Financial Therapy คืออะไร? รักษาใจบำบัดบัญชี

Financial Therapy คืออะไร? รักษาใจบำบัดบัญชี

By จูนจูน พัชชา เฮงษฎีกุล
Financial Therapy คืออะไร? รักษาใจบำบัดบัญชี
การเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่เห็นได้ชัดในสังคมของคนยุคใหม่ในปัจจุบันคือการกล้าพูดถึงปัญหาสุขภาพจิตกันอย่างกว้างขวางมากขึ้น ทำให้การเข้าพบนักจิตบำบัด หรือจิตแพทย์จึงกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปโดยปริยาย อย่างไรก็ตาม นักจิตบำบัด หรือแม้กระทั่งจิตแพทย์ที่มีประสบการณ์มานาน ก็มีขอบเขตในการให้คำปรึกษาอยู่เหมือนกัน เพราะบางเรื่องที่เรามีปัญหาคาใจมานานดันไปเกี่ยวกับเรื่อง “เงิน ๆ ทอง ๆ” ซึ่งหน้าที่และความเชี่ยวชาญของนักจิตบำบัด หรือจิตแพทย์ ก็คงไม่ครอบคลุมเรื่องของ “การเงิน” ซะทีเดียว ทำให้มีบริการรูปแบบใหม่อย่าง Financial Therapy ที่หยิบเอาเรื่องของสุขภาพใจ และสุขภาพเงินในกระเป๋ามารวมกัน

What is Financial Anxiety?

Financial Anxiety หรือ Money Anxiety ไม่ใช่โรคที่ถูกวินิจฉัยอย่างเป็นทางการ แต่คือภาวะวิตกกังวลที่มีสาเหตุมาจากประเด็นทางการเงิน ตั้งแต่ความเครียดว่าจะมีเงินไม่พอจ่ายค่าบัตรเครดิต ไปจนถึงความกังวลถึงสถานะทางการเงินในอนาคต ซึ่งก็อาจจะแสดงอาการออกมาผ่านการไม่พูดถึง หรือตรวจสอบสถานะทางการเงินของตัวเองไปเลย หรือเก็บมาวิตกกังวลซ้ำ ๆ คนเดียวก็ได้ มีผลการศึกษาที่พบว่า 60% ของกลุ่มตัวอย่างจำนวน 19,000 คนในสหรัฐอเมริกามีภาวะความวิตกกังวลที่เกี่ยวข้องกับการเงินของตนเอง และ 50% ที่รู้สึกเครียดเมื่อต้องพูดถึงหัวข้อการเงินของตัวเอง ไม่ว่าพวกเขาเหล่านั้นจะมีสถานะทางการเงินดีแค่ไหนก็ตาม
Financial Therapy นักจิตบำบัดผู้ที่วิตกกังวลเรื่องการเงิน

Here Come Financial Therapists

เมื่อมีจำนวนผู้ที่วิตกกังวลเรื่องการเงินเพิ่มมากขึ้น (หรือรู้ตัวมากขึ้น) จึงมีกลุ่มนักจิตวิทยา และนักจิตบำบัด มารวมตัวกันพร้อมกับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเงิน โดยในปี 2009 มีการก่อตั้ง Financial Therapy Association (FTA) ขึ้นในสหรัฐอเมริกา โดยมีการรวบรวมทั้งนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด จิตแพทย์ ที่ปรึกษาทางการเงิน นักบัญชี และบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับทั้งศาสตร์ของจิตวิทยา และการเงินมาเจอกัน โดยพวกเขาเขียนงานวิจัยที่ชื่อว่า The Journal of Financial Therapy ออกมา เพื่อรวบรวมผลการศึกษา ผลการทดลอง และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวเพื่อให้ Financial Therapy เป็นที่รู้จักและเข้าถึงผู้คนมากขึ้น โดยในปัจจุบันเราก็เห็นบทความในสื่อใหญ่ ๆ อย่าง New York Times หรือ Business Insider ที่เขียนถึง Financial Therapy มากขึ้นอีกด้วย
Financial Therapist ผู้ให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยาเบื้องหลังพฤติกรรมทางการเงิน

Financial Therapist vs. Financial Counselor

หากได้ยินชื่อ Financial Therapist เผิน ๆ แล้ว เราอาจจะนึกไปถึงอาชีพอย่าง Financial Counselor หรือที่ปรึกษาทางการเงิน แต่หน้าที่ของที่ปรึกษาทางการเงินนั้นคือการให้คำปรึกษาและช่วยวางแผนทางการเงิน ไปจนถึงการขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ในขณะที่ Financial Therapist จะเน้นไปที่การทำความเข้าใจและให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยาเบื้องหลังพฤติกรรมทางการเงินของบุคคลนั้น ๆ มากกว่า โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะให้ผู้ใช้บริการเข้าใจที่ต้นตอของปัญหา และมีสภาพจิตใจที่พร้อมจัดการกับการเงินของตัวเองได้ดีขึ้น
Financial Therapy ผู้เชี่ยวชาญการบำบัดแขนงใหม่

The session

วิธีที่ง่ายที่สุดสำหรับผู้ที่สนใจเข้ารับบริการดังกล่าว คือ ผ่านหน้าเว็บไซต์ของ FTA ซึ่งจะมีไดเรกทอรีที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญทั้งหมดเอาไว้ โดยเราสามารถคลิกเลือกตัวกรองสายอาชีพที่ใกล้เคียงกับเราได้ด้วย เผื่อหาผู้เชี่ยวชาญที่น่าจะมีความเข้าใจกับสายงานบริษัท หรือธุรกิจที่เราทำอยู่มากที่สุด ซึ่งมีตั้งแต่กลุ่มเจ้าของกิจการ, แพทย์, กิจการภายในครอบครัว, ไปจนถึงศิลปิน
จากนั้นก็ทำการเลือกประเด็นความกังวลที่เข้าข่ายของเรา ซึ่งก็มีหลากหลายทั้งเรื่องการออมทรัพย์, ปัญหาหนี้จากการกู้ยืมด้านการศึกษา, หรือประเด็นอื่น ๆ อย่างความมั่นใจในตนเอง โดยเราสามารถเลือกภาษาหลักที่ใช้รับบริการได้ด้วย นอกจากนี้ยังมีตัวคัดกรองอื่น ๆ ที่เราสามารถเลือกได้แบบละเอียดมาก ๆ เช่น เพศ และคุณสมบัติโดยละเอียดของนักบำบัดนั้น ๆ
หลังจากนั้นเราก็จะได้รายชื่อของนักบำบัดที่ตรงกับความต้องการของเรา โดยสามารถเข้าไปอ่านประวัติ ดูรูปภาพ และติดต่อเพื่อนัดหมายได้โดยตรง
จากเว็บไซต์ New York Times มีผู้ที่ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประสบการณ์การเข้าบำบัด Financial Therapy กับ Financial Therapist ที่ชื่อว่า Amanda Clayman โดยตลอดการบำบัด นอกจากการสอบถามเกี่ยวกับประเด็นทางการเงินตรง ๆ แล้ว ก็ยังมีการพูดคุยสอบถามไปถึงประวัติของครอบครัว, หน้าที่การงาน, ไปจนถึงการสื่อสารเรื่องเงินของเธอกับแฟนอีกด้วย เพื่อให้ผู้เข้ารับการบำบัดได้ลงลึกถึงปัญหาในระดับจิตใจก่อนที่นักบำบัดจะนำเสนอแผนการจัดการเงินให้ภายหลังนั่นเอง
อย่างไรก็ตามกลุ่ม Financial Therapist ในปัจจุบันก็อาจจะยังมีจำนวนไม่มากนัก และส่วนใหญ่ก็เป็นบริการที่อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาเสียมากกว่า โดยค่าใช้จ่ายก็ค่อนข้างหลากหลาย เช่นเดียวกับการบำบัดแขนงอื่น ๆ โดยมีราคาตั้งแต่ 100 ดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 3,595 บาท) ไปจนถึง 800 ดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 28,756 บาท) ต่อการเข้ารับบริการหนึ่งครั้ง โดยหากใครสนใจ ลองเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ในเว็บไซต์ https://financialtherapyassociation.org ได้เลย
Financial Therapy มีวี่แววว่าจะกลายเป็นการบำบัดแขนงใหม่ที่ในหลาย ๆ ประเทศต้องการ เพราะแม้ว่าเราจะมีเป้าหมายทางการเงินที่ชัดเจน และมีเครื่องมือทางการงานที่สะดวกขึ้นขนาดไหน แต่ในยุคที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องคาดเดาได้ยาก Financial Anxiety ก็คงแวะมาหาเราได้ง่ายขึ้นเช่นเดียวกัน
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา