เช็กเงื่อนไขการซื้อกองทุน RMF ป้องกันการขายคืนแบบผิดเงื่อนไข
ก่อนที่จะขายคืนกองทุน RMF เราขอพามาทบทวนกันก่อนว่า
เงื่อนไขการซื้อกองทุน RMF มีอะไรบ้าง เพื่อที่คุณจะได้ขายคืนได้โดยไม่ผิดเงื่อนไข และรับสิทธิประโยชน์กันอย่างครบถ้วน
- RMF ซื้อได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ที่ต้องเสียภาษี เมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอื่น ๆ เช่น กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในปีภาษีนั้น ๆ
- หลังจากที่ซื้อกองทุน RMF จะต้องลงทุนอย่างสม่ำเสมอ และต้องไม่ระงับการซื้อ RMF เกิน 1 ปีขึ้นไป หรือก็คือสามารถซื้อทุกปี หรือซื้อแบบปีเว้นปีได้นั่นเอง
- หากต้องการถอน หรือขายคืน RMF แบบไม่ผิดเงื่อนไข จะต้องถือหน่วยลงทุนอย่างน้อย 5 ปี (นับตั้งแต่วันแรกที่ซื้อหน่วยลงทุน) มีการลงทุนอย่างต่อเนื่องตามเงื่อนไขที่กำหนด และอายุครบ 55 ปีขึ้นไป
- หากต้องการหยุดซื้อ RMF แบบไม่ผิดเงื่อนไข จะต้องถือหน่วยลงทุนมาอย่างน้อย 5 ปีขึ้นไป ไม่มีการระงับการซื้อเกิน 1 ปี และมีอายุครบ 55 ปีขึ้นไป
ถ้าคุณทำตามครบทุกเงื่อนไข ก็สามารถขายคืน RMF ได้เลย รับรองว่า ไม่ทำให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง และได้รับเงินก้อนไปใช้จ่ายในวัยเกษียณอย่างสบาย ๆ แน่นอน
ตอบ 8 คำถามพบบ่อยเกี่ยวกับการขายคืน RMF รู้ไว้ ไม่เสียสิทธิ
สำหรับใครที่ยังมีข้อสงสัย หรือความกังวลใจอยู่ Krungsri The COACH ได้รวมคำถามที่หลายคนมักสงสัยเกี่ยวกับการขายคืน RMF พร้อมคำตอบมาให้แล้ว รับรองว่า จะช่วยให้คุณเข้าใจเงื่อนไข RMF และสามารถขายคืนได้อย่างถูกต้องมากขึ้นแน่นอน
1. หากเริ่มต้นลงทุน RMF ตอนอายุ 51 ปี เมื่อครบอายุ 55 ปี สามารถขายได้ตามเงื่อนไขหรือไม่?
ยังไม่สามารถขายได้ เนื่องจากถือลงทุนผ่าน RMF จะต้องลงทุนให้ผ่านครบทั้ง 2 เงื่อนไข คือ ลงทุนอย่างน้อย 5 ปีนับแต่วันแรกที่ซื้อ และครบ 55 ปีบริบูรณ์ ซึ่ง RMF จะใช้หลักการนับแบบ “วันชนวัน” หรือเป็นระยะเวลา 5 ปีเต็มเท่านั้น
2. ซื้อ RMF แล้วไม่นำไปลดหย่อนภาษีได้หรือไม่?
คำตอบคือ ได้ แต่ถ้าเกิดกำไรจากการลงทุน จำเป็นที่จะต้องรายงานกำไรที่เกิดขึ้นจากการลงทุนให้แก่กรมสรรพากร เพื่อนำไปเสียภาษีเงินได้ของปีนั้น ๆ เนื่องจาก RMF เป็นกองทุนประเภทพิเศษที่ไม่ได้รับการยกเว้นกำไรจากการขาย (Capital Gain) เหมือนกับกองทุนรวมทั่วไป
3. หากซื้อกองทุน RMF เพื่อลดหย่อนภาษี ต้องดำเนินการแจ้งกรมสรรพากรหรือไม่?
ปี 2565 เป็นปีแรกที่กรมสรรพากรกำหนดเกณฑ์ใหม่ ให้ผู้ลงทุนที่ต้องการใช้สิทธิลดหย่อน SSF และ RMF จะต้องแจ้งขอใช้สิทธิลดหย่อน เพื่อให้ บลจ. ส่งการแจ้งความประสงค์ขอใช้สิทธิลดหย่อนภาษีของผู้ลงทุนให้กรมสรรพากรทราบต่อไป การแจ้งความประสงค์ดังกล่าว เป็นไปตามข้อบังคับใหม่ที่ทางกรมสรรพากรประกาศใช้แทนการใช้หนังสือรับรองการซื้อหน่วยลงทุนแบบเดิมที่ผู้ลงทุนจะต้องดำเนินการยื่นด้วยตัวเอง โดยหากผู้ลงทุนไม่แจ้งความประสงค์จะไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากการซื้อกองทุน SSF RMF ได้
การแจ้งความประสงค์ไม่จำเป็นต้องทำใหม่ทุกปี การแจ้งความประสงค์เพียงครั้งเดียว สามารถใช้ไปได้ตลอด หรือจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง โดยผู้ลงทุนสามารถแจ้งขอใช้สิทธิลดหย่อน SSF RMF กับ บลจ. ที่ผู้ลงทุนซื้อกองทุน SSF RMF โดยตรง รวมถึงช่องทางออนไลน์ที่สามารถดำเนินการ
แจ้งความประสงค์ขอใช้สิทธิลดหย่อน SSF RMF ได้ด้วยตัวเอง
4. ถ้าตอนซื้อไม่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีกับทางกรมสรรพากร ตอนขายออกก็ไม่น่าจะต้องรายงานกรมสรรพากร ใช่หรือไม่?
คำตอบคือ ไม่ใช่ จะต้องรายงานกำไรจากการลงทุนที่เกิดขึ้นกับทางกรมสรรพากร โดยนำกำไรเข้าไปคำนวณเป็นรายได้ 40(8) แนะนำว่าทุกการซื้อ RMF ควรใช้เพื่อลดหย่อนภาษีและไม่ควรซื้อเกินสิทธิ
5. RMF ควรเริ่มขายเมื่อไม่มีรายได้แล้ว ถ้าหากยังมีรายได้เข้าอย่างต่อเนื่อง ก็ยังไม่ควรแบ่งขายออกไป ใช่หรือไม่?
คำตอบคือ ถูกต้อง เนื่องจาก RMF จะมีเงื่อนไขเรื่องความต่อเนื่องในการลงทุนอยู่ สมมติว่าเงินก้อนแรกที่เราลงทุน RMF คือเมื่อ 10 ปีก่อน และเงินก้อนล่าสุดที่เราลงทุนไป คือ เมื่อปีที่แล้ว แต่ถ้าตอนนี้เราอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์แล้ว เราสามารถสั่งขายออกมาทั้งหมดได้เลย รวมถึงเงินก้อนล่าสุดที่เราเพิ่งลงทุนไป ถึงแม้ยังไม่ครบ 5 ปีตามเงื่อนไขก็ตาม
6. การสั่งขาย RMF เพื่อย้ายไปลงทุน RMF อีกกองหนึ่งที่มีนโยบายการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป นั้นไม่มีผลกระทบต่อการเสียภาษีแก่กรมสรรพากร ใช่หรือไม่?
คำตอบคือ
ไม่ใช่ เพราะถ้าหากสั่งขาย และถ้าเรายังไม่ปฏิบัติให้ครบตามเงื่อนไขการถือครอง RMF ของกรมสรรพากร จะทำให้เราต้องคืนภาษีทั้งหมดที่ได้รับลดหย่อนภาษีมา พร้อมค่าปรับตามที่กรมสรรพากรกำหนด ถ้าหากเราต้องการเปลี่ยนกองทุนต้องสั่ง “
สับเปลี่ยนกองทุน RMF” ไปยัง RMF อีกกองหนึ่ง โดยห้ามสั่งขายเด็ดขาด
7. ในกรณีที่ผู้ลงทุนเสียชีวิตหรือทุพพลภาพ แต่ยังลงทุนไม่ครบ 5 ปีนับตั้งแต่ลงทุนวันแรก หรืออายุยังไม่ครบ 55 ปีบริบูรณ์ การขาย RMF ไม่จำเป็นต้องเสียภาษีย้อนหลัง ใช่หรือไม่?
คำตอบคือ ใช่ ไม่ต้องคืนภาษี และไม่เสียค่าปรับแต่อย่างใด
8. กองทุน RMF ขายก่อนกำหนดได้ไหม?
คำตอบคือ
ขายก่อนกำหนดได้ แต่จะเสียสิทธิประโยชน์ทางภาษีไป และผู้ลงทุนจะต้องคืนเงินภาษีตามเงื่อนไขที่ถูกกำหนดไว้ด้วย ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 กรณีหลัก ๆ ได้แก่
- ในกรณีที่ลงทุนไม่ถึง 5 ปี และผิดเงื่อนไข จะต้องคืนเงินภาษีที่ได้รับการยกเว้นเป็นเวลา 5 ปี และนำกำไรที่ได้จากการขายหน่วยลงทุนไปรวมเป็นเงินได้ในปีภาษีที่ขายด้วย
- ในกรณีที่ลงทุน 5 ปีขึ้นไป แต่ขายก่อนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ จะต้องคืนเงินภาษีได้รับการยกเว้นเป็นเวลา 5 ปี เพียงอย่างเดียว
Krungsri The COACH แนะนำ : เคล็ดลับ ซื้อ-ขายกองทุน RMF อย่างไรให้ปลอดภัย
การซื้อ-ขายกองทุน RMF ให้ปลอดภัย จะต้องซื้อผ่านแพลตฟอร์มที่น่าเชื่อถือเท่านั้น Krungsri The COACH ขอแนะนำแอปพลิเคชัน
krungsri app (กรุงศรีแอป) ตัวช่วยทางการเงินดี ๆ ที่จะทำให้การลงทุนใน RMF เป็นเรื่องง่ายดาย ไม่ว่าคุณจะต้องการซื้อ ขาย หรือสับเปลี่ยนกองทุน ก็สามารถทำได้ในที่เดียว ไม่ต้องเสียเวลาดำเนินการยุ่งยากอีกต่อไป
กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund – RMF) ถือว่าเป็นเครื่องมือสำหรับการเกษียณที่เหมาะสมที่สุดตัวหนึ่ง จากเงื่อนไขที่เราสามารถขายคืนได้ตอนอายุ 55 ปีบริบูรณ์ ซึ่งถือว่าเป็นช่วงใกล้เกษียณอายุของหลาย ๆ คน ซึ่งด้วยเงื่อนไขนี้จะช่วยทำให้เรามั่นใจได้ว่า เราจะมีเงินสำหรับเกษียณอายุก้อนหนึ่งไว้ใช้อย่างแน่นอน แต่ทั้งนี้นักลงทุนจะต้องศึกษาเงื่อนไขการลงทุนและใช้สิทธิลดหย่อนภาษีของ RMF ให้ละเอียดก่อนการลงทุนทุกครั้ง เพื่อป้องกันการผิดพลาดในเงื่อนไขภาษี เพราะนอกจากจะต้องคืนภาษีที่เราได้รับการลดหย่อนภาษีมาแล้ว ยังต้องเสียค่าปรับตามที่กรมสรรพากรกำหนดอีกด้วย
ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน
- RMF ลงทุนเพื่อเกษียณอายุ ผู้ลงทุนจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีหากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการลงทุน