ปกติแล้วการ
โอนเงินระหว่างประเทศที่มีสกุลเงินแตกต่างกัน เราคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องทำธุรกรรมผ่านธนาคารตัวกลาง (Intermediary Bank) ซึ่งใช้เวลาดำเนินการค่อนข้างนาน เพื่อให้เกิดความถูกต้องและปลอดภัย แต่สำหรับในยุคดิจิทัล การโอนเงินระหว่างประเทศกำลังจะเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีและสะดวกขึ้น ด้วยเทคโนโลยี Blockchain นวัตกรรมที่เข้ามาตอบโจทย์คนยุคใหม่ในเรื่องความง่ายและรวดเร็วในการทำธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์เพียงไม่กี่วินาที แม้จะไม่มีธนาคารตัวกลางแต่ยังคงความปลอดภัยเหมือนเดิม และไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมจำนวนมากอย่างแต่ก่อน ดังนั้น การใช้ Blockchain ในไทยน่าจะเป็นทางเลือกใหม่ที่จะช่วยขับเคลื่อนภาคธุรกิจยุคดิจิทัลได้ดีอย่างยิ่ง แล้วเทคโนโลยี Blockchain คืออะไร เราจะพามาทำความรู้จักให้มากขึ้นกันครับ
แม้บล็อกเชน (Blockchain) จะเป็นศัพท์ใหม่ แต่น่าจะเริ่มคุ้นหูหลาย ๆ คนกันบ้างแล้ว โดยเฉพาะคนที่ติดตามเทคโนโลยีและธุรกรรมยุคดิจิทัล เพราะ
เทคโนโลยีบล็อกเชน คือเทคโนโลยีตัวช่วยด้านความปลอดภัย (Security) และความน่าเชื่อถือ (Trust) ในการทำธุรกรรมการเงินโดยไม่ต้องอาศัยคนกลาง เช่น การโอนเงินระหว่างประเทศของธุรกิจแบบ B2B (Business to Business) สามารถโอนโดยไม่ต้องแปลงสกุลเงินได้เลย บุคคลทั้งสองฝั่งสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ แม้บุคคลทั้งสองจะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน บล็อกเชนจึงเหมาะแก่การนำไปประยุกต์ใช้กับการทำธุรกรรมออนไลน์ หรือ FinTech เช่น การรับ จ่าย โอน หรือวิเคราะห์ข้อมูลหุ้นเพื่อตัดสินใจลงทุนบนออนไลน์ ซึ่งมีทั้งความสะดวก ปลอดภัย รวดเร็ว และสำคัญที่สุด คือ ประหยัดค่าใช้จ่าย
Blockchain คือเทคโนโลยีว่าด้วยระบบ
การเก็บข้อมูล (Data Structure) ซึ่งไม่มีตัวกลาง แต่ข้อมูลที่ได้รับการปกป้องจะถูกแชร์และจัดเก็บเป็นสำเนาไว้ในเครื่องของทุกคนที่ใช้ฐานข้อมูลเดียวกันเสมือนห่วงโซ่ (Chain) โดยทุกคนจะรับทราบร่วมกัน ว่าใครเป็นเจ้าของและมีสิทธิในข้อมูลตัวจริง เมื่อมีการอัปเดตข้อมูลใด ๆ สำเนาข้อมูลในฐานเดียวกันก็จะอัปเดตตามไปด้วยทันที ทำให้การปลอมแปลงข้อมูลไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทุกคนต้องรับทราบและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลร่วมกันได้ อีกทั้งไม่มีระบบล่ม และภัยใด ๆ ก็ไม่อาจทำลายอุปกรณ์ในระบบได้พร้อมกัน เช่นเดียวกับการถูกแฮ็กข้อมูล ซึ่งต้องทำการแฮ็กทุกเครื่องในฐานเดียวกันพร้อม ๆ กัน หรืออย่างน้อยต้องแฮ็กเครื่องที่ถือสำเนาให้ได้มากกว่า 51% จึงจะแฮ็กได้สำเร็จ เทคโนโลยี Blockchain จึงนับว่ายอดเยี่ยมในแง่ของเครดิต นอกจากนี้ ยังเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามารองรับการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล เช่น บิทคอยน์ (Bitcoin) ฯลฯ ให้มีความปลอดภัยด้านข้อมูลมากยิ่งขึ้นด้วย
Krungsri Blockchain Interledger คือ นวัตกรรมเทคโนโลยี Blockchain ธนาคารไทยที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาร่วมมือกับ Ripple ในการให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศ ผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชนของ Ripple ที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “Interledger” โดยสถาบันการเงินหรือธุรกิจที่นำ Blockchain มาใช้ต้องลงทะเบียนเข้าร่วมกับ Ripple ซึ่งมีสถานะเหมือนกับ Consortium Blockchain ก่อน
เมื่อปลายปี 2017 ทางธนาคารกรุงศรีฯ ได้ลองนำนวัตกรรม Krungsri Blockchain Interledger มาให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศสำหรับลูกค้ากลุ่มธุรกิจ ซึ่งถือเป็นลูกค้า Blockchain รายแรกของไทย ระหว่างบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) กับคู่ค้าในต่างประเทศของไออาร์พีซี ซึ่งมีผลตอบรับจากกลุ่มธุรกิจค่อนข้างดี
กระทั่งล่าสุดทางกรุงศรีฯ ได้ประกาศถึงความสำเร็จอีกครั้ง เกี่ยวกับการนำร่องการโอนเงินระหว่างประเทศไทย-สิงคโปร์แบบเรียลไทม์ ผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน Interledger ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก
MUFG Bank (มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนลเชียล กรุ๊ป) สถาบันการเงินใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น และธนาคาร Standard Chartered ประเทศสิงคโปร์ ตลอดจนได้รับการทดสอบระบบใช้งานนานถึง 9 เดือน ผ่าน Regulatory Sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่เรียบร้อยแล้ว ว่าสามารถประหยัดต้นทุนได้ถึง 50% ทำให้เกิดสภาพคล่องด้านธุรกรรมการเงินของกลุ่มบริษัทในเครือ ตรวจสอบง่าย รวดเร็วเพียงไม่กี่วินาที และไม่ต้องเสี่ยงกับอัตราผันผวนของค่าเงิน ซึ่งกรณีนี้ถือเป็นตัวอย่างการใช้เทคโนโลยี Blockchain ในไทยที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก
ซึ่งในอนาคตบล็อกเชนน่าจะเข้ามามีบทบาทตั้งแต่ระดับธุรกิจต่อธุรกิจ (B2B) และธุรกิจต่อลูกค้ากลุ่มผู้บริโภคทั่วไป (B2C : Business-to-Consumer) เพื่อให้การทำธุรกรรมทางการเงิน ตลอดจนกระบวนการถอนเงินจาก Blockchain เข้าธนาคารมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่ง Krungsri Blockchain Interledger จะเป็นหนึ่งในบริการบล็อกเชนที่กลุ่มธุรกิจควรจับตามอง เพื่อการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างเท่าทันยุคดิจิทัล