3 ข้อที่ต้องใส่ใจ ก่อนเริ่มระดมทุน Crowdfunding

3 ข้อที่ต้องใส่ใจ ก่อนเริ่มระดมทุน Crowdfunding

By Krungsri Plearn Plearn

การระดมทุนสาธารณะ หรือ Crowdfunding กลายเป็นทางเลือกสำคัญและน่าสนใจสำหรับคนที่อยากเริ่มต้นธุรกิจสตาร์ทอัพ (Startup) แต่ยังขาดเงินลงทุน รวมถึงต้องการสำรวจตลาดและกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจไปพร้อม ๆ กัน โดยโปรโมทโครงการหรือธุรกิจ เพื่อเปิดรับการระดมทุนสาธารณะบนแพลตฟอร์ม หรือเว็บไซต์ที่เป็นตัวกลางในการช่วยระดมทุน ซึ่งการระดมทุนสาธารณะที่เราคุ้นเคยกันดี จะมี 4 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่

  • Reward-based Crowdfunding หากผู้สนับสนุนช่วยกันระดมทุนให้แก่โครงการได้สำเร็จ ถึงเป้าที่กำหนด ผู้สนับสนุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ตอบแทนกลับไป เช่น ได้รับสินค้าหรือบริการจากโครงการเป็นกลุ่มแรก เป็นต้น
  • Donation-based Crowdfunding การระดมทุนในรูปแบบการขอรับบริจาค เพื่อนำทุนไปใช้ตามวัตถุประสงค์โครงการ ผู้สนับสนุนทุนจะไม่ได้รับสิ่งใดเป็นผลตอบแทน
  • Equity-based Crowdfunding การระดมทุนด้วยการ “เข้าหุ้น” คือ ผู้สนับสนุนทุนจะได้ถือครองหุ้นของโครงการนั้น ๆ ด้วยตามสัดส่วน พร้อมโอกาสที่จะได้รับผลประโยชน์จากกิจการในอนาคต
  • Lending-based Crowdfunding หรือ Peer-to-Peer Lending การระดมทุนผ่านการกู้ยืมเงินทุนจากผู้สนับสนุน โดยกำหนดระยะเวลาในการชำระเงินคืนและจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ผู้สนับสนุน
เมื่อคุณมีไอเดียธุรกิจสตาร์ทอัพที่น่าสนใจในมือแล้ว คุณก็สามารถเลือกรูปแบบการระดมทุนสาธารณะรวมทั้งแพลตฟอร์มที่เหมาะสมกับธุรกิจของคุณได้ไม่ยาก แต่ก่อนจะเริ่มต้นการระดมทุน หากคุณทบทวนและเตรียมพร้อม 3 ข้อดังต่อไปนี้ ให้รอบคอบก่อนจะโปรโมทโครงการ ก็น่าจะช่วยเพิ่มโอกาสในการระดมทุนได้สำเร็จตามวัตถุประสงค์

1. เริ่มต้นด้วยความเข้าใจ


เว็บไซต์ตัวกลางหรือแพลตฟอร์มในการระดมทุนทั่วไป จะแบ่งการระดมทุนสาธารณะออกเป็น 2 ระบบหลัก ได้แก่ ระบบ All or Nothing คือ เว็บไซต์ตัวกลางจะเก็บเงินระดมทุนจากผู้สนับสนุน (Backer) ไว้ก่อน เมื่อระดมทุนได้สำเร็จตามยอดที่ตั้งไว้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ผู้สร้างโครงการจึงจะได้รับเงินเอาไปลงทุน โดยทางเว็บไซต์ตัวกลางจะหักค่าธรรมเนียม 5% จากยอดระดมทุนที่ถึงเป้า แต่หากระดมทุนไม่สำเร็จ ผู้สร้างโครงการจะไม่ได้รับเงินระดมทุนเลย ถือว่าโครงการนั้น ๆ ล้มเหลว ส่วนผู้สนับสนุนก็จะได้รับเงินทุนคืนในภายหลัง ระบบ All or Nothing เหมาะกับกลุ่มธุรกิจประเภทผลิตสินค้า เช่น ภาพยนตร์ หนังสือ เป็นต้น แรงจูงใจให้คนช่วยกันระดมทุนจนสำเร็จมีค่อนข้างสูง
ส่วนอีกระบบ เรียกว่า ระบบ Flexible คือ เว็บไซต์ตัวกลางเปิดกว้างให้ผู้สร้างโครงการเลือกระดมทุนในระยะเวลาและยอดที่กำหนดได้ หรือเปิดระดมทุนไปเรื่อย ๆ เพียงแต่ผู้เข้ามาสนับสนุนจะถูกหักเงินทันทีที่ตัดสินใจสนับสนุน และผู้สร้างโครงการก็จะได้รับเงินไปดำเนินโครงการล่วงหน้าทันทีเช่นกัน แม้ว่าโครงการนั้น ๆ จะระดมทุนไม่สำเร็จตามเป้า ผู้สนับสนุนก็ไม่สามารถขอเงินคืนได้ นอกจากนี้ ถ้าระดมทุนสำเร็จทางเว็บไซต์จะหักค่าธรรมเนียม 4% จากยอด แต่ถ้าระดมทุนไม่สำเร็จจะหักค่าธรรมเนียมเพิ่มเป็น 9% เนื่องจากเปิดให้ระดมทุนได้แบบไม่จำกัดเวลา ระบบ Flexible จึงเหมาะกับกลุ่มโครงการหรือธุรกิจเพื่อสังคม มูลนิธิ มากกว่าธุรกิจส่วนบุคคล
ดังนั้น การจะนำโครงการของคุณเข้าสู่เว็บไซต์ตัวกลางในการระดมทุน ต้องทำความเข้าใจรูปแบบธุรกิจให้ดีเสียก่อน เพื่อที่คุณจะได้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่พร้อมสนับสนุนโครงการของคุณจริง ๆ และลดความเสี่ยงในการระดมทุนล้มเหลว

2. อย่ามองข้ามพลังของโซเชียลมีเดีย


แม้เว็บไซต์ตัวกลางจะเป็นแพลตฟอร์มและพื้นที่หลักในการเปิดรับระดมทุน เนื่องจากเป็นแหล่งรวมของนักลงทุนและผู้สนับสนุนสาธารณะ แต่คุณก็ไม่ควรมองข้ามการประชาสัมพันธ์โครงการผ่านสื่อโซเชียลในช่องทางต่าง ๆ ด้วย อย่าง Facebook และ Twitter เพื่อให้โครงการระดมทุนของคุณเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ เพิ่มโอกาสในการรับรู้ในวงกว้าง ซึ่งอาจช่วยให้ยอดระดมทุนในโครงการของคุณทะลุเป้าได้ด้วย ดังนั้น คุณควรเตรียมการประชาสัมพันธ์ให้ดี แล้วเลือกใช้พลังของโซเชียลมีเดียให้เกิดประโยชน์

3. ใส่ใจรายละเอียดให้ครอบคลุม


การวางแผนระดมทุนสาธารณะ ไม่ควรมองแค่ความสำเร็จในการได้มาซึ่งเงินลงทุนตามเป้าหมายเท่านั้น แต่เราควรมองไปให้ไกลถึงต้นทุนที่แท้จริง และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่จะตามมา เช่น กรณีระดมทุนแบบ Reward-based Crowdfunding คุณควรประเมินมูลค่ารางวัลหรือสิทธิประโยชน์ที่ผู้สนับสนุนจะได้รับด้วย ว่ามีความเหมาะสมกับเงินร่วมลงทุนของเขาหรือไม่ แล้วคุณได้เผื่องบประมาณในการดูแลส่วนนี้เข้าไปในเป้าหมายเงินระดมทุนของคุณหรือเปล่า รวมถึงค่าธรรมเนียมที่คุณต้องหักให้แก่เว็บไซต์ตัวกลาง ก็ควรถูกคำนวณเข้าไปในเงินทุนเป้าหมายเอาไว้ตั้งแต่ต้น ไม่เช่นนั้นความสำเร็จจากการระดมทุนของคุณอาจต้องแบกรับภาระหนัก หรือขาดทุน เรื่องเหล่านี้จึงควรคิดให้รอบคอบและใส่ใจรายละเอียดให้มากก่อนตัดสินใจเปิดระดมทุน
การทำความเข้าใจหลักการระดมทุนสาธารณะ (Crowdfunding) จึงเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพที่อยากนำโมเดลระดมทุนไปใช้ เพราะไม่เพียงแค่คุณจะมีโอกาสระดมทุนได้สำเร็จ แต่ยังลดความเสี่ยงต่าง ๆ และความล้มเหลวที่อาจเกิดขึ้นได้มากทีเดียว
 
ขอบคุณข้อมูลจาก: techsauce.co, smethailandclub.com, dv.co.th, marketingoops.com
ขอบคุณข้อมูลจาก: techsauce.co ,smethailandclub.com ,dv.co.th ,marketingoops.com
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา