4 ลักษณะสินค้าไทยที่ไม่เหมาะจะส่งออกไปญี่ปุ่น

4 ลักษณะสินค้าไทยที่ไม่เหมาะจะส่งออกไปญี่ปุ่น

By เกตุวดี Marumura

โอย... พี่อุตส่าห์หอบมาตั้งเยอะจากไทย ยังขายไม่ได้เลยสักชิ้น

นี่คือเสียงบ่นของผู้ประกอบการไทยที่อุตส่าห์บินมาออกบูธงาน Trade exhibition ที่ญี่ปุ่นที่เข้าหูดิฉันเสมอ ๆ สมัยเรียน ดิฉันทำงานพิเศษเป็นล่าม คอยช่วยแปลภาษาให้ระหว่าง buyer ญี่ปุ่นกับผู้ประกอบการไทย ก็จะได้ยินเสียงโอดครวญจากทั้งสองฝั่ง ฝั่งไทยก็มักบอกว่า “ทำไมขายไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่สินค้าฉันออกจะขายดีในไทย” ส่วนฝั่งญี่ปุ่นก็บอกว่า “เสียดาย ยังไม่มีอะไรโดนใจ”
ลองดูกันค่ะว่า สินค้าแบบไหนที่คนญี่ปุ่นไม่ซื้อกันนะ ...
1. สินค้าชิ้นใหญ่
ประเทศญี่ปุ่นมีพื้นที่เล็กกว่าประเทศไทยประมาณ 1.5 เท่า แต่มีประชากรมากกว่าเราถึง 2 เท่า พื้นที่ของประเทศนี้จึงถูกซอยย่อยและถูกใช้อย่างคุ้มค่าที่สุด บ้านคนญี่ปุ่นจึงมีขนาดเล็กมาก พื้นที่จัดเก็บก็ไม่ค่อยมี เพราะฉะนั้น คนญี่ปุ่นจึงคิดแล้วคิดอีกเวลาจะซื้อของอะไรเข้าบ้าน วางแล้วจะเกะกะไหม มีพื้นที่เก็บหรือเปล่า
แม้ว่าดีไซน์จะสวยงามแค่ไหน แต่สินค้าชิ้นใหญ่เทอะทะ จึงมักจะขายไม่ค่อยดีในญี่ปุ่น เพราะคนจะกังวลว่า วางในบ้านแล้วจะเข้ากับของอย่างอื่นไหม เพราะของทั้งบ้านเป็นของแบบเล็ก ๆ หมดเลย ความกังวลอีกประการ คือ ซื้อไปแล้วจะมีที่เก็บหรือไม่
เกณฑ์ง่าย ๆ ในการตรวจเช็คว่า สินค้าเราชิ้นใหญ่ไปหรือเปล่า คือ ให้เปิดตู้เสื้อผ้าที่บ้านแล้วลองวางสินค้าดู หากสินค้ายังใส่ตู้เสื้อผ้าที่บ้านไม่ได้ นั่นแปลว่า สินค้านั้นน่าจะใหญ่เทอะทะเกินห้องขนาด 20-30 ตารางเมตรของคนญี่ปุ่น และสิ้นเปลืองพื้นที่เกินไป ลองสังเกตนะคะ
สินค้าไทยที่ควรระวัง : เฟอร์นิเจอร์และสินค้าประดับบ้าน อาทิ แจกัน โคมไฟ ตะเกียงน้ำมัน Aroma

2. สินค้าอลังการ
คำว่า “อลังการ” ในที่นี้ หมายถึงสินค้าที่ตกแต่งเกินพอดี เช่น หากเป็นสร้อยก็เป็นสร้อยทอง 24k เส้นใหญ่ ๆ มีเพชรเม็ดโตวางตรงกลางพร้อมอัญมณี 7 สีรายล้อม กรณีกล่องไม้เก็บของก็เป็นกล่องไม้แกะสลักลวดลายทั้งกล่องพร้อมติดกระจกสีแดง เขียว น้ำเงิน
คนญี่ปุ่นเป็นชาติที่ให้ความสำคัญกับ “ความเป็นธรรมชาติ” เป็นอย่างยิ่ง เขาจะพยายามคงความงามตามธรรมชาตินั้นไว้ ปรุงแต่งให้น้อยที่สุด เราสามารถสังเกต “ความงามแบบญี่ปุ่น” ได้จากหลายแหล่ง อาทิ อาหารญี่ปุ่น (ประเภทไคเซกิหรือเซ็ทอาหารญี่ปุ่น) การจัดสวนที่ไม่เน้นดอกไม้สีฉูดฉาด หรือสถาปัตยกรรมวัดวาอารามที่ดูเรียบ โล่ง สะอาดตา ไม่มีการวาดจิตรกรรมฝาผนังหรือแกะปูนปั้นใด ๆ ทั้งสิ้น
แนวคิดอีกประการที่สำคัญ คือ คนญี่ปุ่นมองว่า “เราดีของเรา ไม่ต้องอวดใคร” คนญี่ปุ่นไม่โอ้อวดว่า ตนเองทำงานตำแหน่งสูงแค่ไหน ฐานะมั่นคงอย่างไร เขาจึงไม่จำเป็นต้อง “แสดง” ยศศักดิ์ฐานะผ่านสิ่งของ ไม่ต้องใช้ของอลังการเพื่อโชว์ว่าเรามีเงินซื้อ
การให้ความสำคัญกับความงามตามธรรมชาติและความถ่อมตัวเช่นนี้ ทำให้คนญี่ปุ่นชอบของที่ลวดลายสวยงามพอควร ไม่สะดุดตาหรือโอ่อ่าจนเกินไป หากเป็นเครื่องประดับ ตัวสร้อยก็จะเรียบ ๆ ธรรมดา มีหินหรือจี้เม็ดเล็ก ๆ ห้อยก็เพียงพอแล้ว ของประดับในบ้านอาจเป็นตุ๊กตาไม้และแต้มสีเล็กน้อย ให้เห็นความงามของเนื้อไม้นั้นมากที่สุด

 
สินค้าไทยที่ควรระวัง : เครื่องประดับ เสื้อผ้า ของประดับชิ้นเล็ก ๆ
3. สินค้าที่ไม่ตรงฤดูกาล
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีฤดูกาลชัดเจน แต่ละฤดู คนจะใช้ของแตกต่างกันไปหมด ตั้งแต่เสื้อผ้า การแต่งหน้า เครื่องประดับ ภาชนะใส่อาหาร อาหารและเครื่องดื่มที่ทาน เพราะฉะนั้น สินค้าไทยที่ขายได้ในฤดูหนึ่ง พอเข้าอีกฤดู อาจจะขายไม่ได้เลยก็ได้ คนญี่ปุ่นจะไม่ใช้ของผิดฤดู
ฤดูที่สินค้าจากไทยขายดีที่สุด คือ ฤดูร้อน เนื่องจากสภาพอากาศใกล้เคียงกัน คนจะนิยมสินค้าเอเชีย เช่น รองเท้าสาน กระเป๋าหวาย เสื้อผ้าบาง ๆ กางเกงเล อาหารไทยเผ็ด ๆ ผลไม้อบแห้ง
ส่วนฤดูที่สินค้าไทยขายลำบากที่สุด คือ ฤดูหนาว คนจะเปลี่ยนไปดื่มกาแฟ โกโก้ ช็อกโกแลต เสื้อผ้าก็จะเป็นผ้าขนสัตว์แทนที่ผ้าฝ้าย สินค้าไทยส่วนใหญ่โดยเฉพาะเสื้อผ้าและเครื่องประดับจึงขายไม่ได้เลยในช่วงนี้ เนื่องจากไม่เหมาะกับสภาพอากาศของญี่ปุ่น
ผู้ประกอบการไทยควรระวังตรงจุดนี้และวางแผนช่วงที่ส่งออกสินค้าให้ดี

 
สินค้าไทยที่ควรระวัง : อาหารและเครื่องดื่ม สินค้าแฟชั่น
4. สินค้าที่รสจัด
คนญี่ปุ่นทานอาหารรสไม่จัด ไม่มันมาก คนส่วนใหญ่แทบจะกินเผ็ดไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น หากส่งออกอาหารหรือขนมไทยไปญี่ปุ่นต้องระวังเรื่องรสชาติ มิเช่นนั้นจะไม่ถูกปากคนญี่ปุ่น เช่น
ผลไม้แห้ง ... ไม่ใส่น้ำตาลเพิ่ม เน้นความหวานตามธรรมชาติอย่างแท้จริง
อาหารแปรรูป เช่น แกง หรือต้มยำ ... ปรุงรสให้กลมกล่อม ไม่เผ็ดจี๊ดเปรี้ยวจ๊าด ญี่ปุ่นไม่มีคำว่า “แซ่บ”
เครื่องดื่ม ... ผสมเนื้อผลไม้ได้บ้าง แต่อย่าหวานเกินไป เน้นรสชาติธรรมชาติอีกเช่นกัน
ขนมต่าง ๆ เช่น ทองม้วน คุกกี้ ... ระวังกลิ่นที่ใช้ปรุงแต่ง อย่าให้กลิ่นอบเชยหรือกลิ่นน้ำมะลิแรงเกินไป
ระยะหลัง วัยรุ่นสาวไทยเริ่มมีรสนิยมการทานอาหารคล้ายคนญี่ปุ่น คือ ทานอาหารรสจัดไม่ได้ ชอบอาหารที่ไม่มัน ไม่ชอบขนมที่หวานเกินไป หากหากลุ่มตัวอย่างชาวญี่ปุ่นไม่ได้ ลองขอให้สาวไทยที่รักสุขภาพชิมสินค้าก่อนก็ได้ค่ะ
อีกสิ่งที่ผู้ประกอบการควรระวังคือ “หน้าตาของสินค้า” คนญี่ปุ่นมีคำพูดว่า ทานอาหารด้วยปากอย่างเดียวไม่ได้ ต้องทานด้วยตาด้วย คือ อาหารต้องจัดให้ดูน่าทาน หากเป็นปลากระป๋อง เทออกมาก็ต้องให้ปลายังคงเป็นชิ้น มีสีสันน่าทาน หากเป็นขนม ต้องหาวิธีทำบรรจุภัณฑ์เพื่อไม่ให้ขนมแตกหักได้ง่าย
สินค้าไทยที่ควรระวัง : อาหารและเครื่องดื่ม สินค้าแฟชั่น

 
เพราะฉะนั้น ผู้ประกอบการไทยทั้งหลายอย่าพยายาม “จัดเต็ม” สินค้าเราเกินไปนะคะ อย่าให้สินค้าเราอลังการงานสร้าง มหึมาจนเกินไป คอยหมั่นสังเกตความชอบและความเชื่อของคนญี่ปุ่น ฤดูกาล ตลอดจนไลฟ์สไตล์ของพวกเขาเพื่อปรับสินค้าเรา ให้โดนใจชาวญี่ปุ่นให้มากที่สุด
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2564 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow