ในอนาคตเราอาจสามารถรับบทเป็นนักจิตวิทยารักษาตัวเองผ่าน VR!

ในอนาคตเราอาจสามารถรับบทเป็นนักจิตวิทยารักษาตัวเองผ่าน VR!

By จูนจูน พัชชา เฮงษฎีกุล

ก่อนหน้านี้จูนมีโอกาสได้ใช้แอปพลิเคชัน chatbot ที่เสมือนคุยกับคนจริง ๆ อย่างแอปพลิเคชัน Replika ที่ทำหน้าที่หลักในการเป็นเพื่อนแก้เหงา และคอยให้คำปรึกษาด้านจิตใจต่าง ๆ ผ่านเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) ซึ่งในปี 2022 นี้ Replika มีผู้ใช้งานแล้วกว่า 10 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งถือว่าได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก อาจจะเป็นเพราะความสะดวก หรือความรู้สึกที่เป็นส่วนตัวบางอย่างที่เทคโนโลยี AI สามารถให้ได้ และยังแตกต่างจากการโทรไปขอคำปรึกษาจากเพื่อน ครอบครัว หรือแม้กระทั่งการเข้าพบจิตแพทย์ และนักจิตบำบัดโดยตรง

นอกจากแอปพลิเคชัน Replika ที่ค่อนข้างเป็นที่รู้จักอยู่แล้ว ยังมีงานวิจัยอื่น ๆ ในปัจจุบันที่พยายามนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้กับการใช้ชีวิตของมนุษย์เรามากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่องสุขภาพจิต และกระบวนการจิตบำบัด อย่างเมื่อปี 2015 มีงานวิจัยในหัวข้อ “Conversations between self and self as Sigmund Freud — A virtual body ownership paradigm for self-counseling” ซึ่งพูดถึงแอปพลิเคชันที่ใช้คู่กับ VR ในการจำลองสถานการณ์ให้ตัวเรา (ในร่างเสมือนจริง) เข้าไปอยู่ในห้อง ๆ หนึ่ง และกำลังนั่งพูดคุยกับนักจิตวิทยาในตำนานอย่าง Sigmund Freud โดยเราสามารถเล่าปัญหาของเราให้กับ Sigmund Freud ฟังได้ โดยหลังจากบ่นเรื่องตัวเองเสร็จแล้ว ภาพในโลกเสมือนจริงก็จะมืดลง แล้วกลับมาสว่างขึ้นอีกครั้ง โดยในครั้งนี้ เรากลับอยู่ในอีกมุมหนึ่งของห้อง...ในฐานะ Sigmund Freud แทน สิ่งที่เราเห็นก็จะกลายเป็นตัวเราเองในร่างเสมือนจริงที่นั่งอยู่ฝั่งตรงข้าม และตัวเราในร่างนั้นก็กำลังเล่าปัญหาซึ่งมาจากเสียงของเราที่ถูกบันทึกไว้ก่อนหน้านี้นั่นเอง ทีนี้ก็ถึงเวลาที่เราต้องรับบทบาทเป็นนักจิตวิทยา แล้วมาให้คำปรึกษาตัวเองอีกที
ในงานวิจัยยังระบุว่า มนุษย์มักคิดว่าตัวเองรู้จักตัวเองดีที่สุด และมักจะทำให้เราชอบจับผิดตัวเองเป็นพิเศษ
อย่างการเปรียบเทียบข้อเสียที่สุดในตัวเราเข้ากับข้อดีของคนอื่น จนทำให้เราอาจเผลอใจร้ายกับตัวเองในหลาย ๆ ครั้ง การที่เราสลับบทบาทผ่านเทคโนโลยี VR อาจจะทำให้เราสามารถโฟกัส “ปัญหาของตัวเราเอง” ในฟอร์มของ “ปัญหาของคนอื่น” ได้ ซึ่งอาจทำให้เราใจดีกับตัวเองขึ้นมาอีกนิด และพร้อมแก้ปัญหาให้ตัวเองเหมือนกับที่เราสามารถให้คำปรึกษาคนอื่นนั่นเอง
ในอนาคตเราอาจสามารถรับบทเป็นนักจิตวิทยารักษาตัวเองผ่าน VR!
อีกหนึ่งตัวอย่างจากปี 2017 Mel Slater นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ได้ทดลองพัฒนาแอปพลิเคชันที่นำเอาเทคโนโลยี VR เข้ามาผสมผสานกับกระบวนการจิตบำบัด ซึ่งคล้ายกับงานวิจัยด้านบน โดยให้ผู้เข้าร่วมการทดลอง ที่มีภาวะกังวลต่อการเข้าสังคม (social anxiety) มาบอกเล่าปัญหาในโลกเสมือนผ่านเครื่อง VR ก่อนจะสลับบทบาทในโลกเสมือนให้ผู้เข้าร่วมการทดลองนั้นกลายเป็นนักจิตวิทยา และให้คำปรึกษา หรือวิธีแก้ไขเบื้องต้นต่อปัญหานั้น ๆ แทน ซึ่งคำปรึกษาเหล่านั้นก็จะถูกบันทึกเสียงเอาไว้เพื่อนำมาเปิดให้ผู้เข้าร่วมการทดลองฟังอีกครั้งในตอนหลังด้วย
Mel Slater กล่าวว่าบางครั้งปัญหากวนใจที่อาจจะดูไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร อาจกลายเป็นปัญหาที่ร้ายแรงภายหลังได้ โดยเทคโนโลยี VR ที่เขาออกแบบมาอาจจะช่วยทำให้เรามองเห็นปัญหาก่อนจะตัดสินใจเข้าพบจิตแพทย์ หรือนักจิตบำบัดได้
การสลับบทบาทมาให้คำปรึกษากับตัวเองผ่านเทคโนโลยี VR นั้นถูกนำไปเปรียบเทียบกับทฤษฎีการให้การปรึกษาเชิงบำบัดแนวเกสตัลท์ (Gestalt Therapy) ด้วยเทคนิคที่เรียกว่า Empty Chair Therapy หรือเทคนิคเก้าอี้ว่างเปล่า โดยเป็นการใช้เก้าอี้สองตัววางหันหน้าเข้าหากัน และให้ผู้เข้ารับการปรึกษานั่งบนเก้าอี้ตัวหนึ่ง และเล่าปัญหาของตัวเอง ก่อนจะสลับไปนั่งเก้าอี้อีกตัวที่อยู่ตรงข้าม และรับบทบาทตามความรู้สึกที่ขัดแย้งกับบทบาทก่อนหน้านี้ เพื่อให้ผู้เข้ารับคำปรึกษาเห็นมุมมอง และความรู้สึกของตัวเองที่แตกต่างกันได้ชัดเจนขึ้นนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการทดสอบ โดยอาจมีการนำไปเผยแพร่ในระดับ B2B (ระหว่างผู้ค้ากับหน่วยธุรกิจ) ในเบื้องต้นไปก่อน และยังไม่ได้มีแอปพลิเคชันที่สมบูรณ์ให้พวกเราได้ทดลอง แต่ก็ดูจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่สนใจกระบวนการจิตบำบัดผ่านเทคโนโลยี VR ในอนาคต
สำหรับผู้อ่านที่รู้สึกว่าตนเองมีปัญหาสุขภาพใจที่แก้ไม่หาย อย่าลืมหาช่องทางเข้ารับการบำบัด หรือการรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญด้วยนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow