นับถอยหลังสู่เทศกาลเปิดเทอม นอกจากเด็ก ๆ จะต้องเตรียมตัวให้พร้อมกับการเรียนแล้ว คุณพ่อ คุณแม่ก็ต้องเตรียมรับมือกับค่าใช้จ่ายที่จะตามมาด้วย โดยเฉพาะพ่อแม่มือใหม่ อาจต้องวางแผน
การออมเงินนระยะยาวที่จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไปจนกว่าลูกจะสำเร็จการศึกษา เพื่อไม่ให้เกิด
ปัญหาด้านการเงินที่อาจสร้างความตึงเครียดให้แก่สมาชิกในครอบครัว เราลองไปดูกันว่าจะต้องเตรียมเงินอย่างไรให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายเพื่ออนาคตของลูกรัก
ค่าเทอม
ถือเป็นค่าใช้จ่ายหลักสำหรับเด็กในวัยเรียน ซึ่งงบประมาณที่คุณพ่อและคุณแม่เตรียมไว้ต้องสอดคล้องกับลักษณะของแผนการศึกษาที่ได้วางไว้ให้แก่ลูก และที่ขาดไม่ได้คือการประเมินปัจจัยด้านการเงินของครอบครัวว่ามีรายได้ปัจจุบันมากน้อยเพียงใด เพียงพอต่อการใช้จ่ายตามแผนการศึกษาที่ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่ เช่น หากครอบครัวมีฐานะปานกลางแต่ส่งลูกเข้าเรียนในโรงเรียนที่
ค่าเทอมแสนแพงก็จะก่อให้เกิดการขาดสภาพคล่องทางการเงินและปัญหาอื่น ๆ ตามมา
ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด
ส่วนนี้เป็นค่าใช้จ่ายระหว่างการศึกษาที่เด็กในวัยเรียนต้องใช้ เช่น ค่าหนังสือ ค่าชุดนักเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าทำกิจกรรม (เข้าค่าย/ ทัศนศึกษา) ค่าเรียนกวดวิชาในช่วงมัธยม หรือแม้แต่ค่าหอพักในช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งแน่นอนว่าค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มีจำนวนไม่น้อย
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน ลองมาคำนวณกันสักหน่อยว่าคุณพ่อคุณแม่จะต้องเตรียมเงินประมาณเท่าไรสำหรับอนาคตทางการศึกษาของลูกตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงระดับปริญญาตรี โดยประเมินจากการวางแผนการศึกษาในระดับกลางของโรงเรียนที่มีชื่อเสียงและมหาวิทยาลัยเอกชน
โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ประเมินค่าใช้จ่ายทางการศึกษาสำหรับเด็กวัยเรียน ตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงระดับปริญญาตรีไว้ว่า หากเข้าศึกษาในสถาบันการศึกษาของรัฐบาลจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1.6 ล้านบาท หากเลือกศึกษาในสถาบันการศึกษาของเอกชนค่าใช้จ่ายที่ผู้ปกครองต้องรับผิดชอบจะอยู่ที่ประมาณ 4 ล้านบาท และหากเป็นสถาบันการศึกษานานาชาติ จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงถึง 20.1 ล้านบาทตลอดระยะเวลาเล่าเรียน
ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่มือใหม่อาจต้องเตรียมตัวในการวางแผนการเรียนของคุณลูกไว้แต่เนิ่น ๆ ว่าลูกควรจะเรียนที่ไหน โดยประเมินรายได้และค่าใช้จ่ายปัจจุบันของครอบครัว การเดินทางจากบ้านไปยังสถานศึกษา ระยะเวลาของการศึกษาเล่าเรียน และค่าใช้จ่ายในแต่ละปีของลูกว่ารวมเป็นเงินเท่าไร และหากเตรียมเงินไว้เพียงพอแล้วจะต้องพยายามลดรายจ่ายส่วนใดและหา
รายได้เสริมในช่องทางใดเพิ่มเติม เพื่อให้การใช้จ่ายในครอบครัวมีความคล่องตัวอยู่เสมอ
หลายครอบครัวมีการวางแผนการออมเงินในส่วนนี้ด้วยตนเองซึ่งถือเป็นวิธีที่ดี แต่สำหรับพ่อแม่มือใหม่ที่ยังจับต้นชนปลายไม่ถูกว่าควรเริ่มวางแผนอย่างไร ก็อาจปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินหรือศึกษาข้อมูลใน Plan Your Money ที่ปรึกษาทางการเงินส่วนตัว ซึ่งจะมีแบบทดสอบและเครื่องมือคำนวณเพื่อการ
วางแผนทางการเงินอย่างเป็นขั้นเป็นตอน หรืออีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจนอกจากการออมเงินนั่นคือ การ
ลงทุนกับกองทุนที่น่าเชื่อถือ ซึ่งจะได้ทั้งเงินออมและผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นจากรายได้ประจำอีกด้วย
แม้การวางแผนการเงินเพื่อลูกอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การมีตัวช่วยทางการเงินที่ดีก็จะช่วยให้อนาคตทางการศึกษาของเด็ก ๆ ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป... เพื่อความสำเร็จของลูกอันเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดของผู้เป็นพ่อแม่นะครับ