UP Skill 5 ทักษะการเงิน มุ่งสู่ความมั่งคั่งอย่างยั่งยืน

UP Skill 5 ทักษะการเงิน มุ่งสู่ความมั่งคั่งอย่างยั่งยืน

By Krungsri Plearn Plearn
“การลงทุนไม่ได้ทำให้คุณรวย....แต่คุณจะรวยจากความรู้ในการลงทุนต่างหาก”

หนึ่งในความรู้ที่จำเป็นและสำคัญของทุกคนในวันนี้ก็คือ ความรู้ด้านการเงิน แต่คนไทยส่วนใหญ่มักขาดความรู้ด้านการเงินในการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจที่เราทุกคนก็ใช้เงินมาตั้งแต่เด็กกันอยู่แล้ว ทำไมเราถึงไม่มีทักษะด้านการเงิน?

เนื่องจากความรู้ด้านการเงินนั้นเป็นความรู้ที่ประกอบไปด้วยองค์ความรู้พื้นฐานหลาย ๆ แขนงเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านจิตวิทยา การบัญชี สถิติ รวมไปถึงวิชาเศรษฐศาสตร์ ทำให้คนส่วนใหญ่มองว่าการเงินเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าเราแยกย่อยหัวข้อทักษะทางการเงินเป็นแต่ละประเภทจะทำให้เราสามารถศึกษา และเพิ่มทักษะทางการเงินได้ง่ายมากขึ้น มาทำความรู้จักกับทักษะการเงินพื้นฐานที่เราควรจะมี และวิธีพัฒนาทักษะเหล่านี้กันเลย

1. การจัดการสินทรัพย์ และรายรับ-รายจ่าย

โอ๊ย...มาอีกละ ทำรายรับ-รายจ่าย ทุกคนรู้ว่าดี แต่ไม่มีใครทำ
การทำรายรับ-รายจ่ายส่วนบุคคล เปรียบเสมือนกับบริษัทต้องมีงบการเงิน เมื่อพิจารณาดี ๆ ตัวเราเองก็ไม่ต่างจากบริษัท มีรายรับ-รายจ่าย สามารถกู้ยืมได้ จำเป็นต้องลงทุนพัฒนาความรู้ความสามารถโดยคาดหวังว่ารายได้ในอนาคตจะเพิ่มขึ้น ตัวเราเองก็มีสินทรัพย์ บ้าน ที่ดิน เงินสด เช่นเดียวกับบริษัท ดังนั้นถ้าเราฝึกทำรายรับ-รายจ่าย ตรวจสอบทรัพย์สิน และลงบันทึกให้เรียบร้อย จะทำให้เราได้รู้สุขภาพทางการเงินที่แท้จริงของตัวเรา เห็นถึงรายจ่ายเราหมดไปกับอะไรบ้าง หนี้สินที่เรามีจะนำเงินส่วนใดมาปิดหนี้ให้เร็วขึ้นได้ จะทำให้เรามีโอกาสที่จะมีเงินออมมากขึ้น และสามารถแบ่งเงินออมไปลงทุนได้ด้วย

การทำรายรับ-รายจ่าย บัญชีทรัพย์สินเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก และน่าเบื่อ แต่ถ้าคิดว่าเรากำลังฝึกบริหารเงินของธุรกิจขนาดเล็กอยู่ละ (นั่นก็คือตัวเราเอง) เมื่อวันหนึ่งเรามีธุรกิจของตัวเองเราก็สามารถเรียนรู้ที่จะบริหารเงิน บริหารสภาพคล่องได้เร็วขึ้น “ถ้าเราไม่สามารถจัดการการเงินส่วนตัวของเราได้ เมื่อรายได้มากยิ่งขึ้น หรือทำธุรกิจ แล้วเราจะทำอย่างไร”
การจัดการสินทรัพย์ และรายรับ-รายจ่าย

2. Mindset ด้านการเงิน

อะไรคือ Mindset ด้านการเงิน? แชร์ลูกโซ่ หลอกลงทุน เป็นข่าวแทบทุกวันมาเป็น 10 ปีแต่ทำไมทุกวันนี้ก็ยังมีคนถูกหลอก ก็ยังมีคนหลงเชื่อในบางครั้งผู้เสียหายบางคนเป็นผู้มีความรู้ มีการศึกษาแต่กลับลงทุนในแชร์ลูกโซ่ต่าง ๆ แน่นอนส่วนใหญ่มาจากผลตอบแทนการลงทุนที่สูงเป็นหลัก และยังประกาศว่ารับประกันเงินต้นอีกด้วย ซึ่งเมื่อเราเทียบกับเงินฝากธนาคาร หรือการลงทุนในหุ้นผลตอบแทนของแชร์ลูกโซ่สูงกว่าเยอะมาก บางทีลงทุนไม่ถึงเดือนได้ผลตอบแทนเป็นเท่าตัว ทำไมเขามาบอกคนอื่น? ทำไมเขาไม่ไปกู้มาลงทุนเอง?

ถ้าเราเข้าใจ และมีทัศนคติการลงทุนที่ดีคำถามเหล่านี้จะเกิดขึ้นมาทันที เพราะในโลกแห่งความจริงทุกคนรู้ดีว่าเงินเป็นสิ่งหายาก ทุกการลงทุนมีความเสี่ยงไม่มีใครสามารถรับประกันการลงทุนได้ ดังนั้นถ้าเราศึกษาการลงทุน อ่านประวัตินักลงทุนระดับโลกอย่าง วอเร็น บัฟเฟตต์ หรือ ปีเตอร์ ลินซ์ จะทำให้เราได้เรียนรู้การลงทุนที่ผ่านมาในอดีต ความเสี่ยง และผลตอบแทนที่ควรจะได้รับจากการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินแต่ละประเภท รวมไปถึงข้อผิดพลาด และมุมมองต่าง ๆ ที่ใช้ในการตัดสินใจลงทุนด้วย และ MINDSET ที่สำคัญอีกอย่างก็คือเราต้องเชื่อว่าเราสามารถจัดการด้านการเงินในชีวิตของเราได้ แค่เราต้องเรียนรู้ และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ

3. การบริหารความเสี่ยง

ไม่ว่าการลงทุนประเภทใดก็แล้วแต่ ย่อมต้องมีความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ มาด้วยเสมอ ไม่ว่าจะเป็นความผันผวนของราคาสินทรัพย์ที่ลงทุน โอกาสขาดทุน หรือเสียเงินลงทุนทั้งหมดไป หรือแม้แต่ชีวิตเราเองก็มีความเสี่ยงเรื่องต่าง ๆ เช่นกันไม่ว่าจะเป็น ตกงาน เจ็บป่วยฉุกเฉิน มีเงินไม่พอเกษียณ เราเคยคิดถึงเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ไหม เราวางแผน และลงมือทำเพื่อรองรับความเสี่ยงเหล่านี้หรือยัง แม้ว่าเราจะไม่มีทางป้องกันความเสี่ยงทั้งหมดได้ แต่เราสามารถลดผลกระทบต่อความเสี่ยงเหล่านั้นได้อย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น

ถ้าเรารู้ว่า เราต้องใช้เงินตอนเกษียณ ปีละ 1 ล้านบาทเราจึงจะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข เราจึงวางแผนเก็บออม และลงทุน แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงเวลาเกษียณ เรามีเงินใช้ได้เพียงปีละ 6 แสนบาท แม้ว่าเราจะไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างที่เราวางแผนไว้ แต่เราก็ยังมีเงินปีละ 6 แสนบาทมีโอกาสที่จะปรับรูปแบบการใช้ชีวิต และมีความสุขช่วงเกษียณได้ กลับกันถ้าเราไม่เคยวางแผน ไม่เคยคิดถึงเรื่องเกษียณเลย เรามีโอกาสสูงมากที่จะมีชีวิตลำบากช่วงหลังเกษียณ ดังนั้นเราควรต้องวางแผนชีวิตล่วงหน้า คิดไปจนกระทั่งถึงตอนเกษียณว่าเราจะต้องมีเงินเท่าไหร่ก่อนเกษียณ และจะทำอย่างไรให้ได้เงินก้อนนั้นมา ส่วนในเรื่องการลงทุนอย่าคิดแต่เพียงว่าเราจะได้กำไรเท่าไหร่ แต่จริง ๆ แล้วสิ่งที่สำคัญกว่าก็คือถ้าขาดทุนแล้วเราจะเดือดร้อนไหม เดือดร้อนขนาดไหน จะทำให้เรารู้ถึงจุดที่เราจะรับความเสี่ยงจากความเสียหายของการลงทุนได้
การบริหารความเสี่ยง

4. การหาความรู้ด้านการลงทุน

ทุกวันนี้ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นวัตกรรมทางการเงิน และการลงทุนต่างประเทศเป็นเรื่องที่ง่ายมากยิ่งขึ้น ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการลงทุนที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหุ้นต่างประเทศ พันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศ กองREIT และที่กำลังมาแรงอย่าง CRYPTOCURRENCY และ DEFI เป็นต้น การลงทุนแต่ละประเภทใช้ความรู้ ข้อมูลการลงทุนที่ไม่เหมือนกัน อีกทั้งความเสี่ยง และผลตอบแทนที่แตกต่างกัน ดังนั้นนักลงทุนจำเป็นที่จะต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา

เนื่องจากการลงทุนในหุ้น คือการเป็นเจ้าของธุรกิจนั้น ๆ และการลงทุนในตราสารหนี้ คือการที่เรานำเงินไปให้ธุรกิจนั้นกู้ยืม ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของนโยบายจากภาครัฐ และนโยบายทางด้านการเงินล้วนส่งผลกระทบต่อทุกธุรกิจได้ทั้งแง่บวก และแง่ลบ ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นแต่ละธุรกิจก็ไม่เท่ากัน รวมไปถึงการดำเนินกลยุทธ์การแข่งขันทางธุรกิจของคู่แข่ง หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น ย่อมกระทบต่อการลงทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การติดตามข่าวสารต่าง ๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็นของนักลงทุน เช่น การติดตามข่าวต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการประกาศนโยบายต่าง ๆ ของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาเพราะมีผลต่อแนวโน้มกับอัตราดอกเบี้ย ค่าเงิน และเงินเฟ้อของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก หรือข่าวต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการสร้างผลิตภัณฑ์ หรือนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมาของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลก เพื่อให้เราอัปเดตความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ตลอดเวลา และเพื่อหาโอกาสในการลงทุนสร้างผลตอบแทนเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเงิน ซึ่งทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูล ความรู้การลงทุนด้วยต้นทุนที่ต่ำมาก อย่างเช่น เว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ Krungsri Plearn เพลิน นี่แหละ

5. เรียนรู้เรื่องเทคโนโลยี

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเมื่อเรามองย้อนกลับไปเราจะเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงมากมายโดยเฉพาะในเรื่องของการลงทุน เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วข้อมูลทางด้านการลงทุนเป็นสิ่งที่หายาก ไม่แพร่หลาย จะลงทุนก็ต้องใช้เงินจำนวนมาก และมีค่าธรรมเนียมในการซื้อขายหุ้น ต้องโทรหามาร์เก็ตติ้งเพื่อส่งคำสั่งซื้อขายหุ้น เปิดบัญชีก็ใช้เวลาเป็นอาทิตย์ แต่ปัจจุบันนักลงทุนสามารถเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นได้ภายในไม่กี่วัน สามารถเลือกซื้อ-ขายหุ้นได้เองบนมือถือ ค่าธรรมเนียมก็ต่ำ เรียกได้ว่าโอกาสในการลงทุนอยู่ในมือจริง ๆ แต่เมื่อพูดถึงโอกาสในการลงทุนแล้ว การเปลี่ยงแปลงไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในอุตสาหกรรมการลงทุน แต่เปลี่ยนในทุกอุตสาหกรรมมากน้อยแตกต่างกันออกไป หรือแม้แต่รูปแบบการใช้ชีวิตของเราที่ใช้เวลากับมือถือมากขึ้น การซื้อของผ่านออนไลน์ การทำงานโดยเก็บข้อมูลผ่าน CLOUD COMPUTING แทนการเซฟไว้ในอุปกรณ์ของเรา แต่รู้หรือไม่ว่ากำลังมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่บริษัททั่วโลกกำลังเร่งพัฒนา ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์ไร้คนขับ ระบบ AR/VR หุ่นยนต์ AI ระบบการเงินบน BLOCKCHAIN อุปกรณ์ IOT AUTOMATION ถ้าเราศึกษาเทคโนโลยีเหล่านี้อาจทำให้เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน หรือธุรกิจเพื่อลดต้นทุนประหยัดเวลา หรืออาจจะศึกษาหุ้นเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อเปิดโอกาสในการลงทุนใหม่ ๆ ให้ตัวเองก็ได้
เรียนรู้เรื่องเทคโนโลยี
ทุกคนอาจมองเป้าหมายระยะไกลอยากรวย มีเงินเก็บ 10 ล้าน มีบ้านหลังใหญ่ หรือเป้าหมายอื่น ๆ ที่ต้องใช้เวลาทุ่มเทแรงกายแรงใจในอีกหลายปีข้างหน้า แต่อย่าลืมเป้าหมายในแต่ละวันของชีวิตคือ “การมีความสุขในทุก ๆ วัน” ความสุขบางที่ไม่ต้องใช้เงินเยอะ เช่น ทานข้าวกับคนที่รัก ขนมอร่อยที่ชอบสักชิ้น ใช้เวลาเล่นกับสัตว์เลี้ยง จะทำให้เราสามารถมีความสุขในทุกวันในขณะที่กำลังมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายระยะยาวด้วย “รักตัวเองบ้าง ปล่อยให้เรามีความสุขในทุกวัน บางทีเราอาจได้รู้ว่าจริง ๆ แล้วเป้าหมายของชีวิตเราไม่ได้อยู่ไกลเลย”
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2564 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow