Crowdfunding หรือการระดมทุนจากกลุ่มคนจำนวนมากที่ต้องการสนับสนุนการสร้างสินค้าใหม่ ๆ โดยเจ้าของไอเดียที่เข้ามาขอระดมทุนใน Crowdfunding มักจะนำเสนอสินค้าที่มีความน่าสนใจทั้งในด้านความคิดสร้างสรรค์และประโยชน์ในการใช้งาน เพื่อพยายามแก้ปัญหาด้วยวิธีที่ต่างไปจากเดิม โดยผู้สนับสนุนอาจจะได้รับผลตอบแทนเป็นตัวสินค้า หรืออาจจะเป็นผลตอบแทนในรูปแบบอื่น ๆ ตามที่ผู้ขอระดมทุนได้ระบุไว้
วันนี้ เรามาดูกันครับว่า Crowdfunding จะมาเปลี่ยนแปลง หรือเสริมสร้างการเริ่มต้นธุรกิจ e-Commerce ในแง่มุมใดบ้าง ในบทความนี้ ผมขอใช้คำว่า e-Commerce แทนธุรกิจที่ขายสินค้าบนช่องทางออนไลน์นะครับ
แหล่งเงินทุน
กระบวนการขอระดมทุนของ Crowdfunding เป็นการนำเสนอไอเดียผ่านช่องทางออนไลน์ ผ่านทางแพลตฟอร์มของเว็บไซต์ crowdfunding ที่ส่งตรงถึงกลุ่มเป้าหมายเป็นจำนวนมาก ผู้ขอระดมทุนจะนำเสนอไอเดียบนเว็บไซต์โดยเล่าถึงสินค้าที่ต้องการจะสร้าง, เสนอผลตอบแทนที่ผู้สนับสนุนจะได้รับ และตั้งจำนวนเงินที่ต้องการจะขอระดมทุนเพื่อทำให้โครงการนั้น ๆ เป็นจริง ซึ่งผู้สนับสนุนอาจตัดสินใจร่วมลงทุน หากชอบไอเดียของสินค้า, ชอบแนวคิดของเจ้าของ และเชื่อมั่นว่าไอเดียเหล่านี้มีความเป็นไปได้จริงในการผลิต ด้วยหลักการของ Crowdfunding ที่เป็นการระดมทุนจากมวลชน ทำให้ผู้สนับสนุนเหล่านี้ใช้เงินลงทุนจำนวนไม่สูงนัก โดยกลุ่มผู้ร่วมระดมทุนอาจจะได้ผลตอบแทนเป็นสินค้าดังกล่าวในราคาที่ถูกกว่าเมื่อสินค้านั้น ๆ ถูกผลิตออกขายสำหรับบุคคลทั่วไปในอนาคต
ส่วน e-Commerce แบบเดิมเจ้าของธุรกิจย่อมต้องมีการลงทุนเพื่อผลิต หรือจัดหาสินค้ามาวางขาย โดยเงินลงทุนนั้นอาจจะมาจากทุนส่วนตัว หรือการกู้ยืมจากคนรู้จักธนาคารโดยในกรณีของการกู้ยืม เจ้าของธุรกิจยังคงมีหน้าที่นำเสนอโครงงาน และชักจูงผู้ให้กู้ ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของธุรกิจหรือสินค้า ซึ่งหากแผนการลงทุนยังไม่โดนใจผู้ให้กู้ ก็มีโอกาสสูงที่จะถูกปฏิเสธ อีกประเด็นหนึ่งก็คือ ผู้ให้กู้ แท้จริงแล้วก็ไม่ใช่บุคคลที่จะมาซื้อสินค้าหรือบริการของเราโดยตรง ในบางครั้ง โครงการของเราอาจจะไม่ถูกใจผู้ให้กู้ แต่อาจจะเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าก็เป็นได้
ภาระหนี้
หลังการระดมทุนเป็นผลสำเร็จ ผู้ขอระดมทุนมีหน้าที่นำเงินลงทุนจาก Crowdfunding ไปเปลี่ยนไอเดียให้เป็นสินค้า ซึ่งในขั้นตอนนี้ก็ยังคงมีความเสี่ยงทั้งจากกระบวนการดำเนินงานและการผลิต โดยหากผู้ระดมทุนไม่สามารถผลิตสินค้าได้ตามที่สัญญาไว้ แน่นอนว่า ความน่าเชื่อถือของตัวผู้ระดมทุนก็จะลดลง ทำให้โอกาสที่จะได้รับการระดมทุนในคราวหน้ายากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ขอระดมทุนไม่ต้องมีภาระหนี้โดยตรงในการใช้คืนเงินลงทุนที่ได้รับ
ซึ่งตรงข้ามกับกรณีของเจ้าของธุรกิจ e-Commerce ที่กู้เงินมาลงทุน เพราะไม่ว่าธุรกิจประสบความสำเร็จหรือไม่ก็ตาม ทางเจ้าของธุรกิจก็ยังคงต้องมีภาระในการชำระหนี้ผูกพันที่เกิดจากการกู้ยืมต่อไป
ต้นทุนในการทดสอบตลาด
เจ้าของไอเดียสามารถใช้กระบวนการระดมทุนใน Crowdfunding เป็นช่องทางในการทดสอบความน่าสนใจของธุรกิจ เพื่อศึกษาการตอบรับของตลาดต่อสินค้าได้ตั้งแต่ยังไม่มีการใช้เงินลงทุน หรืออาจจะลงทุนเบื้องต้นเป็นเงินจำนวนไม่มากนัก เพื่อสร้างต้นแบบของสินค้าประกอบในการนำเสนอโครงการ หากการระดมทุนไม่สำเร็จตามเป้าที่ตั้งไว้ ก็พอจะแปลได้ว่า สินค้าของเรามีแนวโน้มที่จะไปไม่รอด และอาจจะต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนสินค้าเพื่อขอระดมทุนใหม่ หรือไม่ก็ล้มเลิกไอเดียนี้ไปก่อน ซึ่งข้อดี คือ เราสามารถประหยัดค่าใช้จ่าย และเวลาจากการสร้างสินค้าที่ตลาดไม่ให้การตอบรับ ในทางตรงข้าม หากได้รับการระดมทุนตามเป้าที่กำหนด ก็เท่ากับว่าเรามีกลุ่มลูกค้ากลุ่มใหญ่รอใช้งานอยู่แล้ว เพราะหากผู้สนับสนุนไม่ได้ชอบสินค้า ก็คงไม่ยอมจ่ายเงินลงทุนให้จริงไหมครับ ซึ่งเราสามารถได้รับ feedback ทั้งหมดนี้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่สำหรับ e-Commerce แบบเดิมเจ้าของธุรกิจจะได้รับ feedback ก็ต่อเมื่อมีการวางสินค้ารอบแรกออกขาย ซึ่งล้วนแต่มีค่าใช้จ่ายสูงทั้งสิ้น (อ่านบทความ 5 วิธีหยุดเงินรั่วไหลให้ธุรกิจ ก่อนที่จะสายไป ได้
ที่นี่)
Marketing
การเสนอไอเดียบน Crowdfunding นับว่าเป็นหนึ่งช่องทางในการทำ Marketing ที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย เนื่องจากไอเดียที่นำเสนอส่วนใหญ่มักจะเป็นสินค้าที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งสอดคล้องกับกลุ่มผู้สนับสนุนใน Crowdfunding ที่นิยมแสวงหาสิ่งใหม่ ๆ ที่จะมาช่วยทำให้ชีวิตดีขึ้น นอกจากเงินลงทุนแล้ว ผู้สนับสนุนใน Crowdfunding เองก็ยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะช่วยบอกต่อสินค้าให้กับคนรอบข้างอีกด้วย โดยเฉพาะการส่งต่อทางโซเชียลเน็ตเวิร์ค ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ขอระดมทุนสามารถใช้ข้อมูล และคำแนะนำจากผู้สนับสนุนเพื่อเป็นฐานข้อมูลในการพัฒนาสินค้า และสร้างไอเดียสำหรับสินค้าใหม่ต่อไปได้
จะเห็นได้ว่า Crowdfunding สามารถลดค่าใช้จ่าย และลดความเสี่ยงในการก่อตั้งธุรกิจ e-Commerce ได้ในหลายส่วน ด้วยกระบวนการขอระดมทุนใน Crowdfunding ทำให้เจ้าของไอเดียสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ถูกกว่าการกู้ยืม แถมการประชาสัมพันธ์สินค้า และการทดสอบตลาด ต่างเกิดขึ้นได้ด้วยค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่ามาก หากเรามองอีกมุมหนึ่ง อาจจะกล่าวได้ว่า การระดมทุนแบบ Crowdfunding เป็นพื้นฐานที่ดีที่จะต่อยอดไอเดียของเราให้กลายเป็นธุรกิจ e-Commerce ที่ยั่งยืนต่อไป