แกะรอย Business Model ของ Alipay

แกะรอย Business Model ของ Alipay

By Krungsri Plearn Plearn

ไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไปแล้ว สำหรับการชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนมีธนาคารส่วนตัวอยู่บนสมาร์ทโฟนสามารถพกพาไปได้ทุกที่

การใช้จ่ายแบบไร้เงินสดนับเป็นฟันเฟืองหนึ่งในการสนับสนุนประเทศไทยตามนโยบาย Thailand 4.0 ระบบการจ่ายเงินจำพวก Mobile Banking หรือ E-Wallet น่าจะเป็นสิ่งที่เคยผ่านหูผ่านตามาบ้างอย่างแน่นอน เช่นเดียวกับชื่อของ Alipay โดย Ant Financial บริษัทในเครือ Alibaba อี-คอมเมิร์ซที่ได้รับความนิยมระดับโลกที่หันมาสร้างโมเดลธุรกิจอีกรูปแบบหนึ่งและได้รับความนิยมไปทั่วประเทศจีนขณะนี้

Alipay คือแอพพลิเคชั่นให้บริการรับชำระเงินซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ โดยผู้ใช้งานสามารถชำระสินค้าต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกรวดเร็วผ่านทางสมาร์ทโฟนซึ่งจะผูกไว้กับบัญชีหลักของธนาคารต่าง ๆ หรือบัตรเครดิต ปัจจุบันอาลิเพย์ได้กลายเป็นที่ยอมรับทั่วโลกไม่ต่างจาก PayPal โดยเว็บไซต์ Brandinside.asia ได้เปิดเผยว่า อาลิเพย์มีอัตราการเติบโตที่สูงมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วง Golden week หรือช่วงวันหยุดยาวของจีนปีที่ผ่านมา ที่มีชาวจีนออกเดินทางท่องเที่ยวไปยังต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการใช้จ่ายผ่านแอพพลิเคชั่นดังกล่าวเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่าจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และในประเทศไทยอย่างจังหวัดเชียงใหม่ กรุงเทพฯ และภูเก็ต ซึ่งถือเป็นปลายทางหลักของนักท่องเที่ยวชาวจีน ก็มีการใช้จ่ายเงินผ่านอาลิเพย์ทั้งจากโรงแรมที่พัก ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ หรือแม้กระทั่งร้านกาแฟ โดยเฉลี่ยถึง 1,519 หยวนต่อคน (ประมาณ 7,500 บาทไทย) ขณะเดียวกันช่วงเทศกาลลดราคาในวันคนโสดของจีน (วันที่ 11 พฤศจิกายนของทุกปี) มีการใช้จ่ายผ่านอาลิเพย์ในชั่วโมงแรกสูงสุดถึง 256,000 รายการต่อวินาที

อะไรที่สร้างความสำเร็จให้อาลิเพย์มากมายขนาดนี้?

ความสำเร็จของอาลิเพย์ที่สำคัญประการแรกคือ “ความปลอดภัย” ย้อนกลับไปถึงการโอนเงินผ่านมือถือหรือการโอนเงินเพื่อซื้อสินค้าออนไลน์ในยุคแรก ๆ สิ่งที่ทุกคนกังวลคือความปลอดภัย ดังนั้นการทำหน้าที่เปรียบเสมือนตัวกลางที่เชื่อถือได้ ต้องการลบความกังวลแก่ผู้ใช้งานออกไปได้จนหมด โดยร้านค้าจะได้รับเงินจากอาลิเพย์เมื่อผู้ซื้อยืนยันในระบบว่าได้รับสินค้าแล้ว ทั้งนี้หากไม่ได้รับการยืนยัน เงินดังกล่าวก็จะไม่ถูกโอนเข้าร้านค้าด้วยเช่นกัน หรือหากลูกค้าไม่ได้รับสินค้าตามที่สั่งหรือไม่ใช่สินค้าที่ต้องการ ผู้ซื้อก็สามารถแจ้งขอยกเลิกการสั่งซื้อ เพื่อได้รับเงินคืน ด้วยนโยบายปกป้องเงินลูกค้ายาวนาน 90 วัน และสามารถขอเงินคืนได้ครบ 100%
 
แกะรอย Business Model ของ Alipay

ส่วนค่าธรรมเนียม อาลิเพย์จะเรียกเก็บเฉพาะตอนเติมเงินเข้าระบบ และไม่มีค่าธรรมเนียมการใช้จ่ายในแต่ละครั้ง (ในวงเงินประมาณ 10,000 หยวนต่อเดือน หากเกินจากนั้นคิดเป็น 0.5% ของส่วนที่เกิน) ซึ่งถือว่ามีประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ที่ทำธุรกิจที่มีการซื้อ-ขายโดยเฉพาะกับชาวจีน

นอกจากนี้ คุณแซม ตันสกุล Managing Director ของ Krungsri Finnovate ผู้เชี่ยวชาญด้านฟินเทคสตาร์ทอัพ ยังได้กล่าวถึงแนวคิดที่น่าสนใจของอาลิเพย์ในงาน "So Fin So Fun คุยเรื่องฟินเทคแบบสนุกยุคดิจิทัล" อีกว่า นอกจากการตั้งตัวเป็นผู้รับชำระเงินผ่านทางระบบออนไลน์แล้ว อาลิเพย์ยังมีกลยุทธ์ในการดึงดูดลูกค้าด้วยการการันตีดอกเบี้ยเงินฝากสูงถึง 8% ซึ่งแน่นอนว่าได้ผลเป็นอย่างดีในจีนที่คนรุ่นใหม่มักมีแนวคิดในการให้เงินทำงาน และเมื่อมีเงินฝากมากยังส่งผลให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นตามไปด้วย ขณะเดียวกันอาลิเพย์ยังสามารถทำกำไรจากการเก็บดอกเบี้ยเงินกู้จากการให้บริการสินเชื่อได้อีกทาง

เห็นได้ว่าโมเดลธุรกิจดังกล่าวประสบความสำเร็จขึ้นได้ จากการเติมเต็มวงจรของ อี-คอมเมิร์ซ และสร้างความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันความสะดวกสบายนั้นก็มาพร้อมกับความมั่นคงด้านข้อมูลและสร้างความปลอดภัยให้ทุกการจับจ่ายในโลกปัจจุบันง่ายขึ้น สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เหล่าสตาร์ทอัพไทยสามารถนำไปต่อยอดกับธุรกิจดี ๆ ที่จะถูกคิดค้นขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ได้ด้วยเช่นกัน

บทสรุปหัวใจแห่งความสำเร็จของอาลิเพย์

  • ความปลอดภัยของการทำธุรกรรม
  • เรียกเก็บค่าธรรมเนียมเฉพาะเมื่อเติมเงินเข้าระบบ และไม่มีค่าธรรมเนียมการใช้จ่ายในแต่ละครั้ง เพื่อกระตุ้นให้คนเติมเงินเข้าระบบครั้งละเยอะ ๆ และใช้จ่ายได้บ่อยขึ้น
  • ดึงดูดลูกค้าด้วยการการันตีดอกเบี้ยเงินฝากสูงถึง 8%
  • ทำกำไรจากการเก็บดอกเบี้ยเงินกู้ จากการให้บริการสินเชื่อ

ขอบคุณข้อมูลจาก: brandinside, thaiwebsocial, kapronasia, blognone, howdoesitmakemoney, positioningmag
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา