Virtual Reality เครื่องนี้มีดีกว่าการเล่นสนุก

Virtual Reality เครื่องนี้มีดีกว่าการเล่นสนุก

By ฐากร ปิยะพันธ์

ในระยะหลัง ๆ นี้ หลายคนคงเห็นเทคโนโลยีล้ำ ๆ ที่เรียกว่า VR หรือ Virtual Reality ที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวกันมากขึ้น สำหรับคนที่ยังไม่รู้จักเทคโนโลยีนี้นะครับ VR คือ การใช้ซอฟแวร์ร่วมกับอุปกรณ์ประกอบที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษ เช่น แว่นสำหรับการสร้างสภาพแวดล้อมจำลองเพื่อให้ผู้ใช้งานได้ยิน และเห็นภาพ 3 มิติ ในมุมมอง 360 องศา ตามการหันมองของผู้สวมใส่ รวมถึงอุปกรณ์สำหรับสวมใส่ที่มือเพื่อจับความเคลื่อนไหว และถ่ายทอดกลับไปเป็นการทำกิจกรรมในโลกจำลอง ทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกเหมือนตัวเองอยู่ในสถานที่นั้นจริง ๆ


วันนี้ ผม ฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัล แบงก์กิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) จะขอเล่าถึงเจ้าเครื่องนี้รวมถึงแชร์เคล็ดลับว่า เราสามารถนำ VR มาผนวกกับธุรกิจได้อย่างไร

VR ไม่ได้เอาไว้เล่นเกม


จากคุณสมบัติดังกล่าวของ VR ทำให้เรามักจะนึกถึง VR สำหรับการเล่นเกมส์ แต่ที่จริงแล้ว VR ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ มานานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การฝึก (training) สำหรับภารกิจที่มีโอกาสฝึกซ้อมในสถานที่จริงได้ยาก เช่น ฝึกการรบทางอากาศของทหารอากาศ, ฝึกการต่อสู้บนรถถังในประเทศสหรัฐอเมริกา, ฝึกการใช้ชีวิตในสภาวะไร้น้ำหนักของนักบินอวกาศในขณะที่ยังอยู่บนพื้นโลกขององค์การ NASA หรือการประยุกต์ใช้ทางด้านการแพทย์ เช่น ใช้ VR ในการฝึกหัดนักศึกษาแพทย์สำหรับการผ่าตัดที่ซับซ้อน ใช้เพื่อทำชิ้นงาน หรือจำลองสิ่งก่อสร้างสำหรับงานด้านวิศวกรรมศาสตร์ ในต่างประเทศมีการเปิดชมพิพิธภัณฑ์ผ่าน VR หรือแม้กระทั่งใช้ในการส่งเสริมการตลาด เพื่อให้ลูกค้าได้ดูสินค้าในรูปแบบ 3 มิติผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งจะเห็นว่า VR ไม่ใช่เรื่องใหม่ และมีการประยุกต์ใช้ที่หลากหลายมาก

VR, Avatar และการเข้าสังคม


บริษัทชั้นนำด้านไอทีอย่าง เฟซบุ๊ก หรือกูเกิล ต่างก็ทุ่มทุนเป็นอย่างมากในการพัฒนา ด้วยมุมมองที่ว่า VR เป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคต เมื่อปีที่แล้ว (2016) ในงาน Oculus Connect Mark Zuckerberg, ผู้ก่อตั้ง และซีอีโอของเฟซบุ๊กได้สาธิตการนำเทคโนโลยี VR ไปใช้กับสู่สังคมออนไลน์ของ เฟซบุ๊ก ที่เรียกว่า "Virtual Reality Social" โดยผู้ใช้งานสามารถสร้างตัวตนเสมือนจริง (Avatar) เพื่อใช้แทนตัวเองในการพูดคุย และทำกิจกรรมร่วมกันกับ Avatar ของผู้ใช้คนอื่น ๆ สามารถเลือกสิ่งแวดล้อมในโลก VR ได้ เช่น ไปอยู่ข้าง ๆ ปลาฉลามใต้ท้องสมุทร หรือแม้แต่ไปอยู่บนดาวอังคาร ผู้ใช้งานสามารถเล่นเกมการ์ด เล่นหมากรุกร่วมกัน โดยแต่ละคนสามารถแสดงความรู้สึกผ่านใบหน้าของ Avatar ได้ เช่น ขยับปากเวลาพูด ยิ้ม หัวเราะ

VR ตัวเชื่อมต่อความสัมพันธ์ แม้ตัวไกลกัน


ในช่วงท้ายของการสาธิต Mark แสดงให้เห็นว่า โลกของ VR สามารถถูกผนวกเข้ากับโลกแห่งความเป็นจริงได้ด้วยการให้ภรรยา Priscilla Chan โทร vdo call ผ่านทาง Facebook Messenger เข้ามายังโลก VR โดย Mark ที่เป็นตัว Avatar สามารถรับสาย แถมยังถ่ายภาพเซลฟีร่วมกับภรรยา และโพสต์ลงเฟซบุ๊กโชว์เสียด้วย จากตรงนี้ ทำให้เราเห็นว่า ขอบเขตระหว่างโลกเสมือน และโลกของความเป็นจริงกำลังจะลดลงเรื่อย ๆ ผมเชื่อว่า ในอนาคต เราน่าจะได้เห็นการใช้ VR ร่วมกับเทคโนโลยีอื่น ๆ และการประยุกต์ใช้ในหลายรูปแบบมากยิ่งขึ้น

ถึงตอนนี้ นอกจากการทำความรู้จักกับ VR ว่า เป็นเทคโนโลยีที่สร้างโลกเสมือน และรู้ข้อดีของ VR ว่า สามารถลดข้อจำกัดที่มีอยู่ในโลกของความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดของระยะทาง สถานการณ์ สามารถเข้าถึงได้ทันทีตามความต้องการ แถมยังสามารถเชื่อมต่อกับบุคคลอื่นในโลกเสมือนจากที่ไหนก็ได้ในโลกที่มีอินเทอร์เน็ต จากนี้ไป เราต้องตั้งคำถามว่า VR จะเข้ามาช่วยพัฒนาธุรกิจของเรา ด้วยการสร้างความพึงพอใจของผู้ใช้งาน (User Experience) ให้ดีขึ้นอย่างไรได้บ้าง ไม่แน่นะครับ ในอนาคต ลูกค้าธนาคารกรุงศรีฯ อาจจะได้ใช้ VR เวลาทำธุรกรรมทางการเงินด้วยนะครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
Tag:
-
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา