เคล็ดลับการทำธุรกิจสำหรับมือใหม่

เคล็ดลับการทำธุรกิจสำหรับมือใหม่

By Krungsri Guru

“เรียนจบแล้วทำอะไรดี?” หลายคนอาจคิดเหมือนคนทั่วไปก็คือ เรียนจบแล้วก็ไปทำงานประจำ แต่จะมีคนบางกลุ่มที่ไม่ชอบเป็นมนุษย์เงินเดือน แต่อยากมีกิจการเป็นของตัวเองและค้นหาว่าทำธุรกิจอะไรดีถึงจะประสบความมสำเร็จ บทความนี้เราจะมาเจาะเคล็ดลับสำหรับแนวคิดสร้างสรรค์และจุดเริ่มสำหรับการทำธุรกิจสำหรับมือใหม่ อาจจะเป็นมนุษย์เงินเดือนที่วางแผนหารายได้เสริม หรือเด็กเพิ่งจบใหม่ก็ไม่ผิดกติกาแต่ประการใดนะครับ มาดูไอเดียกันว่า มือใหม่ทำธุรกิจอะไรดี ลองติดตามกันได้เลยครับ

เคล็ดลับที่ 1 “เริ่มต้นหาธุรกิจจากสิ่งที่ชอบ”
มือใหม่ทำธุรกิจอะไรดี ก็ต้องเริ่มจากการมองหาอาชีพจากสิ่งที่เราชอบ ข้อนี้ฟังดูแล้วเหมือนจะง่าย แต่ความยากมันอยู่ที่สิ่งที่เราชอบนั้นเมื่อผลิตออกมาแล้วจะมีคนซื้อหรือเปล่า จะมีคนใช้บริการหรือไม่? ความคิดดังกล่าวทำให้หลายคนล้มเลิกแผนธุรกิจที่จะเริ่มจากสิ่งที่เราชอบไปอย่างน่าเสียดาย จากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนนั้น มือใหม่จะเริ่มทำธุรกิจอะไรถึงมีโอกาสประสบความสำเร็จ ก็ต้องเริ่มจากสิ่งที่ชอบ เราจะทำมันได้นาน และไม่เหนื่อยใจง่าย ๆ ในทางกลับกัน หากเราทำธุรกิจจากสิ่งที่เราไม่ชอบ แต่เราอยากได้เงิน เมื่อมีอุปสรรคเข้ามาทักทายเราจะท้อแบบง่าย ๆ และจะทำมันอย่างทุกข์ทรมาน ผมยังคงเชื่อมั่นในการเริ่มต้นกิจการส่วนตัวจากสิ่งที่ชอบ เริ่มจากข้างใน ลองมองหากันดูครับ
เคล็ดลับที่ 2 “หาจุดซื้อ ไม่ใช่จุดขาย”
ในอดีตการผลิตสินค้าและบริการนั้น เจ้าของผลิตภัณฑ์มักจะมองหาจุดขายของสินค้า หรือบริการของตัวเอง แต่การคิดแบบนั้นเป็นเรื่องที่หลายคนรู้กันหมดแล้ว มือใหม่ที่กำลังตัดสินใจว่าจะทำธุรกิจอะไร และธุรกิจของเราจะใช่ที่สุดหรือไม่ ให้ลองคิดตรงข้ามดูครับ แทนที่จะมองหาจุดขาย ให้ลองมองหาจุดซื้อดูบ้าง จุดซื้อที่ว่าก็คือ จุดที่ลูกค้าจะตัดสินใจซื้อสินค้า และแน่นอนที่สุดว่าการที่เราจะเข้าถึงจุดที่ลูกค้าตัดสินใจจะซื้อนั้นต้องอาศัยการสังเกตพฤติกรรมผู้บริโภค สังเกตให้ลึกลงไปว่าลูกค้าซื้อสินค้าด้วยสาเหตุใด อะไรเป็นแรงจูงใจที่ทำให้ลูกค้าคิดว่าสินค้าชิ้นนี้ต้องซื้อไม่ซื้อไม่ได้ ค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ สังเกต และมองหาดูนะครับ รับรองว่าคุ้มค่าแน่นอน
เคล็ดลับที่ 3 “มองอนาคตให้ออก”
สำหรับมือใหม่ที่กำลังมองหาช่องทางในการทำธุรกิจนั้น หากเราเข้าไปทำธุรกิจที่ตะวันตกดิน = เราเข้าไปเจ๊ง เราต้องเสียทั้งกำลังแรงกายและแรงใจ เสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ มันจะดีกว่ามากหากเราทำธุรกิจที่อยู่ในกระแสหรืออยู่ในเทรนด์ โดยเราต้องคิดไว้เสมอว่า คู่แข่งยังน้อย หรือมีความต้องการมากกว่าสินค้าที่มี เพราะข้อพึงระวังของการทำธุรกิจในกระแสก็คือ “คู่แข่ง” ที่อาจเข้ามาได้ทุกเมื่อครับ
เคล็ดลับที่ 4 “อย่าให้เสียงคนอื่นดังกว่าเสียงในใจของเรา”
เคล็ดลับข้อนี้ขอยกตัวอย่างจากประสบการณ์ของนักธุรกิจออนไลน์ท่านหนึ่งที่ในอดีตก็เคยเป็นมือใหม่ที่มองหาว่าทำธุรกิจอะไรดีที่สุด และตัดสินใจว่าจะทำธุรกิจออนไลน์ แต่มีคนทัดทานเอาไว้ว่ามันไม่มีทางประสบความสำเร็จ แต่ในใจเขาคิดว่า การทำธุรกิจออนไลน์นั้นใช้ทุนต่ำ แต่ได้ผลตอบแทนสูงถ้าหากประสบความสำเร็จ โชคดีที่เสียงในใจของเขาดังกว่าเสียงของคนอื่น ทำให้ทุกวันนี้ธุรกิจออนไลน์ของเขานั้นเกิดขึ้นมาได้ และกลายเป็นแหล่งทำเงินอีกแหล่งในชีวิต จากกรณีนี้ ถ้านักธุรกิจท่านนั้นล้มเลิกไปก็คงไม่มีผลงานเช่นวันนี้ ดังนั้นควรฟังเสียงในใจของเราให้มาก ๆ แต่ต้องระมัดระวังอย่า “บ้าบิ่น” คือ ทำธุรกิจโดยไม่คิดหน้าคิดหลังนะครับ
เคล็ดลับที่ 5 “ระวังหลัง”
เมื่อรู้แล้วว่ามือใหม่จะทำธุรกิจอะไรดี มีไอเดียธุรกิจที่เหมาะสมแล้ว และได้ลงมือทำจริง ๆ จากนั้นก็ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว แต่ทว่าต่อมากลับพลาดท่า “เจ๊ง” เพราะเราไม่ได้วางแผนการเงิน หรือวางแผนสภาพคล่องของกิจการเอาไว้ หลายต่อหลายครั้งธุรกิจดี ๆ ต้องล้มหายตายจากไปเพราะขาดสภาพคล่อง ดังนั้น การวางแผนทางการเงินและการใช้เงินกู้ที่ไม่เกินตัวจึงเปรียบเสมือนการระวังหลัง เพราะหากเราวิ่งไปข้างหน้าอย่างเดียว แต่ไม่สนใจข้างหลัง แน่นอนที่สุดว่า เมื่อเราสะดุด มันก็จะล้มดังครับ
เคล็ดลับที่ 6 “เริ่มทำทันทีที่เรามั่นใจ”
สำหรับคนที่ค้นหาว่าจะทำธุรกิจอะไรดีมาเป็นเวลานานแล้ว เคยบ้างไหมครับว่าระหว่างนั้น เวลาเราเจอธุรกิจใหม่ ๆ เราคิดในใจว่า “ธุรกิจนี้เราเคยคิดมาแล้ว แต่ไม่ได้ทำ มีคนทำละ... เราคิดได้ก่อนแท้ ๆ” ความคิดแบบนี้มันไร้ประโยชน์ และไร้สาระมาก ๆ ครับ

 
หากเราแค่คิด แต่ไม่ลงมือทำ = เราไม่ได้เริ่มต้น
เราจะมาอ้างว่ามันคือความคิดของเราไม่ได้ครับ หากเราแค่คิดเพียงอย่างเดียว แบบนี้ใคร ๆ ก็อาจจะคิดได้ แต่สิ่งที่ทำให้แตกต่างก็คือ การลงมือทำ นั่นเองครับ เพราะสิ่งนี้จะทำให้คุณก้าวพ้นจากคำถามที่ว่า “มือใหม่ทำธุรกิจอะไรดี“ ไปสู่ “ทำอย่างไรธุรกิจเราถึงจะรุ่ง“ ในที่สุด
เคล็ดลับทั้ง 6 ประการไม่ใช่สูตรตายตัว แต่มันถูกสรุปมาแบบย่อ ๆ จากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนเอง มือใหม่ที่ยังไม่รู้ว่าจะทำธุรกิจอะไรดี รวมถึงคนที่ลองลงมือทำไปบ้างแล้วก็ลองปรับไปใช้กันดูนะครับ อย่าลืมนะครับ “เริ่มทำทันทีที่เรามั่นใจ”
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา