มองความพ่ายแพ้ให้เป็นพลัง วิธีผ่านพ้นวิกฤติวิถีซามูไร

มองความพ่ายแพ้ให้เป็นพลัง วิธีผ่านพ้นวิกฤติวิถีซามูไร

By ภัทรพล เหลือบุญชู (Boom JapanSalaryman)

ทักษะตุ๊กตาล้มลุก ล้มได้แต่ลุกเร็ว เราเรียนรู้อะไรได้จากคนญี่ปุ่น

กลางดึกวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมาเวลา 22:41 น. ในเวลาประเทศญี่ปุ่น หรือ 20:41 น. ในเวลาประเทศไทย มีข้อความเด้งขึ้นมาเตือนในมือถือผมว่าที่ภูมิภาคคันโตประเทศญี่ปุ่นเกิดเหตุแผ่นดินไหวระดับ 5+ (ตามมาตรวัดแรงสั่นสะเทือนระบบชินโดของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งภายหลังมีการยืนยันขนาดความรุนแรงในหน่วยวัดแมกนิจูดที่ 5.9) จุดเกิดแผ่นดินไหวอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดชิบะ และมีแรงสั่นสะเทือนระดับใกล้เคียงกันมายังกรุงโตเกียวและจังหวัดไซตามะ สำหรับ 23 แขวงการปกครองของกรุงโตเกียวเมืองหลวงของญี่ปุ่นนั้นนับเป็นแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปีนับตั้งแต่เหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในโทโฮกุปี 2011
ไม่กี่นาทีต่อมาหลังจากเกิดเหตุสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ในกรุงโตเกียว จังหวัดชิบะ และบริเวณรอบข้างในครั้งนี้ ผมสังเกตเห็นว่า มีการรับมือต่อสถานการณ์ที่ค่อนข้างรวดเร็วมาก เวลา 22:43 น. เพียงแค่ 2 นาทีหลังจากเกิดการสั่นสะเทือนไปทั่วทั้งเมืองหลวง นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่น ได้ประกาศจัดตั้งศูนย์บัญชาการรับมือกับสถานการณ์แผ่นดินไหวทันที ออกสั่งการ 4 ข้อให้กับเจ้าหน้าที่รัฐว่า
  1. ให้ติดตามสถานการณ์
  2. ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่นเข้าช่วยเหลือประชาชน
  3. ให้ข่าวสารที่ถูกต้องกับประชาชน
  4. ป้องกันไม่ให้ความเสียหายขยายตัว
มองความพ่ายแพ้ให้เป็นพลัง วิธีผ่านพ้นวิกฤติวิถีซามูไร
ทางด้านกรมอุตุนิยมวิทยาประเทศญี่ปุ่นก็ออกมาแถลงการณ์ให้ข้อมูลสำคัญอย่างทันท่วงที ออกมาประกาศว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้ไม่มีภัยอันตรายจากสึนามิ วิเคราะห์สาเหตุ เตือนภัยให้ประชาชนระมัดระวังอย่างไรบ้าง รวม ๆ แล้วช่วงเวลาที่กรมอุตุนิยมวิทยาประเทศญี่ปุ่นตอบคำถามนักข่าวกินเวลาประมาณเกือบ 30 นาทีเลยครับ
มองความพ่ายแพ้ให้เป็นพลัง วิธีผ่านพ้นวิกฤติวิถีซามูไร
นอกจากภาพใหญ่ ๆ ว่ารัฐทำอะไรให้ประชาชนแล้ว ผมพยายามไล่ดูว่ามีภาพอะไรเกิดขึ้นหลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนี้ เลื่อนดูช่องทางโซเชียลมีเดียฝั่งประเทศญี่ปุ่นที่ผมติดตามอยู่ ก็ไปเจอข่าวนักวิชาการออกมาให้ทัศนะเกี่ยวกับแผ่นดินไหวครั้งนี้ว่า “ให้ประชาชนเฝ้าระวัง เพราะอาจเกิดแผ่นดินไหวที่มีขนาดใหญ่กว่าได้ภายในช่วงหนึ่งอาทิตย์หลังจากนี้”
มองความพ่ายแพ้ให้เป็นพลัง วิธีผ่านพ้นวิกฤติวิถีซามูไร
ณ สถานีข่าวแห่งหนึ่ง ขณะที่ผู้ประกาศข่าวกำลังรายงานข่าวภาคค่ำอยู่ เกิดแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวสั่นมาถึงสถานีข่าวแห่งนี้ เพียงไม่กี่วินาทีต่อมา ผู้ประกาศข่าวท่านนั้นก็สามารถรายงานสถานการณ์ล่าสุดให้กับประชาชนได้ทราบทันที เกิดที่ไหน อย่างไร มีผลกระทบอย่างไรบ้าง และมีเตือนภัยสึนามิหรือไม่ ซึ่งเป็นข้อมูลที่เข้าถึงได้ทันทีจากระบบแจ้งเตือนภัยส่วนกลางของประเทศญี่ปุ่น เมื่อผู้ประกาศข่าวรายงานข่าวได้อย่างทันท่วงทีก็จะช่วยลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
มองความพ่ายแพ้ให้เป็นพลัง วิธีผ่านพ้นวิกฤติวิถีซามูไร
อีกภาพข่าวหนึ่งจะเห็นว่าหลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหว มีบางจุดเกิดความเสียหาย เช่น มีปริมาณน้ำทะลักออกมาจากท่อระบายน้ำเป็นจำนวนมาก และกำลังท่วมขึ้นมาบนถนน ทำให้การสัญจรของรถยนต์บนถนนเกิดความไม่สะดวก ไม่นานนักก็จะเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจนำรถตำรวจเข้าไปจอดขวางบริเวณนั้น แล้วทำหน้าที่โบกรถเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนบริเวณนั้นครับ
ทั้งหมดที่ผมเล่ามานี้ คือ ภาพที่เกิดขึ้นโดยใช้เวลาไม่นานนักหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด จากประเด็นดังกล่าวผมมองเห็นว่า สิ่งหนึ่งที่ทำให้คนญี่ปุ่นสามารถรับมือต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงทีนั้นมาจากสาเหตุดังต่อไปนี้
1. มีการเรียนรู้จากอดีต และมีความตื่นตัวเพื่อหาวิธีการป้องกันภัยให้ได้มากที่สุด
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เกิดภัยพิบัติบ่อยมาก ทั้งแผ่นดินไหว สึนามิ พายุ และน้ำท่วม แค่นับย้อนหลังไป 100 ปีจะเห็นว่าญี่ปุ่นเจอเหตุการณ์หนัก ๆ บ่อยครั้งมาก ในปี 1923 เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่คันโต (Great Kanto Earthquake), ในปี 1945 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมะ และนางาซากิ, ในปี 1995 เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ฮันชิน (The Great Hanshin-Awaji Earthquake), ในปี 2011 เกิดแผ่นดินไหวโทโฮะกุซึ่งตามมาด้วยภัยสึนามิ และภัยพิบัติจากทางนิวเคลียร์หลังจากนั้น
ด้วยเหตุนี้ในญี่ปุ่นจึงมีระบบการเตือนภัยพิบัติที่ค่อนข้างทันสมัย โครงสร้างตึกอาคารก็ถูกออกแบบให้มีความยืดหยุ่นเพื่อรับกับแรงสั่นสะเทือนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น (ตึกสำนักงานใหญ่บริษัทของผมในโตเกียวที่เคยเป็นตึกเก่า เค้าก็ทุบทิ้งแล้วสร้างขึ้นมาใหม่เพื่อให้รองรับแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้) มีการให้ความรู้ และซ้อมหนีภัยอย่างเป็นระบบ เวลาเกิดเหตุในอนาคตจะได้ลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
2. ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด
อย่างที่ได้เล่ามาจากสถานการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในภูมิภาคคันโตกลางดึกวันที่ 7 ตุลาคม 2021 รัฐบาลออกมาตอบโต้สถานการณ์อย่างรวดเร็ว เจ้าหน้าที่กรมอุตุนิยมวิทยาออกมาแถลงข่าว สำนักข่าวต่าง ๆ รีบส่งนักข่าวประจำท้องถิ่นออกไปค้นหาความเสียหาย ผู้ประกาศข่าวสามารถรายงานข่าวได้อย่างทันท่วงที ตำรวจคอยอำนวยความสะดวกเพื่อให้ผู้คนสัญจรไปมาให้ได้รับสะดวกและความปลอดภัย เป็นต้น ในสถานการณ์เช่นนี้จะเห็นว่าคนญี่ปุ่นในสายอาชีพต่าง ๆ รู้ดีว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้ว เรามีหน้าที่อะไร และจะทำสิ่ง ๆ นั้นให้ดีที่สุด ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นได้รวดเร็วมาก และไม่เกิดความวุ่นวายระหว่างการจัดการภัยพิบัติ
3. ทักษะตุ๊กตาล้มลุก ล้มได้แต่ต้องลุกเร็วด้วย
เรื่องนี้ผมไม่ได้คิดขึ้นมาเองแต่ในญี่ปุ่นจะมีสำนวนญี่ปุ่นที่เขียนไว้ว่า 七転び八起き (nanakorobi yaoki) มีความหมายว่า “ล้ม 7 ครั้ง ลุกขึ้น 8 ครั้ง” คนเรามีโอกาสที่จะล้มได้เป็นเรื่องปกติ จะล้มบ่อยก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่ขอจงจำไว้ว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น อย่าท้อแท้ อย่าหมดหวัง แม้จะล้มกี่ครั้งก็จะลุกขึ้นมาใหม่ได้เสมอ ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องราวของตุ๊กตาดารุมะ สัญลักษณ์ของความหวัง ความพยายาม และความโชคดีของชาวญี่ปุ่น ตุ๊กตาดารุมะจะเป็นตุ๊กตาไม้สีแดง ทำมาจากกระดาษวาชิ ด้านในกลวง อ้วนกลม ไม่มีแขนไม่มีขา ส่วนฐานด้านล่างจะมีลักษณะโค้งกลมมน มีน้ำหนักมาก แม้ผลักให้ล้มก็จะลุกขึ้นมาใหม่ได้ทุกครั้ง จึงกลายเป็นเครื่องรางยอดนิยมของชาวญี่ปุ่น นิยมวางขายที่ศาลเจ้าช่วงต้นเดือนมกราคมซึ่งเป็นเดือนแห่งการเริ่มต้นใหม่ในทุก ๆ ปี
ทักษะตุ๊กตาล้มลุกที่ว่าตรงกับแนวคิดการทำงานยุคใหม่ที่เรียกว่า Resilience หรือความสามารถในการล้มและลุกขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และแข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิม โดยเฉพาะสภาวะที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คนตัวเล็กตัวน้อย พนักงานประจำ ฟรีแลนซ์ ผู้ประกอบการบริษัท SMEs ผู้ประกอบการบริษัทขนาดใหญ่ต่างประสบปัญหาภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 เหมือนกัน ความไม่แน่นอนเกิดขึ้นตลอดเวลา การจะล้มลงบ้างจึงเป็นเรื่องธรรมดาของคนที่อยู่ในสถานการณ์แบบนี้ ล้มได้นะ แต่อย่าล้มตลอดไป แม้จะล้มไปแล้ว 7 ครั้ง (ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่มากก็ตาม) แต่ขอให้ลุกขึ้นให้ได้ 8 ครั้ง ซึ่งมีจำนวนมากกว่าเสมอ
สถานการณ์ต่าง ๆ อาจจะกำลังพิสูจน์ความอดทนของเรา หากกำลังท้อขอให้นึกถึงตุุ๊กตาดารุมะ รวมทั้งสำนวนญี่ปุ่นที่บอกว่า “ล้ม 7 ครั้ง ลุกขึ้น 8 ครั้ง” เสมอ อุปสรรคต่าง ๆ เมื่อมันผ่านมา แล้วมันก็จะผ่านไป จงเรียนรู้จากอดีต ป้องกันภัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด และมีทักษะตุ๊กตาล้มลุกติดตัวไว้เสมอ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราผ่านทุกวิกฤติไปได้อย่างแน่นอน เป็นกำลังใจให้ครับ

Reference:
1. นักวิชาการเตือนอาจเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่กว่าเดิมใน 1 อาทิตย์นี้: Minaminihon Broadcasting
https://www.mbc.co.jp/
2. การรายงานสถานการณ์แผ่นดินไหวระดับ 5+ ใน 23 แขวงการปกครองกรุงโตเกียว และทางใต้ของไซตามะในช่วงข่าวภาคค่ำของ Hodo Station: tv asahi
https://news.tv-asahi.co.jp/
3. รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศจัดตั้งศูนย์บัญชาการรับมือสถานการณ์แผ่นดินไหว: NHK (Japan Broadcasting Corporation)
https://www3.nhk.or.jp/
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา