เมื่อพูดถึงคำว่า
“มรดก” หลายคนก็คงมีภาพในหัวว่าเป็นแค่การส่งมอบทรัพย์สินตามเจตนารมณ์ของผู้เสียชีวิตสู่ทายาทโดยธรรม หรือทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรม แต่ทว่าการรับมรดกนั้นไม่ได้รับเพียงแค่ทรัพย์สินแค่อย่างเดียวน่ะสิ เพราะบางมรดกก็มี
หนี้ติดมาด้วย จึงเป็นที่มาของคำว่า “หนี้มรดก” ซึ่งหลายคนอ่านแล้วก็อาจจะสงสัยว่า แล้วแบบนี้มีวิธีแก้หนี้มรดกยังไงบ้าง? ในบทความนี้มีคำตอบให้ไปอ่านกันเลย
หนี้มรดก คืออะไร ?
แต่ก่อนที่จะไปพูดถึงเรื่องวิธีแก้หนี้มรดก เรามาทำความรู้จักกับคำว่า “หนี้” และ “มรดก” กันก่อนเลย…
หนี้ คือ การผูกพันตนเองต่อคู่สัญญาตั้งแต่สองคนขึ้นไป เช่น การทำสัญญาเช่าซื้อ สัญญากู้ยืมเงิน ฯลฯ ซึ่งจะก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องระหว่างคู่สัญญาขึ้น
มรดก คือ ทรัพย์สินทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น บ้าน ที่ดิน รถยนต์ ฯลฯ สิทธิต่าง ๆ ของเจ้ามรดกที่มีอยู่ก่อนเสียชีวิต เช่น สิทธิของผู้เช่าซื้อ สิทธิเรียกร้องค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน รวมไปถึงหนี้ที่เจ้ามรดกได้ก่อเอาไว้ก่อนที่จะเสียชีวิต ซึ่งทายาทมีหน้าที่ชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่เจ้าหนี้
สรุปคือ ถ้าเป็นหนี้แล้วเสียชีวิต "หนี้" ก็ถือเป็นมรดกได้ แม้ว่าเจ้ามรดกที่มีหนี้อยู่จะเสียชีวิตไปแล้ว แต่หนี้ไม่ได้หมดตามไปด้วย ภาระการชำระหนี้จึงตกแก่ทายาท แต่ถึงอย่างไรก็ตามกฎหมายได้กำหนดไว้ว่าห้ามฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก
ทายาทโดยชอบธรรมที่มีสิทธิรับมรดกคือใครบ้าง ?
- ทายาทโดยพินัยกรรม เป็นทายาทที่มีสิทธิ์รับมรดกตามที่ผู้ตายกำหนดไว้ในพินัยกรรม
-
- ผู้สืบสันดาน
- บิดามารดา
- พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
- พี่น้องร่วมบิดา หรือมารดาเดียวกัน
- ปู่ ย่า ตา ยาย
- ลุง ป้า น้า อา
สำหรับคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็ถือเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายด้วย โดยมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายด้วยเสมอไม่ว่าผู้ตายจะมีทายาทโดยธรรมลำดับใด แต่ส่วนแบ่งทรัพย์มรดกที่คู่สมรสจะได้รับแตกต่างไปตามลำดับของทายาทโดยธรรมของผู้ตายที่มีชีวิตอยู่ ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1635 นั่นเอง
ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้เมื่อได้รับมรดกมาแล้วนั้นก็ถือว่าได้รับหนี้มรดกมาด้วย เจ้าหนี้จะสามารถทวงหนี้ของผู้ตายกับทายาทได้เท่ากับทรัพย์สินที่ทายาทได้รับมรดกมาเท่านั้น หากหนี้มากกว่าทรัพย์สินที่ได้รับมรดก ทายาทไม่จำเป็นต้องชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เกินกว่าจำนวนทรัพย์สินที่ได้รับมรดก ซึ่งเจ้าหนี้จะทำการฟ้องทายาทให้ชำระหนี้มรดกภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่เจ้าหนี้ได้รู้ว่าเจ้ามรดกเสียชีวิต ดังนั้น สิ่งที่ทายาทควรทำคือ ตรวจสอบให้ดีก่อนว่ามรดกที่ได้รับมามีหนี้ติดมาด้วยไหม ถ้ามีก็ต้องจัดการหนี้ก่อนค่อยแบ่งทรัพย์มรดก
วิธีแก้หนี้มรดก มีอะไรบ้าง
มาดูในส่วนของการได้รับมรดกแล้วมีหนี้มรดกติดมาด้วย ถ้าเป็นแบบนี้ผู้รับมรดกจะต้องทำอย่างไรบ้าง มีวิธีแก้หนี้มรดกยังไงบ้างนะไปดูกันเลย…
กรณีที่ 1 หนี้มีมูลค่าน้อยกว่าสินทรัพย์
หนี้มรดกในกรณีนี้อาจจะเกิดได้หลายทางด้วยกัน ตัวอย่างเช่น ในภาพประกอบบ้านราคา 2 ล้านบาท แต่เจ้ามรดกมีหนี้อยู่จำนวน 1 ล้านบาท ถ้าหากทายาทไม่ต้องการที่จะเก็บบ้านไว้ก็นำบ้าน และหนี้มาหักลบกลบหนี้กัน ดังนั้นทายาทก็จะได้ส่วนต่างจำนวน 1 ล้านบาทไปเลย
แต่อีกทางคือ ถ้าหากทายาทต้องการที่จะเก็บบ้านราคา 2 ล้านบาทไว้ ก็ต้องไปหาเงินสดจำนวน 1 ล้านบาท ใช้หนี้ตรงนี้ จากนั้นจึงทำเรื่องโอนกรรมสิทธิ์บ้านเป็นของตนเองได้นั่นเอง
กรณีที่ 2 สินทรัพย์มีมูลค่าเท่ากับหนี้
ในกรณีที่สองนี้ คือ หนี้มรดกมีจำนวนหนี้เท่ากับจำนวนสินทรัพย์ ซึ่งสิ่งที่ทำได้เลยก็คือ การหักกลบลบหนี้สินทรัพย์ที่มีอยู่ และหนี้ที่เหลือออกไปโดยอัตโนมัติ
อีกทางหนึ่งถ้าหากทายาทต้องการที่จะเก็บบ้านเอาไว้ก็ต้องทำการเคลียร์หนี้ โดยให้ทำสินเชื่อกู้ซื้อบ้านหลังนั้นเอาไว้ จะเปรียบเสมือนกับการที่เรากู้ซื้อบ้านจากเจ้ามรดก หลังจากนั้นเราก็จะเป็นเจ้าของบ้านโดยชอบธรรม และเราก็ผ่อนชำระหนี้บ้านตามระเบียบนั่นเอง
กรณีที่ 3 สินทรัพย์มีมูลค่าน้อยกว่าหนี้
ในกรณีสุดท้ายคือ สินทรัพย์มีมูลค่าน้อยกว่าหนี้มรดก ทายาทสามารถให้เจ้าหนี้ทำเรื่องฟ้องยึดทรัพย์สินส่วนนั้นเพื่อไปจัดการหนี้ได้เลย แต่ถ้ามูลค่าของสินทรัพย์มีส่วนต่างจากหนี้มรดก ทายาทไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ อย่างเช่น ราคาบ้าน 2 ล้านบาท หนี้ 3 ล้านบาท เงิน 1 ล้านบาทในส่วนนี้ทายาทไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบใด ๆ เพราะจะไปสอดคล้องกับกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1601 ที่ว่า
“ทายาทไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบหนี้สินเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน”
วางแผนทรัพย์สินยังไงไม่ให้กลายเป็นหนี้มรดก
การวางแผนไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ถือเป็นเรื่องที่ดีเสมอ เพราะจะได้ไม่มีหนี้มรดกเป็นภาระให้กับลูกหลานในอนาคต ตัวอย่างเช่น การทำประกัน
สินเชื่อบ้านที่อยู่อาศัย MRTA ประกันประเภทนี้จะคุ้มครองความเสี่ยงให้กับผู้กู้ในระยะเวลาที่ผู้กู้ผ่อนชำระสินเชื่ออยู่นั่นเอง ในกรณีที่ผู้ผ่อนชำระเกิดเสียชีวิตขึ้นมาบริษัทผู้รับประกัน MRTA นี่แหละจะเป็นด่านแรกที่จะคุ้มครองไม่ให้หนี้บ้านตกไปสู่ทายาท โดยที่บริษัทที่ไปทำประกันด้วยนั้นจะรับผิดชอบในการชำระหนี้ที่เหลือแทนทายาท คนข้างหลังก็จะไม่ต้องมีภาระผ่อนบ้านต่อ ซึ่งจำนวนเงินเอาประกัน MRTA จะค่อย ๆ ลดลงตามยอดคงค้างเงินกู้ ณ ขณะนั้นจากการชำระหนี้ในแต่ละงวด ดังนั้นเมื่อครบกำหนดสัญญาจำนวนเงินเอาประกันก็จะหมดไป
ดังนั้นเมื่อทายาทได้รับมรดกต้องตระหนักถึงเรื่องหนี้ และการเสียภาษีที่จะตามมาด้วย ทายาทจึงควรตรวจสอบให้แน่ชัดว่ามรดกที่ได้มานั้นมีทรัพย์สินประเภทไหนบ้าง มูลค่าเกิน 100 ล้านบาท หรือไม่ และมี
หนี้สินอะไรบ้างที่ต้องชำระ ซึ่งหนี้มรดกส่วนนี้ก็ควรที่จะแจกแจงให้กับครอบครัวทราบด้วยเช่นกัน เพื่อไม่ให้เกิดข้อขัดแย้งกันเมื่อต้องทำการแบ่งมรดก หากใครเจอปัญหานี้อยู่ก็สามารถเอาเรื่องราวดี ๆ ในบทความนี้ไปลองปรับใช้กันดู จะได้หมดปัญหาทะเลาะกันในวันที่คนรักเราไม่อยู่บนโลกนี้แล้ว