหารแถวหน้าในภาคส่วนของธุรกิจที่หลากหลายมาบอกเล่าวิธีคิด และแนวทางบริหารธุรกิจของตนในยุคดิจิทัล โดยมีสิ่งที่เหมือนกันคือในยุคที่ทุกสิ่งอย่างทั้งสภาพสังคม เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วนี้ คนที่ปรับตัวได้อย่างรวดเร็วกว่าผู้อื่นคือผู้อยู่รอด

 
Krungsri Business Forum: CEO 4.0 Thinking Transformation

เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา ผู้บริหารบริษัทชั้นนำของภาคธุรกิจไทยให้เกียรติมาร่วมบรรยายในงานสัมมนา “Krungsri Business Forum: CEO 4.0 Thinking Transformation ปฏิรูปความคิด พลิกโฉมประเทศไทย”  ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ที่จัดขึ้นสำหรับลูกค้าธุรกิจทั้งไทยและญี่ปุ่นกว่า 700 ราย เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับภาพรวมเศรษฐกิจไทย ไปจนถึงการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจและแนวทางในการดำเนินธุรกิจในยุคไทยแลนด์ 4.0 สำหรับปรับความคิดให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย
 
การสัมมนาแบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงบรรยายพิเศษ และช่วงทอล์ก ซึ่งเชิญผู้บริหารแถวหน้าในวงการธุรกิจหลากหลายอาชีพมาร่วมแสดงทัศนะ โดย คุณโนริอากิ โกโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ได้ให้เกียรติกล่าวเปิดงาน ก่อนเริ่มต้นด้วยการบรรยายปาฐกถาโดย ดร.พิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในหัวข้อ “แผนปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานไทย เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ 4.0” ที่กล่าวถึงแผนพัฒนาระบบคมนาคมของรัฐบาล ทั้งในด้านระบบขนส่งมวลชนพื้นฐาน การเชื่อมโยงระบบบีทีเอส เอ็มอาร์ที และระบบรถไฟขั้นพื้นฐาน ไปจนถึงแผนการตัดถนน การเพิ่มท่าเรือ และท่าอากาศยาน เพื่อรองรับการขนส่งภายในประเทศให้รอบด้าน ซึ่งทั้งหมดนี้จัดเป็นระบบพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจประเทศไทย อันจะนำมาซึ่งความสะดวกสบายของประชาชน และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมด้วย
 
business forum ceo thinking transformation

ต่อจากนั้น ดร.สมประวิณ ​มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ได้ชี้ให้เห็นถึงเทรนด์การทำธุรกิจที่กำลังจะเกิดขึ้นในหัวข้อ “โลกในบริบทใหม่ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย” เมื่อเทคโนโลยีรุดหน้าพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม 5 เรื่องที่สามารถต่อยอดไปสู่การทำธุรกิจได้ เรื่องแรก คือ จะเกิดการรวมตัวของประเทศที่กำลังพัฒนา (Increasing Role of Non-OECD) ที่ทำให้มีพลังในการต่อรองมากกว่าประเทศใหญ่เพียงประเทศเดียว เรื่องที่สองจะเกิดสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) เนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ทำให้คนอายุยืนขึ้น เรื่องที่สามจะมีคนมาอยู่ในเมืองเพิ่มมากขึ้น (Urbanize) ทำให้ความต้องการสินค้าเปลี่ยนไป เรื่องที่สี่ คือ คนมีเงินเยอะขึ้น (Rise of middle income) และเรื่องที่ห้าจะเกิดเทคโนโลยีที่คาดไม่ถึง (Technology Disruption) อย่างกลุ่ม Mobile Internet กลุ่ม AI (ปัญญาประดิษฐ์) ที่คิดแทนมนุษย์ได้ ไปจนถึง Advanced Robotic และ Internet of Things ดร.สมประวิณ ยังเน้นย้ำว่า การจะอยู่ได้ด้วยนวัตกรรม ต้องอาศัย Global Value Creation คือ การคิดจากเทรนด์ระดับโลก โดยนำเทคโนโลยีมาช่วยในการผลิต การเข้าถึงลูกค้า และการนำความเห็นของลูกค้ามาประมวลผล เพราะคนมีความแตกต่างกันมากขึ้น แต่ละคนต้องการสิ่งที่เหมาะกับตัวเองเท่านั้น ไทยแลนด์ 4.0 จึงเป็นเรื่องของการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ควบคู่กัน ในอนาคต การแข่งขันจึงแข่งกันที่คุณภาพ ความคิดสร้างสรรค์ ไม่เน้นแค่ปริมาณเพียงอย่างเดียว
 
business forum ceo thinking transformation

ถัดจากนั้นเข้าสู่การบรรยายช่วงทอล์ก ผู้บริหารท่านแรกคือ คุณสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวบรรยายในหัวข้อ “วิวัฒนาการดิจิทัลในโลกการสื่อสาร” คุณสมชัยกล่าวว่า หากเราไม่เปลี่ยนแปลงก็ยากที่จะอยู่รอด เพราะไม่ใช่แค่เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่เปลี่ยนไป แต่พฤติกรรมของคนในสังคมก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย คนที่เปลี่ยนแปลงเร็วกว่าจึงจะเป็นผู้ชนะ ดังที่ AIS ปรับเปลี่ยนจากแค่การให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมมาเป็น Digital Life Service Provider ที่ตอบโจทย์การบริการและสร้างสรรค์คอนเทนต์ให้กับลูกค้าได้แบบ 360 องศา โดย AIS ต้องปรับตัวทั้งในแง่ของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ สอดคล้องกันไปแบบคู่ขนาน รวมถึงสร้างความเข้าใจ และปรับวัฒนธรรมองค์กรใหม่ ให้พนักงานมีหัวใจดิจิทัลมากยิ่งขึ้น และปรับการบริการ โดยพัฒนาเรื่องความรวดเร็วและสร้างความแตกต่างด้วยนวัตกรรม ถ้าเราตามทันโลก การเกิด Digital Disruption ที่หลายธุรกิจหวาดกลัวจะไม่ใช่ปัญหา แต่จะเป็นโอกาสของเรือเล็กที่จะเอาชนะเรือลำใหญ่ได้
 
business forum ceo thinking transformation

ในส่วนของ คุณชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการ บริษัท ไทยซัมมิท โอโตพาร์ท อินดัสตรี จำกัด ได้ให้ทัศนะในหัวข้อ “การขับเคลื่อนสู่ยุครถยนต์ไฟฟ้า” บอกเล่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริงในวงการยานยนต์ที่กำลังเข้าสู่ยุครถยนต์ไร้คนขับ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบต่อธุรกิจอื่น ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยยกกรณีตัวอย่างการให้บริการ Airbnb ที่ในอนาคตนอกจากจะแบ่งปันห้องให้เช่าแล้ว ยังมีบริการที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เพราะบ้านทุกหลังสามารถติดตั้งที่ชาร์จไฟฟ้าได้ ส่งผลให้ต้องมีการติดฉนวนกันความร้อนในบ้านเพื่อป้องกันการเกิดเพลิงไหม้ รวมไปถึงธุรกิจประกันภัยสำหรับบ้านเรือนที่ติดตั้งที่ชาร์จไฟฟ้า หรือกรณีการเคลมประกันเมื่อเกิดอุบัติเหตุกับรถยนต์ขับเคลื่อนอัจฉริยะ ต่อไปจะต้องเคลมที่ใครระหว่างบริษัทผลิตรถยนต์หรือเจ้าของรถ หรือแม้แต่ Uber จะทำอย่างไรกับโมเดลธุรกิจของตนเมื่อมีรถยนต์ไร้คนขับเกิดขึ้น จะเห็นได้ว่าในอนาคตเทคโนโลยีจะสร้างความเปลี่ยนแปลงส่งผลไปยังทุกธุรกิจ แม้แต่ธุรกิจที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันได้ ก็อาจจะต้องเกี่ยวข้องกันโดยไม่คาดคิดมาก่อน
 
business forum ceo thinking transformation

หลังจากนั้น ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ได้ขึ้นมาบรรยายในหัวข้อ “พลังงาน 4.0 และหลักบริหารองค์กรให้ยั่งยืน” ซึ่งบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ เป็นหนึ่งในผู้ผลิตไฟฟ้าอุตสาหกรรมรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ดำเนินธุรกิจมายาวนานถึง 139 ปี จึงได้มาแบ่งปันวิธีการบริหารองค์กรอย่างยั่งยืน และแนวทางการพัฒนาธุรกิจพลังงานอย่างรอบด้าน โดยบริษัทได้ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์พลังงานมากยิ่งขึ้น ทั้งพลังงานจากน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลมเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า โดยมีระบบผลิตพลังงานรวมหรือโคเจนเนอเรชั่น ซึ่งเป็นระบบการผลิตพลังงานประสิทธิภาพสูงที่มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง สำหรับผลิตพลังงานไฟฟ้า หรือพลังงานความร้อนในรูปแบบของไอน้ำ ซึ่งต้นทุนการผลิตพลังงานโคเจนเนอเรชั่น จะมีราคาที่ถูกกว่าระบบการผลิตอื่น ๆ และมีการนำพลังงานความร้อนที่กำลังถูกปล่อยทิ้ง กลับมาใช้ซ้ำอีกครั้งเพื่อผลิตพลังงานรูปแบบอื่นขึ้นมาใหม่

นอกจากนี้ยังแบ่งปันเคล็ดลับการบริหารองค์กรให้ยั่งยืนด้วยการนำหลักพรหมวิหาร 4 มาใช้  เพื่อให้คนในองค์กรอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
 
business forum ceo thinking transformation

ต่อจากนั้น คุณวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือเบทาโกร มาบรรยายในหัวข้อ “เทคโนโลยีต่อการเพิ่มประสิทธิภาพในอุตสาหกรรมอาหาร” โดยเคล็ดลับสำคัญในการดำเนินธุรกิจมาตลอด 50 ปีของเบทาโกร คือ การพัฒนาและเปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในยุคสมัยที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทอย่างมาก บริษัทเบทาโกรจึงนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาปรับใช้กับผลิตภัณฑ์และบริการขององค์กร ตั้งแต่การสร้างโมเดลการผลิตอาหารให้มีคุณค่ามากขึ้น เริ่มจากการคัดสรรยีนส์ดีเอ็นเอของสัตว์ แยกประเภทการผลิตสัตว์ให้เนื้อ นม ไข่ ไปจนถึงการสร้างระบบจัดเก็บข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ โดยมีการเก็บข้อมูลไว้ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ที่เป็นตัวอักษรในเอกสารหรือสื่อต่าง ๆ ภายในองค์กร หรือความรู้แฝงที่ถูกเก็บอยู่ในตัวบุคลากร ซึ่งความรู้เหล่านี้จะถูกดึงมาใช้เพื่อพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ให้กับองค์กรเพื่อให้ล้ำหน้าคู่แข่งอยู่เสมอ
 
business forum ceo thinking transformation

เช่นเดียวกับ คุณอริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการคนแรกของ LINE ประเทศไทย ที่ได้บรรยายต่อในหัวข้อ “นวัตกรรมดิจิทัลเปลี่ยนโลกนี้” ซึ่งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของดิจิทัลที่รวดเร็วเช่นนี้ ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตได้ง่ายขึ้น LINE ประเทศไทยจึงพยายามฉีกตัวเองออกไปไกลกว่าแค่การ Chat โดยเปลี่ยนแพลตฟอร์มให้มีความหลากหลาย และตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างครบถ้วนมากยิ่งขึ้น โดยกลายเป็นศูนย์รวมความบันเทิงที่รอบด้าน และให้การบริการที่ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเกม หรือคอนเทนต์ต่าง ๆ ไปจนถึงระบบการจ่ายเงินออนไลน์ การชอปปิง และล่าสุดยังมีบริการที่มีเฉพาะลูกค้าในประเทศไทย อย่างไลน์แมน (LINE MAN) ที่รวมบริการการจัดส่งสินค้าทั้งแมสเซนเจอร์ และการส่งอาหาร ซึ่งแม้จะไม่ใช่เจ้าแรกที่ให้บริการนี้ แต่ก็เติบโตจนได้รับความนิยมสูงกว่าคู่แข่งที่เริ่มมาก่อน โดยมีเคล็ดลับอยู่ที่การมองเห็นช่องว่างทางธุรกิจที่คู่แข่งขาดและอุดช่องว่างให้เต็ม โดยคุณอริยะกล่าวสรุปไว้ว่า จงตามติดเทคโนโลยีและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ บางครั้งต้องยอมสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดภายในแบรนด์ของตน ยังดีกว่าให้คนอื่นนำไปทำแทน และจงทำทุกอย่างให้รวดเร็วเสมอ
 
business forum ceo thinking transformation

ในส่วนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ก็ได้ขึ้นมาแชร์ทัศนะในหัวข้อ “นวัตกรรมเพื่อที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม” ซึ่งเป็นการเล่าถึงโครงการของเสนาดีเวลลอปเม้นท์ กับการสร้างสรรค์นวัตกรรมการจัดการที่อยู่อาศัยผ่านระบบออนไลน์ ที่เรียกว่า PropTech ตั้งแต่การจองบ้าน ไปจนถึงดูห้องตัวอย่าง และสามารถใช้แอปพลิเคชันในการจ่ายค่าส่วนกลาง และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สะดวกสำหรับลูกค้าในยุคดิจิทัล และยังสร้างบ้านเพื่อตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มอนาคต ที่มีแนวโน้มจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุไปจนถึงคนโสดมากขึ้นด้วย โครงการบ้านของเสนาฯ จึงเป็น  Digital Smart Home เน้นสร้างบ้านที่มีความปลอดภัย สะดวกสบาย นอกจากนี้ยังเพิ่มเติมบริการ Home & Facility Sharing การแบ่งปันอุปกรณ์ต่าง ๆ กับลูกบ้าน หรือเพื่อนบ้านคนอื่น ๆ และล่าสุดโครงการของเสนาฯ ยังใส่ใจเรื่องการประหยัดพลังงาน โดยออกแบบบ้านแต่ละหลังให้เป็น Energy Saving House ที่มาพร้อมกับอุปกรณ์การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้มากถึงสามเท่า แม้ตอนนี้บ้านในประเทศไทยแต่ละหลังจะยังไม่นิยมติดตั้งระบบพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์มากนัก แต่ผศ.ดร.เกษรา เน้นย้ำว่าสิ่งสำคัญคือการก้าวทันการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะส่งผลให้มองเห็นกลุ่มลูกค้าในอนาคตได้
 
แม้ว่าผู้บริหารแต่ละท่านจะมาจากสายธุรกิจที่แตกต่างกัน แต่ทัศนะของแต่ละท่าน ที่มาบรรยายในงานKrungsri Business Forum: CEO 4.0 Thinking Transformation ปฏิรูปความคิด พลิกโฉมประเทศไทย” ครั้งนี้มีจุดร่วมที่เหมือนกัน คือ เน้นหนักในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของทั้งสภาพสังคม เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปทุกวัน หลายท่านกล่าวสรุปด้วยแนวคิดของชาร์ลส์ ดาร์วิน ว่า “คนที่อยู่รอดไม่ใช่คนที่แข็งแรงที่สุดหรือคนที่ฉลาดที่สุด แต่เป็นผู้ที่สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมได้ดีที่สุดต่างหาก” ซึ่งประโยคนี้น่าจะเป็นบทสรุปของงานครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา