แพ็ครวมความรู้ วิธีการแก้ไขปัญหาแบบคนญี่ปุ่นเมื่อเกิด COVID-19

แพ็ครวมความรู้ วิธีการแก้ไขปัญหาแบบคนญี่ปุ่นเมื่อเกิด COVID-19

By Japan salaryman
เรายังไม่รู้ว่าการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกจะจบลงเมื่อไหร่ ในฐานะที่ผมติดตามข่าว และอ่านข้อมูลความรู้ฝั่งญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด จึงอยากเอาวิธีการแก้ปัญหา COVID-19 ในแบบญี่ปุ่นมาแบ่งปันกัน เพราะยุคนี้มีข้อมูลข่าวสารมากมายไปหมด บางทีการเสพข่าวเยอะเกินไปอาจจะทำให้เกิดการสับสน และอาจมีความมึนงงในเนื้อหาได้ โดยเฉพาะการเสพข่าวเกี่ยวกับเรื่องไวรัส COVID-19 ควรมีความรู้ที่ถูกต้อง จะได้ไม่เกิดความหวาดกลัวจนเกินไป เวลากลัว ก็ควรจะกลัวบนพื้นฐานข้อมูลที่เราเข้าใจและถูกต้องจริง ๆ
แล้วที่เพื่อน ๆ กำลังจะอ่านต่อไปนี้คือข้อมูลความรู้ การรับมือกับ COVID-19 จากฟากฝั่งญี่ปุ่นครับ อ่านไปพร้อม ๆ กันเลย

ทำอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ COVID-19?

กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ในเว็บไซต์อย่างเป็นทางการว่า วิธีการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 มีอยู่ 2 ทาง ได้แก่
1. การที่โรคแพร่กระจายไปกับฟองละอองขนาดใหญ่ (Droplet Transmission)
โดยมีการแพร่กระจายเชื้อผ่านการไอ จาม และเสมหะของผู้ติดเชื้อไปยังผู้รับเชื้อผ่านทางจมูกและปาก
*สถานการณ์ที่พึงระวังคือ การอาศัยอยู่ในพื้นที่ปิด พื้นที่เดียวกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง โดยไม่ได้เว้นระยะห่างระหว่างกันที่เพียงพอ
2. การที่โรคแพร่กระจายผ่านการสัมผัส (Contact Transmission)
หลังจากผู้ติดเชื้อนำมือมาปิดป้องปากขณะไอหรือจาม แล้วเอามือไปสัมผัสสิ่งของรอบ ๆ ตัวจะทำให้ไวรัสติดอยู่ตามสิ่งของนั้น ๆ เมื่อผู้ที่ไม่ได้ติดเชื้อเผลอเอามือไปจับสิ่งของเหล่านั้นอาจทำให้มีไวรัสติดมาด้วย ไม่ต้องสัมผัสทางตรงก็สามารถติดเชื้อได้
*ตัวอย่างบริเวณที่อาจมีการติดเชื้อผ่านการสัมผัส คือ ราวจับในรถไฟ, รถประจำทาง, ลูกบิดประตู, มือจับบันไดเลื่อน, บริเวณสวิตซ์ไฟ เป็นต้น

อะไรคือวิธีป้องกันการติดเชื้อที่ได้ผลที่สุด?

การล้างมือ ยังเป็นวิธีป้องกันการติดเชื้อที่ดีที่สุดในตอนนี้ ไวรัสจะเข้าสู่ร่างกายผ่านเยื่อเมือกที่อยู่ในร่างกาย บริเวณที่พบว่ามีความเสี่ยงสูงสุดที่เราจะเอามือไปจับ คือ ดวงตา ปาก และจมูก จึงควรล้างมือทุกครั้งก่อนที่จะนำมือไปจับอวัยวะต่าง ๆ เหล่านี้ ควรฝึกล้างมือให้เป็นนิสัย เช่น เมื่อถึงที่ทำงานก็ไปล้างมือ ถึงบ้านก็ล้างมือทันที ก่อนดื่มน้ำ ทานข้าวก็ล้างมือซะก่อน ถ้ารู้ตัวว่าได้จับของที่อยู่ในที่สาธารณะเมื่อไหร่ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม ให้นึกเสมอว่า ต้องล้างมือนะ ล้างมือให้บ่อย ล้างมือเก่ง คือวิธีป้องกันการติดเชื้อที่ได้ผลที่สุด

หน้ากากอนามัยจำเป็นจริง ๆ หรือ?

ตามข้อมูลที่ประกาศไว้ในเว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นบอกไว้ว่า หน้ากากอนามัยมีประโยชน์มาก ๆ สำหรับใช้ป้องกันการแพร่กระจายของละอองขนาดใหญ่ เช่น ละอองน้ำจากการไอ จาม รวมถึงป้องกันการฟุ้งกระจายไวรัสอันเป็นสาเหตุของการเกิดโรค ฉะนั้น ทางกระทรวงฯ จึงขอความร่วมมือให้ผู้มีอาการไอ และจาม (แม้จะไม่ได้ติดเชื้อ) ก็ควรใส่หน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัด
สำหรับผู้ที่ต้องการใช้หน้ากากอนามัยในการป้องกันตัวเองนั้น สามารถทำได้โดยเฉพาะคนที่รู้ว่าต้องเดินทางไปในที่ ๆ มีความแออัดสูง และเป็นพื้นที่ที่ขาดอากาศถ่ายเทอย่างเหมาะสม
สำหรับพื้นที่กลางแจ้งที่ยังไม่มีความแออัดมากพอ ยังไม่มีการยืนยันถึงผลประโยชน์ของการใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันไวรัส
สรุปง่าย ๆ คือ ใครรู้ตัวว่ามีอาการไอจามก็ควรใส่หน้ากากอนามัยครับ ใครจะเดินทางไปในที่แออัด พื้นที่ปิด การถ่ายเทอากาศไม่ดีก็ควรใส่ครับ แต่ถ้าอยู่กลางแจ้ง ไม่ได้แออัด การใส่หน้ากากอาจจะยังไม่จำเป็น แต่ใครที่วิตกอยู่ ผมขอแย้งข้อมูลข้างต้นสักนิดว่า การใส่หน้ากากแม้ไม่มีประโยชน์ก็ไม่เป็นไร แนะนำว่าใส่เถอะครับ อย่าเพิ่งรู้สึกรำคาญเลย ปกป้องตัวเอง เท่ากับการปกป้องคนรอบข้างด้วย

ควรปฏิบัติอย่างไร เมื่อคนในบ้านถูกสงสัยว่าอาจติดเชื้อ COVID-19?

ทางกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นได้ทำการสรุปข้อมูลจาก Japanese Society for Infection Prevention and Control ว่าควรปฏิบัติตาม 8 ข้อควรปฏิบัติเมื่อพบว่าคนในบ้านของเราถูกสงสัยว่าอาจติดเชื้อ ดังนี้
  • ให้ผู้อาศัยคนอื่น ๆ แยกห้องพัก ออกจากห้องของคนติดเชื้อให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
  • จำกัดสมาชิกครอบครัวที่ทำหน้าที่ดูแลผู้ติดเชื้อให้มีจำนวนน้อยที่สุด
  • ให้สมาชิกครอบครัวทุกคนใส่หน้ากากอนามัย
  • ล้างมือ และกลั้วคอบ้วนปากให้บ่อย ๆ
  • ทำให้อากาศภายในบ้านถ่ายเทมากที่สุด
  • ให้ทำความสะอาด ฆ่าเชื้อมือจับลูกบิดประตูรวมถึงของใช้ที่เป็นสาธารณะต่าง ๆ ในบ้าน
  • ให้ซักเสื้อผ้าให้สะอาด หนึ่งในอาการที่เกิดขึ้นจาก COVID-19 คือ การท้องเสีย และไวรัสสามารถตรวจพบได้จากอุจจาระ ฉะนั้นเมื่อต้องการนำผ้าไปซัก ให้ใช้ถุงมือ ใส่หน้ากากอนามัย และนำไปซักในเครื่องซักผ้าตามปกติ
  • ปิดถุงขยะให้มิดชิดและนำไปทิ้ง เนื่องจากทิชชู่ต่าง ๆ ที่ใช้สั่งน้ำมูกอาจจะมีไวรัสติดอยู่ อาจจะทำให้ผู้อยู่อาศัยคนอื่น ๆ ติดเชื้อไวรัสได้ ฉะนั้นเวลานำไปทิ้งขยะให้ปิดถุงให้มิดชิดแล้วจึงนำไปทิ้ง จากนั้นให้ล้างมือทันที
อย่างไรก็ตามมีความเป็นไปได้ที่ครอบครัวและผู้ร่วมอาศัยติดเชื้อไวรัสแล้ว จึงควรเฝ้าระวังสุขภาพในระยะ 14 วัน หลังจากมีความสงสัยว่าคนในครอบครัวอาจติดเชื้อไวรัส COVID-19 ทุกครั้งที่มีความจำเป็นต้องไปที่ทำงาน หรือโรงเรียน แนะนำให้สวมใส่หน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อย ๆ

วิธีป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดแบบกลุ่ม (Cluster)

ทางกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นรวมถึงผู้ว่าการในแต่ละจังหวัดกำลังรณรงค์อย่างหนักกับประชาชน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดแบบกลุ่ม หรือที่คนญี่ปุ่นเรียกว่า การแพร่ระบาดแบบ Cluster เพราะการแพร่ระบาดแบบ Cluster นอกจากจะทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นมากแล้ว ยังมีโอกาสที่ทางรัฐ คณะผู้เชี่ยวชาญจะไม่สามารถติดตามค้นหาต้นตอของการแพร่ระบาดได้ ซึ่งนั่นจะเป็นจุดชี้เป็นชี้ตายของการควบคุมไวรัส COVID-19 ในครั้งนี้ เพราะถ้ามีจำนวนผู้ติดเชื้อแบบก้าวกระโดดจนไม่อาจควบคุมได้ จำนวนเตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาลก็อาจไม่เพียงพอ ไม่มีใครอยากนึกถึงจุดนั้นเลยจริง ๆ ครับ
โดยชุดข้อมูลที่กระทรวงฯ และผู้ว่าการฯ ได้ขอความร่วมมือกับประชาชนคือ จงหลีกเลี่ยง “3 เงื่อนไข ปิด ชิด ใกล้” อย่างเด็ดขาด (3つの【密】、絶対に避けて)
  • หลีกเลี่ยงพื้นที่ปิด ที่ไม่มีการถ่ายเทของอากาศ
  • หลีกเลี่ยงสถานที่ ๆ มีความแออัด ผู้คนอยู่ชิดติดกัน มีการรวมกลุ่มคนเป็นจำนวนมาก (ยื่นมือไปก็แตะตัวถึงกันแล้ว)
  • หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ต้องสนทนาในระยะใกล้ๆ
พูดในทางกลับกันคือ การใช้ชีวิตต่อจากนี้แนะนำให้อยู่ในสถานที่ ๆ มีการถ่ายเทของอากาศที่ดี อยู่ห่างกันสักนิดเอาให้เกินกว่าหนึ่งช่วงแขน และหลีกเลี่ยงการคุยกันในระยะประชิด ถ้ามีความจำเป็นต้องไปในพื้นที่ตามสามเงื่อนไขด้านบนแล้ว ก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม หลีกเลี่ยงการไอจาม รู้ตัวว่าไม่สบายพยายามอย่าออกนอกบ้าน ไม่นำมือไปจับหน้า ล้างมือให้สะอาดอย่างเป็นประจำ
*การติดเชื้อแบบ Cluster หมายถึงการติดเชื้อเป็นกลุ่ม เป็นกลุ่มคน 5 คนขึ้นไปที่ผลตรวจ COVID-19 เป็นบวก

จุดไหนเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด COVID-19?

จากการประชุมของคณะผู้เชี่ยวชาญในญี่ปุ่น มีการยกตัวอย่างสถานที่ ๆ มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด COVID-19 เช่น Live House (สถานที่แสดงดนตรี ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ปิด), ยิมกีฬา, สถานที่รับประทานอาหารแบบบุฟเฟ่ต์, สถานที่เล่นไพ่นกกระจอก (ถ้าในเมืองไทยคือการตั้งวงไพ่ล่ะครับ), บ้านพักของลานสกี เต๊นท์ที่พัก เป็นต้น ซึ่งสถานที่เหล่านี้ทั้งหมดมีการรายงานว่า มีการแพร่เชื้อจากผู้ติดเชื้อหนึ่งคน สู่คนจำนวนมากแล้ว
แผนที่บริเวณที่มีการแพร่ระบาดแบบกลุ่ม (Cluster Map) จัดทำและประกาศโดยกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น ข้อมูลอัพเดทเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2020 จุดเขียวคือบริเวณที่มีการแพร่ระบาดแบบ Cluster
https://www.mhlw.go.jp
ในวันที่ผมกำลังเขียนบทความนี้อยู่ (30 มีนาคม 2020) ที่ญี่ปุ่นมีการตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่เพื่อจัดการกับวิกฤตการณ์นี้โดยตรงและนายกรัฐมนตรี Shinzo Abe ก็มีอำนาจในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว (ถ้ามีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแบบนี้จะถือเป็นการประกาศครั้งแรกในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น) นาง Yuriko Koike ผู้ว่าการกรุงโตเกียวก็เริ่มออกมาแถลงข่าวให้กับประชาชนบ่อยครั้งขึ้น เพราะเห็นว่าสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไม่ค่อยจะดีนัก ยังมียอดการระบาดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าประเทศไหนก็ตั้งใจแก้ไขปัญหานี้เพื่อปกป้องประชาชนในประเทศให้ได้มากที่สุด ได้แต่ส่งกำลังใจให้กันและหวังว่ามันจะจบลงเร็วที่สุดครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา