จากความยากจนที่ทำให้เด็กชายวัย 14 ปี ต้องรับจ้างเย็บเสื้อผ้าเพื่อหารายได้ในการดำรงชีวิต กระทั่งเรียนรู้เก็บเกี่ยวประสบการณ์จนกลายเป็นเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นระดับโลกอย่าง Zara ที่เหล่านักช้อปต่างตบเท้าเข้ามาช้อปปิ้งอย่างไม่ลังเลในทุกคอลเลคชั่น เราจึงขอชวนทุกท่านร่วมเรียนรู้เรื่องราวและกลยุทธ์เด็ดที่ทำให้ Zara เป็นมหาอำนาจด้านแฟชั่นที่ประสบความสำเร็จมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
จุดเริ่มต้นของแบรนด์
Zara ก่อตั้งโดย
Amancio Ortega ชาวสเปนวัย 81 ปี ด้วยฐานะที่ยากจน ทำให้เขาตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนมารับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้า เมื่อเริ่มเรียนรู้และฝึกฝนทักษะที่เกี่ยวข้องกับ
อุตสาหกรรมเสื้อผ้าเบื้องต้นมาพอสมควรแล้ว จึงตัดสินใจก่อตั้งบริษัท Confecciones Goa ในปี 1972 โดยมีผู้หญิงในเมืองราว 100 คนทำหน้าที่ช่างตัดเย็บ
ด้วยสไตล์แฟชั่นที่ตอบโจทย์เทรนด์โลกในราคาที่จับต้องได้ ทำให้
ธุรกิจของเขาเติบโตและประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว โดยในปี 1983 ได้ขยายสาขาไปในหลายเมืองของสเปน และมีการเปิดสาขานอกประเทศครั้งแรกที่โปรตุเกสเมื่อปี 1988 หลังจากนั้นเพียง 1 ปี ก็ได้ขยายตลาดไปยังนิวยอร์กและปารีส กระทั่งปัจจุบัน Zara มีร้านค้ากว่า 2,000 สาขาใน 93 ประเทศทั่วโลก พร้อมร้านค้าออนไลน์ใน 45 ประเทศ
ปัจจุบันแบรนด์ Zara อยู่ภายใต้กลุ่ม Inditex ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1985 มีแบรนด์ในเครือ 8 แบรนด์และมีร้านค้ารวมกันทั้งสิ้น 7,385 ร้านทั่วโลก ซึ่งทีมงานของ Zara จะทำงานอยู่ในโซนที่มีชื่อว่า “The Cube” ประกอบไปด้วยโรงงานผลิตเสื้อผ้า 11 แห่ง อยู่ภายในระยะทาง 16 กิโลเมตร ซึ่งเชื่อมต่อกันด้วยอุโมงค์ที่สร้างขึ้นเป็นพิเศษ
กลยุทธ์การตลาดทันกระแสโลก
กลยุทธ์ที่น่าสนใจของแบรนด์ คือ การนำเสนอสินค้าอย่างชาญฉลาดด้วยการเลือกลงสินค้าใหม่สัปดาห์ละ 2 ครั้งแบบจำนวนจำกัด เพื่อให้คนสนใจและมีความต้องการซื้ออย่างเร่งด่วนเพราะกลัวสินค้าหมด โดยไม่รอช่วงลดราคา ซึ่งแตกต่างจากแบรนด์อื่น ๆ ที่มักลงสินค้าแต่ละคอลเล็คชั่นครั้งละมาก ๆ ถือเป็นการปฏิวัติวงการแฟชั่นจนเป็นที่มาของคำว่า Fast Fashion เพราะในมุมมองของแบรนด์ สินค้าแฟชั่นเปรียบเสมือนอาหารสดที่หมดอายุลงได้ภายในเวลาไม่นาน ดังนั้นจึงต้องออกแบบสินค้าอย่างรวดเร็ว ซึ่ง Zara ใช้เวลาในการออกแบบ ผลิต และจัดจำหน่ายไม่เกิน 1 เดือน ในขณะที่แบรนด์อื่น ๆ ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4 เดือน สร้างความได้เปรียบในการเพิ่มยอดขาย
นอกจากนี้ยังมีการจัดหน้าร้านได้น่าสนใจ โดยทางร้านจะจัดทำ Mockup และสร้างสรรค์ Window Display เพื่อดูความเหมาะสมของการจัดวางสินค้าแต่ละหมวดหมู่ พร้อมให้รายละเอียดเกี่ยวกับ
หุ่นโชว์สินค้าว่าควรเน้นไอเท็มใดในตลาดใด เมื่อจัดร้านตัวอย่างเรียบร้อยก็จะทำการส่งภาพไปเป็นตัวอย่างให้แก่สาขาอื่น ๆ
สร้างยอดขายด้วย High Speed Product
High Speed Product เป็น Business Model สำคัญของ
แบรนด์ Zara โดยอาศัยนวัตกรรมในการ Track ข้อมูลพฤติกรรมของผู้บริโภคแบบเรียลไทม์ ซึ่งผู้จัดการร้านทุกสาขาทั่วโลกจะต้องทำการส่งข้อมูลยอดขายและเทรนด์แฟชั่นที่ลูกค้ามองหามายังสำนักงานใหญ่ที่เมือง ARTEIXO ประเทศสเปน สัปดาห์ละ 2 ครั้ง จากนั้นทีมรวบรวมข้อมูลจะประชุมกับดีไซน์เนอร์เพื่อวิเคราะห์เทรนด์ที่กำลังจะมาถึง แล้วนำมาเป็นไอเดียผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ทำให้ดีไซเนอร์ Zara ซึ่งมีสัดส่วนมากที่สุดในบรรดาทีมออกแบบกว่า 700 คนของ Inditex ต้องศึกษาเทรนด์ที่กำลังมาแรงและวิเคราะห์
สินค้าให้เหมาะสม เนื่องจากไอเท็มของแต่ละสาขาจะมีความแตกต่างกัน ซึ่งความพิเศษที่ทีมออกแบบเคยทำไว้ คือ การใช้เวลาเพียง 2 สัปดาห์ในการออกแบบไอเท็มหนึ่งชิ้นเพื่อจัดจำหน่ายในร้าน
ความสำเร็จที่เกิดขึ้นภายในระยะเวลาอันรวดเร็วและมีทีท่าว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องนี้ เป็นผลมาจากการนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ ซึ่งหากดูเผิน ๆ แล้ว เหมือนจะไม่มีความเกี่ยวข้องกับแบรนด์เสื้อผ้าเท่าใดนักแต่กระบวนการการนำข้อมูลลูกค้ามาวิเคราะห์เพื่อสร้างสรรค์สินค้าให้ตอบโจทย์และรวดเร็วทันใจผู้ซื้อนี้เอง ที่ทำให้แบรนด์ Zara เป็นหนึ่งในบริษัทแฟชั่นที่ดีที่สุด ซึ่งอาจทำให้แบรนด์คู่แข่งต้องเหน็ดเหนื่อยไม่น้อยเลยทีเดียว