มุมมองวิจัยกรุงศรี: อุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยในปี 2560-2562 จะมีทิศทางดีขึ้น อานิสงส์จากการจำหน่ายรถยนต์ที่คาดว่าจะกลับมาเติบโตทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก ซึ่งจะหนุนให้ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายรถยนต์ในประเทศ (ดีลเลอร์) มีผลประกอบการที่ดีขึ้น ขณะที่ผู้จำหน่ายรถยนต์เก่าเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัว แต่อาจมีความเสี่ยงจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น
ตลาดรถยนต์ในประเทศ
วิจัยกรุงศรีคาดว่าปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศในปี 2560-2561 จะขยายตัวเฉลี่ยปีละ 5-7% YoY และในปี 2562 จะขยายตัว 3-5% YoY โดยตลาดรถยนต์นั่งจะเติบโตดีตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่ตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์จะเพิ่มขึ้นจากความต้องการขนส่งที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับภาคก่อสร้าง และผลผลิตภาคเกษตรที่กลับมาฟื้นตัวหลังวิกฤตภัยแล้งคลี่คลาย
ปัจจัยหนุนมาจาก
- เศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นดีขึ้นเป็นลำดับ
- รถยนต์ในโครงการรถคันแรกทยอยพ้นกำหนดห้ามซื้อขายตามเงื่อนไขของโครงการฯ ตั้งแต่ปลายปี 2559 เป็นต้นไป โดยจะเร่งตัวขึ้นในช่วงปี 2560-2562 ซึ่งอาจมีผลให้เกิดความต้องการซื้อรถยนต์ใหม่ประมาณ 4-5 แสนคันในช่วงปี 2560-2562
- ค่ายรถทยอยเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ต่อเนื่อง ทั้งนี้ ผลจากการเก็บรวบรวมข้อมูลตลาดพบว่า จะมีรถยนต์โมเดลใหม่เปิดตัวในตลาดในระยะ 1-3 ปีข้างหน้าไม่ต่ำกว่า 20 รุ่น
- อัตราการถือครองรถยนต์ (Motorization Rate) ของไทยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนโอกาสในการเติบโตของตลาดในประเทศ
ปริมาณการส่งออกรถยนต์
ในปี 2560 คาดว่าปริมาณการส่งออกรถยนต์จะหดตัว 6-9% YoY อยู่ที่ 1.08-1.12 ล้านคัน เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักยังซบเซาตามทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับตลาดตะวันออกกลาง (สัดส่วน 15% จากมูลค่าส่งออกรถยนต์ทั้งหมดของไทย) มีนโยบายลดการนำเข้ารถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลตามนโยบายลดการปล่อยก๊าซ CO
2
อย่างไรก็ตาม ในปี 2561-2562 คาดว่าการส่งออกจะกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้น 3-5% ต่อปี เนื่องจาก
- โครงการส่งเสริมการผลิต Eco-car ที่ทยอยครบกำหนด น่าจะมีผลให้บริษัทรถยนต์ในไทยที่ขอส่งเสริมการลงทุนต้องเร่งผลิต Eco-car ให้ครบตามเงื่อนไขของ BOI ที่ 1 แสนคัน ทำให้บริษัทรถยนต์จำเป็นต้องขยายการส่งออก
- โอกาสขยายการส่งออกรถยนต์บางรุ่นไปตลาดออสเตรเลีย เนื่องจาก Toyota มีแผนจะลดกำลังการผลิตรถยนต์ของฐานการผลิตในออสเตรเลียตั้งแต่ปี 2560 และคาดว่าจะปิดฐานการผลิตในออสเตรเลียทั้งหมดในปี 2562
- ตลาดส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านขยายตัวดีตามทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจและยังได้ปัจจัยหนุนจากอัตราภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกันในกลุ่มประเทศอาเซียนที่ลดลงเป็น 0%
ทิศทางในระยะยาว
การปรับเปลี่ยนนโยบายของรัฐบาลไทยที่หันไปให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า และตั้งความหวังให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญในภูมิภาค จะมีผลให้บริษัทรถยนต์ในไทยต้องเริ่มวางแผนปรับเปลี่ยนนโยบายการผลิตรถยนต์อีกครั้งนับจากนี้ โดยมีแนวโน้มที่ผู้ผลิตจะลงทุนพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ในไทยเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในไทยอย่างเป็นรูปธรรมยังมีปัญหาเชิงโครงสร้าง จึงคาดว่าการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าในไทยจะไม่เปลี่ยนแปลงก้าวกระโดดเช่นที่เคยเกิดขึ้นในยุค Eco-car ซึ่งจากการประเมินคาดว่า อาจกินระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี กว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะมีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไทย