พอเข้าสู่ช่วงปีใหม่นอกจากจะเป็นบรรยากาศของการเฉลิมฉลองแล้ว สำหรับผู้มีรายได้ทุกคนยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องรีบจัดการให้เรียบร้อยก็คือการยื่นภาษี เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องทำให้เรียบร้อยก่อนวันที่ 31 มีนาคมของทุกปี เมื่อก่อนการยื่นภาษีอาจจะเป็นเรื่องที่ใช้เวลาจัดการพอสมควรเพราะต้องเดินทางที่ไปกรมสรรพากรในเขตพื้นที่ แต่เดี๋ยวนี้การยื่นภาษีสามารถยื่นแบบออนไลน์ทำได้ง่าย ๆ ที่บ้านเพียงแค่เตรียมเอกสาร จากนั้นก็สแกนหรือถ่ายรูปเอกสารเตรียมไว้ให้เรียบร้อย โดยเอกสารที่ควรเตรียมมีดังต่อไปนี้
1. ‘ใบ 50 ทวิ’ หรือ ‘ใบรับรองภาษีหัก ณ ที่จ่าย’
การยืนยันแหล่งรายได้ที่ได้รับมาทั้งปี สำหรับใครที่ทำงานประจำเอกสารจะแสดงทั้งรายได้ทั้งปี เงินที่จ่ายเข้าประกันสังคม รวมถึงเงินจ่ายสะสมเข้า
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) หรือสำหรับข้าราชการก็จะเป็นเงินที่จ่ายสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญช้าราชการ (กบข.) ที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
2. ใบรับรองการลดหย่อนภาษีต่าง ๆ อาทิเช่น
- เอกสารรับรองการซื้อหน่วยลงทุนทั้ง SSF และ RMF
- เอกสารรับรองการชำระเบี้ยประกันทั้งประกันชีวิต ประกันสุขภาพต่าง ๆ
- เอกสารรับรองการชำระดอกเบี้ยสำหรับที่อยู่อาศัย
- เอกสารรับรองการลดหย่อนภาษีตามมาตรการรัฐ เช่น ช้อปดีมีคืน, ค่าซื้อกองทุนรวม SSFX เป็นต้น
- ฯลฯ
3. ใบเสร็จรับเงินการบริจาคประเภทต่าง ๆ
ทั้งการบริจาคทั่วไปและการบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคมและโรงพยาบาลรัฐ
เมื่อเราเตรียมเอกสารต่าง ๆ เรียบร้อย จากนั้นก็สามารถเข้าไปที่เว็บไซต์
www.rd.go.th โดยมีขั้นตอนดังนี้
- คลิกเข้าไปที่ “ยื่นแบบทุกประเภท”
- จากนั้นไปที่ “ภ.ง.ด. 90/91” ที่เป็นตัวหนังสือสีแดง
- คลิกที่ “ยื่นภาษี ภ.ง.ด. 90/91”
สำหรับใครที่เคย
ยื่นภาษีออนไลน์มาแล้วในปีก่อนหน้าสามารถใส่
“หมายเลขผู้ใช้งาน” และ
“รหัสผ่าน” ก็สามารถเข้าระบบได้ทันที แต่ถ้ายังไม่เคยลงทะเบียนสามารถคลิกที่
“สมัครสมาชิก” จากนั้นก็กรอกข้อมูลตามที่ระบบแจ้ง ก็สามารถใช้งานได้เลยทันที
4. สิ่งที่เราจำเป็นต้องทำ คือ การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลในเบื้องต้นว่าถูกต้องหรือไม่ หากไม่ถูกต้องก็สามารถแก้ไขให้ถูกต้อง จากนั้น คลิกที่ “ทำรายการต่อไป” ได้ทันที
5. เมื่อเรามาอยู่ที่หน้า “แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2563 ภ.ง.ด. 90/91” ให้เลือก “สถานภาพผู้มีเงินได้” และเลือกสถานการณ์ยื่นแบบ โดยให้เลือกการ “ยื่นปกติ” จากนั้นเมื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเรียบร้อยแล้วให้คลิกที่ “ทำรายการต่อไป” อีกครั้ง
6. หน้านี้ถือว่ามีความสำคัญมากที่สุด ที่เราจะต้องเลือกประเภทรายได้ของเรา
ด้านซ้ายมือ จะเป็นการ “เลือกรายการเงินได้พึงประเมิน” ให้ตรงตามประเภทรายได้ของเรา โดยทั่วไปแล้วสำหรับคนที่ทำงานประจำรายได้มักจะเป็น 40(1) แต่ถ้าใครมีรายได้ประเภทอื่นด้วยก็สามารถคลิกเลือกให้ถูกต้องตามความเป็นจริง
อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญด้านขวามือ คือ การ “เลือกเงินได้ที่ได้รับยกเว้น/ค่าลดหย่อน” ให้เราเลือกค่าลดหย่อนที่เราได้ทำการลดหย่อนจริงและมีเอกสารยืนยันเท่านั้น เพราะถ้าเราได้ทำการลดหย่อนไปแต่ไม่มีเอกสารยืนยัน จะไม่สามารถนำมาลดหย่อนได้ จากนั้นเมื่อตรวจสอบความถูกต้องเรียบร้อยแล้ว สามารถคลิกที่ “ทำรายการต่อไป”
7. ระบบจะให้เรากรอกรายละเอียดส่วนของรายได้ โดยเราจะต้องกรอกข้อมูลตามจริง ตามเอกสาร “50 ทวิ” ที่เราได้รับมา โดยกรอกทั้งเงินได้ถึงประเมิน ภาษีหัก ณ ที่จ่ายตามรายได้ที่เราได้เลือกไว้เมื่อหน้าที่แล้ว หากกรอกข้อมูลครบถ้วนแล้วสามารถคลิกที่ “ทำรายการต่อไป”
8. เมื่อเรากรอกส่วนของเงินได้เรียบร้อยแล้ว ระบบจะให้เรากรอก “ค่าลดหย่อน” ตามที่เราได้เลือกไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งเราสามารถกรอกตามเอกสารที่เราได้เตรียมไว้ก่อนหน้านี้ได้ จากนั้นสามารถคลิก “ทำรายการต่อไป” ได้ทันที
9. เมื่อมาถึงหน้านี้ ให้เราตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลทั้งหมดที่เราได้กรอกมาก่อนหน้านี้ว่าถูกต้องหรือไม่ ถ้าไม่ถูกต้องให้กดย้อนกลับเพื่อแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องได้
หากตรวจสอบแล้ว เราสามารถเลือกประสงค์อุดหนุนเงินภาษีให้แก่พรรคการเมืองและสามารถเลือกได้ว่าจะไม่ประสงค์ขอคืนเงินภาษีหรือไม่ก็ได้เช่นกัน เมื่อเราเลือกเสร็จเรียบร้อยแล้ว สามารถคลิก “ทำรายการต่อไป” ได้ทันที
10. เมื่อตรวจสอบข้อมูลเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถคลิกที่ “ยืนยันการยื่นแบบ” ระบบก็จะพาเราไปที่หน้าสุดท้าย ในส่วนนี้ให้เราถ่ายรูปหรือปริ้น “หมายเลขอ้างอิงการยื่นแบบ” ออกมา และเราสามารถคลิกที่ “นำส่งเอกสารขอคืนภาษี” เพื่อส่งรูปเอกสารต่าง ๆ ที่เราได้เตรียมไว้เพื่อประกอบในการพิจารณายื่นภาษีด้วย
สำหรับใครที่ได้รับเงินภาษีคืน แนะนำว่าให้ผูกบัญชีพร้อมเพย์เตรียมไว้เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการโอนเงินภาษีคืนจากทางกรมสรรพากร แต่สำหรับคนที่ต้องจ่ายชำระภาษีเพิ่มเติมก็สามารถจ่ายตามช่องทางที่กรมสรรพากรกำหนดได้โดยทันทีเช่นเดียวกัน