ข้อคิดทางการเงินที่ได้จาก “วิกฤต COVID-19”
เพื่อชีวิตสบาย
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

ข้อคิดทางการเงินที่ได้จาก “วิกฤต COVID-19”

icon-access-time Posted On 26 มิถุนายน 2563
By Krungsri the COACH
ตั้งแต่ต้นปี 2020 ที่ผ่านมา โลกของเราก็ประสบกับเหตุการณ์ความวุ่นวายต่าง ๆ มากมายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา แต่สิ่งที่ทุกคนทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ และส่งผลกระทบต่อชีวิตของเราทุกคนมากที่สุดในขณะนี้ คงหนีไม่พ้น “การระบาดของไวรัสโควิด-19” ซึ่งโรคระบาดในครั้งนี้นอกจากจะส่งผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพของผู้คนกว่า 193 ประเทศทั่วโลกแล้ว ยังทำให้ธุรกิจน้อยใหญ่ต้องทยอยปิดตัวลงไปเป็นจำนวนมาก ยิ่งไปกว่านั้นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นี้ ยังสร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้คนเป็นวงกว้าง รวมไปถึงมีแนวโน้มที่จะสร้าง New normal ของโลกให้เกิดขึ้น ภายหลังจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 สิ้นสุดลงด้วย จะเห็นได้ว่าในช่วงระยะเวลาเพียง 2–3 เดือนที่ผ่านมานั้น “COVID-19” ส่งผลกระทบต่อโลกของเราไปแทบจะทุกด้าน ตั้งแต่รัฐบาล ผู้ประกอบการรายใหญ่และรายย่อย ไปจนถึง คนธรรมดาอย่างเรา ๆ ปรากฏการณ์ในครั้งนี้ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การแพร่ระบาดเชื้อโรคหรือเชื้อไวรัสธรรมดาเท่านั้น แต่เป็นปรากฏการณ์ที่โลกกำลังจะบอกอะไรบางอย่างกับเราทุกคน เพราะฉะนั้นในฐานะคนธรรมดาคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้เช่นเดียวกัน จึงอยากจะชวนทุก ๆ คนให้ลองกลับมาคิดทบทวนตัวเองไปพร้อม ๆ กัน ว่าเราได้ข้อคิดอะไรบ้างจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ โดยเฉพาะเรื่องการเงินของเรา

1. เงินออมนั้นเป็นอะไรที่แน่นอนที่สุดในเวลาที่ไม่แน่นอน

ในยามวิกฤตเช่นนี้ การมีเงินสดอยู่กับตัวนั้นเป็นเรื่องอุ่นใจ เพราะหากมีเหตุจำเป็นที่ต้องใช้เงินเราสามารถจะเอาเงินส่วนนี้ออกมาใช้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปแตะเงินในส่วนอื่น ๆ เลย ไม่ว่าจะเป็นเงินที่เราเก็บไว้เพื่อยามเกษียณ หรือแม้แต่เงินลงทุนต่าง ๆ ที่เก็บไว้เพื่อเป้าหมายในอนาคต ดังนั้นลักษณะของเงินก้อนนี้จึงต้องมีสภาพคล่องที่สูง และสามารถเอาออกมาใช้ได้ในทันที
โดยวิธีการเก็บนั้นไม่ยากเลย เพียงแค่เริ่มเก็บออมเงินอย่างน้อยเดือนละ 10-20% ของรายได้ ไว้ในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง เพื่อสะสมเป็นเงินสำรองฉุกเฉินสำหรับค่าใช้จ่ายประจำของเราอย่างน้อย 3-6 เดือน เช่น บัญชีเงินฝากออมทรัพย์มีแต่ได้ ที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าบัญชีออมทรัพย์ทั่วไป ทั้งยังสามารถถอนออกมาใช้ได้เมื่อเราจำเป็นต้องใช้เงิน และหากรับความเสี่ยงได้เพิ่มขึ้นก็สามารถลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน เช่น KFCASH-A ที่สามารถลงทุนโดยใช้วิธีหักบัญชีเงินฝากอัตโนมัติได้ทุกเดือน นอกจากนี้เงินส่วนที่เหลือ เรายังสามารถนำไปต่อยอดเป็นเงินลงทุนเพื่อเป้าหมายอื่น ๆ ของเราได้อีกด้วย
แต่ถึงแม้คำกล่าวที่ว่า Cash is King นั้นจะเป็นเรื่องจริงและสำคัญอย่างมากในช่วงที่เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจแบบนี้ เพราะการมีเงินสด มีสภาพคล่อง จะทำให้เราสามารถผ่านความยากลำบากนี้ไปได้ไม่ยาก แต่บางครั้งการที่มีเงินสดในมือมากจนเกินไป อาจจะกลายเป็นปัญหาได้เช่นกัน เพราะการถือเงินสดไว้มากเกินไป อาจทำให้เราเสียโอกาสในการลงทุนหรือเติมเต็มเป้าหมายในด้านอื่น ๆ ของเรา ได้เช่นกัน สุดท้ายเงินสดของเราจะกลายเป็น “ขยะ” ที่ไม่มีค่า หรือ Cash is Trash นั่นเองครับ

2. ประกันชีวิตและประกันสุขภาพ จะเป็นสิ่งที่สำคัญขึ้นหลังจากนี้

แต่ก่อนหลาย ๆ คนอาจมองว่าการทำประกันนั้นยังไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่หลังจากการระบาดของ COVID-19 ทุกคนต่างเกิดคำถามขึ้นมาว่า ถ้าตัวเองเกิดโชคร้ายติดเชื้อ COVID-19 ขึ้นมา และต้องเข้ารับการรักษาตัวในยามวิกฤติเช่นนี้ จะทำอย่างไร??? โชคยังดีที่คนไทยทุกคนจะได้รับการรักษาโรคนี้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ แต่สิ่งที่เราจะต้องสูญเสียไปแน่นอนนั้น ก็คือ รายได้ในระหว่างช่วงที่เข้ารับการรักษาตัว
นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไปของโลกของเรานั้น ไม่ว่าจะเป็นมลพิษที่มีปริมาณมากขึ้น เช่น ฝุ่นละอองขนาดเล็ก สารเคมี รวมถึงโรคใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในอดีต ล้วนส่งผลให้โอกาสที่เราจะเจ็บป่วยก็มีมากขึ้นด้วย ดังนั้นหลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในครั้งนี้ ทุกคนจะเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของประกัน เพื่อคุ้มครองชีวิตและสุขภาพของตัวเองกันมากขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งในปัจจุบันก็มีประกันใหม่ ๆ ที่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์เรามากขึ้นด้วยเช่นกันอย่าง กรุงศรี กู๊ด เฮลธ์ ที่รับประกันโดย บริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะช่วยให้เราหมดห่วงเรื่องค่ารักษาไปเลย เนื่องจากเป็นประกันสุขภาพที่ให้ความคุ้มครองแบบเหมาจ่าย ทั้งค่าใช้จ่าย ค่าหมอ ค่ายา และค่าผ่าตัด และยังคุ้มครองโรคใหม่ ๆ อย่างโควิด-19 เช่นกัน หรือหากลูกค้าต้องการประกันเฉพาะโรค COVID-19 ธนาคารก็มี อย่าง กรุงศรีประกันไวรัสโคโรนา โควิด-19 ซึ่งมีแผนให้เลือกถึง 4 แบบ โดยมีความคุ้มครองเริ่มต้นตั้งแต่ 100,000 บาท ไปจนถึง 1,000,000 บาท ที่สำคัญใช้เงินจ่ายค่าเบี้ยประกันขั้นต่ำเพียงหลักร้อยเท่านั้นเอง
ทั้งนี้ข้อควรระวังอย่างหนึ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับการทำประกันสุขภาพ ก็คือ การมีประวัติสุขภาพอาจจะทำให้เราไม่สามารถทำประกันได้อีกต่อไป เมื่อถึงครานั้นแล้ว ทางเลือกที่เหลืออยู่จะมีเพียงการเตรียมเงินเป็นจำนวนมากเพื่อรักษาตัวเองเท่านั้น เพราะฉะนั้นแล้วจะดีกว่าไหม หากเราจะเริ่มแบ่งเงินของเราส่วนหนึ่ง ซึ่งใช้เงินจำนวนไม่มากนัก เพื่อแลกกับสวัสดิการความคุ้มครองที่ครอบคลุมทั้งชีวิตและสุขภาพของเราในระหว่างที่เรายังคงมีสุขภาพที่ดีอยู่

3. จากนี้ไป เงินทุกบาททุกสตางค์ต้องคิดก่อนใช้

ในช่วงที่สถานการณ์ปกติดีมีรายได้มั่นคง บางครั้งเราก็เผลอคิดไปว่ารายได้ประจำที่เราได้รับในแต่ละเดือนนั้น เป็นสิ่งที่แน่นอน หลาย ๆ คนจึงมักจะใช้จ่ายจนเกินตัว ดึงเงินในอนาคตมาใช้ก่อน โดยถือคติที่ว่า “ของมันต้องมี” ทั้งการใช้บัตรเครดิตผ่อนข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ รวมถึงการก่อหนี้อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน รถ หรือคอนโดที่สร้างภาระให้เราต้องผ่อนจ่ายในทุก ๆ เดือน ซึ่งในช่วงที่ยังไม่เกิดวิกฤตก็ยังพอที่จะบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้ไหว แต่พอเกิดวิกฤตขึ้น ทำให้รายได้หดหาย ภาระในส่วนนี้จะเป็นปัญหาของเราในทันที
เพราะฉะนั้นสิ่งที่ง่ายที่สุดที่สามารถทำได้และสามารถนำมาใช้ได้จริง คือ การเริ่มต้นทำ "บัญชีรายรับ-รายจ่าย" เนื่องจากการจดบันทึกจะช่วยเตือนสติให้รู้ว่าเงินที่เราใช้ไปในแต่ละครั้งนั้นใช้ไปกับเรื่องอะไร ซึ่งช่วยให้เราสามารถวางแผนการเงินในแต่ละเดือนได้อย่างรัดกุม ไม่ก่อหนี้บริโภค และภาระค่าใช้จ่ายประจำเยอะจนเกินความจำเป็น หากในอนาคตเกิดโรคระบาดขึ้นอีกครั้ง เราก็สามารถผ่านปัญหาเรื่องการเงินไปได้ โดยแทบไม่ต้องกังวลหรือรอมาตรการเยียวยาด้วยซ้ำ

4. ในทุก ๆ วิกฤตนั้น ย่อมมีโอกาสเสมอ

ในทุก ๆ วิกฤตนั้น ย่อมมีโอกาสเสมอ เนื่องจากวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้หลาย ๆ อาชีพในปัจจุบันกำลังประสบปัญหาไม่สามารถทำงานได้ คนต้องทำงานที่บ้าน (work from home) เก็บตัวอยู่กับบ้าน จึงมีหลาย ๆอาชีพที่ในช่วงยุคโควิด-19 เกิดมามากขึ้น โดยเฉพาะการขายสินค้า หรือบริการผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น blogger, reviewer, youtuber, คอร์สเรียนต่าง ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ ไปจนถึงคนที่ขายสินค้าออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ของใช้ และสินค้าอื่น ๆ อีกมากมาย จะเห็นได้จากกราฟว่าในช่วงที่ผ่านการขายสินค้าต่าง ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ได้เติบโตขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะในกลุ่มอาหาร ของใช้จำเป็น นี่จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเราได้ในช่วงนี้ เพราะฉะนั้นลองใช้เวลาเหล่านี้ค้นหาจุดเด่นของตัวเอง แล้วลองสร้างสรรค์ให้เกิดเป็นรายได้ขึ้นมา ไม่แน่ว่าในอนาคตสิ่งนี้อาจจะกลายมาเป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้ให้กับเราได้อีกช่องทางหนึ่ง ควบคู่ไปกับงานประจำก็ได้นะ

5. วิกฤตกับการลงทุนนั้นเป็นของคู่กัน

กล่าวได้ว่า ภาวะวิกฤตนั้นเป็นบททดสอบสำคัญสำหรับนักลงทุนทุกคนเลยก็ว่าได้ เพราะทำให้นักลงทุนแทบทุกคนที่กำลังเผชิญกับภาวะขาดทุนต้องกลับมาทบทวนตัวเองและตอบคำถามเหล่านี้ว่า วันนี้เราลงทุนไปเพื่ออะไรกันแน่? หากคำตอบที่ได้คือ เราต้องการลงทุนระยะยาวในอุตสาหกรรมที่จะเติบโตในอนาคต เช่น โรงพยาบาล โรงไฟฟ้า ระบบขนส่งมวลชน เป็นต้น เราก็ไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนกโดยไม่จำเป็น เพียงแต่คงจะต้องทบทวนว่าเราได้มีการกระจายการลงทุนที่เหมาะสมแล้วหรือยัง? เรามีสินทรัพย์ที่สามารถสร้างผลตอบแทนสม่ำเสมอได้หรือไม่? แม้ในภาวะกฤต เช่น สินทรัพย์ให้เช่า กองทุนอสังหาริมทรัพย์ กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือการลงทุนอื่น ๆ ที่ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอได้ แต่หากเราต้องการลงทุนในระยะสั้น เราก็ควรจะตัดสินใจได้แล้วว่าเราควรจะปรับตัวอย่างไรกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้
และอีกอย่างหนึ่งเมื่อเกิดวิกฤตขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวม หุ้นสามัญ อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ หรือสินทรัพย์อะไรก็ตามทั้งในและต่างประเทศ ราคามักจะปรับตัวลง จึงเป็นโอกาสอันดีในการเก็บสินทรัพย์ต่าง ๆ เหล่านี้ในราคาที่ถูกลง สำหรับใครที่อยากกระจายความเสี่ยงในการลงทุน ก็มีทางเลือกในการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในช่วงนี้ โดยสามารถลงทุนผ่านกองทุนรวมอย่าง KFGBRAND-A* ซึ่งลงทุนในกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทต่าง ๆ ที่ประสบความสำเร็จหรือมีชื่อเสียงในประเทศที่พัฒนาแล้วทั่วโลก หรือการลงทุนในกองทุนที่เน้นลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ กองทุนสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้สม่ำเสมอ อย่าง PRINCIPAL iPROP ก็เป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจไม่น้อยเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม การลงทุนที่ดีนั้น ไม่ควรรีบร้อนจนเกินไป ควรใช้เวลานี้ศึกษา หาความรู้เพิ่มเติม ทบทวนตัวเอง ระหว่างรอให้อะไร ๆ คลี่คลายก่อน ทำการบ้านศึกษาวิเคราะห์ให้ดี แล้วค่อยทยอยซื้อก็ยังไม่สาย
สุดท้ายนี้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกไปอย่างมาก ซึ่งเราคงจะได้เรียนรู้มากมายจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ก็อยากให้ทุก ๆ คน ได้หันกลับมาทบทวนตัวเอง หลายสิ่งหลายอย่างที่เคยมองข้ามไปในอดีต ลองกลับมาใส่ใจเรื่องเหล่านั้นให้มากขึ้น ใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท มีการวางแผนป้องกันในหลาย ๆ เรื่องมากขึ้น รวมไปถึงเรื่องการเงินด้วย หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีกในอนาคต หวังว่าเราทุกคนจะผ่านมันไปได้แบบไม่ยากจนเกินไป
pym-user-icon.png
หากคุณสนใจวางแผนการเงิน และต้องการคำแนะนำ สามารถพูดคุยกับ Money Mentor จาก Krungsri Plan Your Money ได้ที่เบอร์ 1572 กด 5 จ.-ศ. เวลา 9.00-17.00 น. หรือติดต่อทางเว็บไซต์ Plan Your Money
คำเตือน : ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน *KFGBRAND-A ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน จึงมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอาจทำให้ผู้ลงทุนขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน/หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ ทั้งนี้ โดยปกติกองทุนป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยร้อยละ 90 ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศ *KFGBRAND-A เป็นกองทุนที่ลงทุนกระจุกตัวในประเทศ ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา