การพัฒนา Open banking จะสร้างประสบการณ์ไร้รอยต่อและเพิ่มความปลอดภัยในการโอนเงิน หรือการทำธุรกรรมทางการเงินของเรา มาทำความรู้จัก Open banking กันดีกว่า ว่าจะส่งผลอย่างไรต่อการให้บริการทางการเงินในอนาคต
“Open banking” คือ การที่ผู้ให้บริการทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงินหรือบริษัทเทคโนโลยี สามารถใช้ข้อมูลการเงินของผู้ใช้บริการจากสถาบันการเงินแห่งต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ซึ่งช่องทางเชื่อมโยงข้อมูลที่เป็นที่ยอมรับในปัจจุบันคือ API
API หรือ Application Programming Interface เป็นวิธีการที่ซอฟท์แวร์สื่อสารถึงกันซึ่งทำให้การทำงานของแอปพลิเคชันต่าง ๆ เชื่อมต่อกับระบบได้อัตโนมัติ และเมื่อนำมาผนวกกับคำว่า “Open” เราจะได้คำว่า Open API ซึ่งคือการเปิดให้แอปพลิเคชันต่าง ๆ สามารถเชื่อมต่อระบบกันได้ โดยที่แอปพลิเคชัน หรือบริษัทผู้ให้บริการแก่ประชาชนไม่ต้องติดต่อทำข้อตกลงกับบริษัทที่ถือข้อมูลมาก่อน Open API มีความสำคัญเนื่องจากสามารถนำไปสู่ระบบการเชื่อมโยงข้อมูลหรือ Open data ที่ทำให้แอปพลิเคชันสามารถดึงข้อมูลจากแหล่ง
ต่าง ๆ มาใช้งานได้อย่างสะดวกรวดเร็ว (ภาพที่ 1)
เปรียบเทียบ Open API ของผู้ให้บริการแห่งต่าง ๆ เหมือนตัวเชื่อมต่อข้อมูล โดยปัจจุบันมีธุรกิจเกิดใหม่จำนวนมากในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ประสบความสำเร็จจากการใช้ Open API ตัวอย่างการเชื่อมต่อของ Google เช่น อุปกรณ์ดิจิทัลที่ใช้ติดตามกิจกรรมการออกกำลัง เช่น Apple watch และ Fitbit แพลตฟอร์มให้บริการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าอย่างเช่น Grab และ LINE Man ซึ่งใช้ข้อมูลที่ตั้งและแผนที่ผ่าน API ในการประเมินค่าโดยสาร การแสดงตำแหน่งผู้ใช้บริการ และการติดตามตำแหน่งของผู้ให้บริการแบบ Real-time (ภาพที่ 2) และแพลตฟอร์มธุรกิจอื่น ๆ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร และ
สื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งใช้ข้อมูลพิกัดตำแหน่งสถานที่ของ Google เป็นหนึ่งในลักษณะสำคัญของการบริการ
สำหรับการให้บริการทางการเงิน Open banking สามารถทำผ่านระบบการรับรองตัวตนและการขอใช้ข้อมูลได้หลายระบบ ระบบหนึ่งที่มีการใช้กันแพร่หลายคือ OAuth 2.0 ซึ่งจะมีขั้นตอนการรับรองตัวตนและการกำหนดสิทธิ์ในการเข้าใช้ข้อมูลผ่าน Open APIs ของสถาบันการเงินต่าง ๆ ด้วยรหัส (Token) ซึ่งมักมีการตั้งให้รหัสมีอายุการใช้งานในช่วงเวลาเพียงสั้น ๆ เพื่อความปลอดภัยด้านข้อมูล (ภาพที่ 3)
Open banking จะส่งผลอย่างไรต่ออนาคตของธุรกิจธนาคาร
การเชื่อมโยงข้อมูลการเงินของผู้ใช้บริการจากสถาบันการเงินต่าง ๆ จะเป็นการทลายกำแพงความไม่เท่าเทียมของข้อมูล (Information asymmetry) ทั้งระหว่างผู้ให้บริการด้วยกันเอง และระหว่างผู้ให้บริการกับผู้ใช้บริการ ทำให้สามารถเห็นข้อมูลได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้น เป็นตัวกลางของแพลตฟอร์ม สร้างประสบการณ์การเงินที่ไร้รอยต่อ เป็นบทบาทหลักของธุรกิจธนาคาร เนื่องจาก
- ข้อมูลคือหัวใจของธุรกิจธนาคาร บทบาทหลักของธนาคารคือการเป็นตัวกลางในการจัดสรรเงินจากผู้ที่ต้องการออมเงินไปให้ผู้ที่ต้องการกู้ยืมเงิน (Financial Intermediary) การประเมินความเสี่ยงของผู้กู้เป็นเรื่องสำคัญ หากธนาคารไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับผู้กู้ที่เพียงพอก็จะไม่สามารถประเมินความเสี่ยงและให้สินเชื่อในราคาที่เหมาะสมได้ หากข้อมูลเพียงพอ ธนาคารจะสามารถให้บริการด้วยต้นทุนความเสี่ยง (Risk cost) ที่ต่ำลง และสามารถจัดสรรวงเงินและดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของผู้กู้ได้อย่างเหมาะสม ผู้บริโภคก็จะเข้าถึงบริการทางการเงินได้เพิ่มขึ้น โดยมีต้นทุนในการใช้บริการที่ต่ำลงเช่นกัน
- ผลิตภัณฑ์ทางการเงินมีลักษณะที่เหมือนกัน (Homogeneous) สูงกว่าผลิตภัณฑ์ของอุตสาหกรรมอื่น ซึ่งในทางทฤษฎี ธนาคารแต่ละแห่งสามารถเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมือนกับคู่แข่งให้แก่ลูกค้าได้ เช่น เสนอเงินกู้เงินฝากที่เหมือนกับคู่แข่งได้ แต่ในความเป็นจริง ความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ของธนาคารขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ (Incomplete information) กับต้นทุนในการเปลี่ยนไปใช้ธนาคารอื่น (Switching cost) ดังนั้น การมี open banking จะทำให้ข้อมูลสมบูรณ์มากขึ้น และจะนำไปสู่การแข่งขันที่สมบูรณ์มากขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากขึ้น
การมี Open banking จะลดช่องทางการแสวงกำไรของธนาคารจากความไม่เท่าเทียมของข้อมูล และจะสร้างแรงกดดันให้ธนาคารหันมาแข่งขันกันที่การบริการที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้า ซึ่งจะทำให้อำนาจการต่อรองย้ายจากผู้ถือข้อมูล (ธนาคาร) ไปอยู่ในมือของเจ้าของข้อมูล (ผู้ใช้บริการ) มากขึ้น
ทั้งนี้การใช้บริการทางการเงินในปัจจุบันยังมีข้อจำกัดสำคัญคือ ผู้ใช้บริการซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลยังไม่ได้รับประโยชน์จากข้อมูลธุรกรรมทางการเงินของตนที่ทำไว้กับธนาคารได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากข้อมูลยังไม่สามารถเคลื่อนที่ได้คล่องตัว Open banking คือคำตอบที่จะทำให้ข้อมูลการเงินของสถาบันการเงินต่าง ๆ สามารถเชื่อมโยงถึงกันสะดวกรวดเร็วแบบไร้รอยต่อและปลอดภัย
โดยสรุป หาก Open banking คืออนาคตของธุรกิจธนาคารหรือ
ธุรกรรมทางการเงิน จะช่วยทำให้การเข้าถึงบริการทางการเงินเป็นไปอย่างเท่าเทียบและครอบคลุมยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเอื้อให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมการเงินได้อีกมากมาย ซึ่งจะสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนและธุรกิจได้อย่างมาก หากไทยมีระบบ Open API ในภาคการเงินที่ดีจะสามารถเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจตัวใหม่ในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวหน้าได้รวดเร็วในระยะยาว
สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ :
https://www.krungsri.com/th/research