ทำความรู้จัก Wedding Therapy ทางเลือกใหม่สำหรับบ่าวสาวที่เครียดก่อนงานแต่ง

ทำความรู้จัก Wedding Therapy ทางเลือกใหม่สำหรับบ่าวสาวที่เครียดก่อนงานแต่ง

By จูนจูน พัชชา เฮงษฎีกุล
นอกจาก Wedding Planning ที่หลาย ๆ คนนึกถึงเมื่อพูดถึงงานแต่งแล้ว ‘Wedding Therapist’ อาจจะกลายเป็นอีกหนึ่งตำแหน่งที่งานแต่งยุคใหม่ต้องมี เพราะทั้งปัญหาการเตรียมตัวแต่งงานที่ปกติก็วุ่นวายอยู่แล้ว ในยุคที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 อาจจะทำให้คู่รักหลายคู่ต้องเลื่อนงาน ปรับผังที่นั่ง แก้ไขแผนที่เตรียมไว้แล้วใหม่หมด จนทำให้หลายๆ คู่เกิดความเครียดก่อนงานแต่งได้

AisleTalk เป็นบริการ ‘Wedding Therapy’ ที่ให้คำปรึกษาเชิงบำบัดกับผู้ที่กำลังต้องเผชิญปัญหาระหว่างการเตรียมตัวแต่งงาน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านการเงิน (ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการแต่งงานเป็นงานที่ค่าใช้จ่ายสูงมาก) หรือบางคู่ที่ต้องตามใจทั้งตัวเอง และผู้ใหญ่ในครอบครัว ไปจนถึงปัญหาส่วนตัวที่อาจเกิดขึ้นก่อนวันงานอื่น ๆ โดย Landis Bejar ผู้ที่ริเริ่มก่อตั้ง AisleTalk ได้ไอเดียจากการที่ตัวเองจัดงานแต่งไปเมื่อปี 2015 แล้วค้นพบว่าช่วงเตรียมงานแต่งนี่แหละที่สูบพลังงานและดึงเอาความกังวล ความเครียดก่อนงานแต่งทุกอย่างในชีวิตที่เธอเคยเจอมารวมเอาไว้ในช่วงเวลาสั้น ๆ เพียงไม่กี่เดือนก่อนวันจริง รวมถึงปัญหาที่คล้ายคลึงกันที่เกิดขึ้นระหว่างช่วงเตรียมงานแต่งของน้องสะใภ้ของเธอที่ต้องมาทะเลาะกับแม่ของตัวเองระหว่างเลือกชุดแต่งงาน และทำให้เธอเห็นปัญหาของการสื่อสาร และอารมณ์ที่พุ่งสูงขึ้นระหว่างการแพลนงานแต่ง ซึ่งในฐานะที่เธอเรียนด้านจิตวิทยาบำบัดมาโดยตรงทำให้เธอตัดสินใจฟอร์มทีมกับเพื่อนสาวในวงการจิตวิทยาบำบัดและตั้ง AisleTalk ขึ้นมา

AisleTalk รับลูกค้าล่วงหน้าตั้งแต่ 15 เดือน จนถึง 4 เดือนก่อนงานแต่ง โดยให้บริการเชิงจิตบำบัดรอบด้านตั้งแต่ Wedding Therapy, Individual Therapy, Couple Therapy, Family Therapy, Premarital Counseling ไปจนถึง Out of Office Visits ที่เป็นการให้คำปรึกษานอกสถานที่ ซึ่ง Landis Bejar ให้สัมภาษณ์กับ Insider ไว้ว่าลูกค้าบางคนของเธออยู่ในช่วงที่ต้องฝึกการสื่อสารและการแสดงออกถึงความต้องการของตัวเอง (assertiveness) ทำให้มีปัญหาในการพูดคุยและแสดงความต้องการของตัวเองกับซัพพลายเออร์สำหรับการเตรียมตัวแต่งงาน ซึ่ง AisleTalk สามารถเข้ามาช่วยจุดนี้ได้

นอกจาก AisleTalk แล้ว Allison Moir-Smith นักเขียนเบื้องหลังหนังสือที่ใช้ชื่อว่า Emotionally Engaged: A Bride's Guide to Surviving the "happiest" Time of Her Life และนักจิตวิทยาบำบัดในบอสตัน ก็มีบริการ Wedding Therapy สำหรับคู่หมั้นที่เผชิญหน้ากับความกลัว ความเศร้า ความกังวล และความเครียดก่อนงานแต่ง ผ่านการปฏิบัติที่เรียกว่า ‘Emotionally Engaged’ เช่นเดียวกับหนังสือของเธอ ซึ่งเธอพยายามนำเสนอความเป็นจริงของการแต่งงานที่ไม่ได้สวยหรูและโรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป และมันเป็นเรื่องปกติที่เราจะรู้สึกกังวลหรือเศร้า โดยเราต้องยอมรับความรู้สึกเหล่านั้น และมองว่าความเครียดก่อนงานแต่งเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน เพราะท้ายที่สุดแล้วการแต่งงานก็ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตและไม่แปลกที่จะส่งผลต่อสภาพจิตใจของบ่าวสาว ล่าสุดเธอยังมีบริการสำหรับ ‘พ่อแม่ของบ่าวสาว’ ที่อาจเผชิญปัญหาทางสภาพจิตใจเช่นเดียวกัน เธอให้สัมภาษณ์กับ The New York Times ว่าเมื่อปี 2018 เธอให้คำปรึกษากับลูกค้าที่พบว่าแม่ของตัวเองมีอาการซึมเศร้าอย่างหนักในช่วงงานหมั้นของเธอเพราะความรู้สึกเหมือนกำลังสูญเสียลูกสาวของตัวเองไป

ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้แล้วเริ่มไม่มั่นใจว่าตัวเองต้องการ Wedding Therapy หรือเปล่า เรามี checklist สั้น ๆ ให้สำรวจตัวเองดูกัน
  1. มีอาการ ‘Wedding Burnout’ - นอกจากเราจะ burnout ในที่ทำงานได้แล้ว Wedding Burnout ก็มีอยู่จริงเหมือนกันนะ หากคุณกำลังรู้สึกว่าความเครียดที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ จากการเตรียมงานแต่งงาน ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ อารมณ์ และร่างกายแบบกินเวลายาวนานจนรู้สึกว่าดึงตัวเองกลับมาสภาพปกติไม่ได้ นั่นแปลว่าคุณกำลังอยู่ในสภาวะ Wedding Burnout ที่ไม่ใช่แค่เพียงความเครียดชั่วครั้งคราวเท่านั้น
  2. รู้สึกว่าตัวเองขาดความมั่นใจ เป็นห่วงเรื่องรูปร่างของตนเองมากจนเกินไป หรือเป็นคนที่มีปัญหาความพึงพอใจในตัวเองต่ำ (low self-esteem) จนส่งผลต่อการเตรียมตัวแต่งงาน
  3. มีปัญหาด้านการสื่อสาร และการตัดสินใจ ทำให้ไม่สามารถแสดงความต้องการของตัวเองที่มีต่องานแต่งได้ จนบางทีทำให้ต้องยอมผู้ใหญ่ในครอบครัว หรือคล้อยตามคำแนะนำจากออแกไนซ์เซอร์ หรือคนรอบตัวมากกว่าความคิดตัวเอง
  4. มีอาการเครียดก่อนงานแต่งที่เกิดจากความกดดัน หรือความคาดหวังจากคนรอบตัว จนไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้

นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่เราอาจจะมองว่าเป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างเตรียมตัวแต่งงาน แต่ที่จริงแล้วอาจจะเป็นต้นตอของปัญหาภายในจิตใจของเราก็ได้เหมือนกัน โดยถ้าใครสนใจ ทั้ง AisleTalk และ Emotionally Engaged ก็มีบริการให้คำปรึกษาฟรี 15 นาที สำหรับคนที่อยากลองครั้งแรกด้วย

แม้เมื่อก่อนเราจะเคยชินกับคำว่า Marriage Counselling หรือการปรึกษาคู่สมรส ที่เกิดขึ้น ‘หลังจาก’ การแต่งงานกันไปแล้ว แต่คู่รักรุ่นใหม่ก็มีมุมมองเรื่องความสัมพันธ์ที่ “สมจริง” มากขึ้น เพราะนอกจากความรักความโรแมนติกที่มีระหว่างคนรักแล้ว ความสัมพันธ์ของคนสองคนนั้นย่อมมีเรื่องให้ต้องมีการปรับเข้าหากันแน่นอน ทำให้บริการ Wedding Therapy อย่าง AisleTalk และ Emotionally Engaged ถูกพูดถึงมากขึ้นในปัจจุบัน

เช่นเดียวกันกับธรรมเนียมการเข้ารับ Premarital Counseling หรือการปรึกษาก่อนการสมรส ซึ่งมีขึ้นเพื่อให้คู่หมั้นเข้ามาพูดคุยถึงปัญหาก่อนที่จะแต่งงาน มีผลการศึกษาโดย Journal of Family Psychology ที่ระบุว่าคู่รักที่เข้ารับการปรึกษาก่อนสมรสมีแนวโน้มที่จะมีความสุขหลังแต่งงานสูงกว่า และมีเปอร์เซ็นต์ที่จะหย่าร้างหลังจากสมรส 5 ปีน้อยลงถึง 30% บางรัฐในสหรัฐอเมริกา อย่าง Indiana และ Mississippi ยังออกกฎหมายให้คู่รักทุกคู่ที่ต้องการจดทะเบียนสมรสให้ผ่านการทำ Premarital Counseling มาก่อน หรือคู่รักที่แต่งงานใน House of Worship (สถานที่คล้าย ๆ โบสถ์ที่ไว้ทำพิธีกรรมทางศาสนา) ก็มีข้อบังคับที่จะต้องเข้ารับการปรึกษาก่อนการสมรสอย่างน้อย 1-2 ครั้งก่อนจะแต่งงานได้เช่นเดียวกัน

เพราะฉะนั้นใครที่กำลังเตรียมตัวเป็นเจ้าบ่าวเจ้าสาวเร็ว ๆ นี้ ก็อย่าลืมแบ่งเวลาจากการเตรียมตัวแต่งงาน การประชุมกับออแกไนเซอร์ มาเช็กสภาพจิตใจของตัวเองและคนรักกันด้วยนะ
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow