เช็กเงื่อนไข โอนย้าย LTF ทั้งหมดมา Thai ESGX เซฟภาษีแบบจัดเต็ม
รอบรู้เรื่องภาษี
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

เช็กเงื่อนไข โอนย้าย LTF ทั้งหมดมา Thai ESGX เซฟภาษีแบบจัดเต็ม

icon-access-time Posted On 25 เมษายน 2568
By Krungsri The COACH
ช่วงต้นปี 2568 นี้ ตลาดหุ้นไทยกำลังเผชิญความท้าทายครั้งใหม่ เมื่อกองทุน LTF ได้ครบกำหนดการถือครองทั้งหมดแล้ว ทำให้นักลงทุนต้องทยอยขายหน่วยลงทุนออก หรือย้ายการลงทุนไปยังกองทุนใหม่ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญของการรักษาเสถียรภาพในตลาดทุน พร้อมส่งเสริมการลงทุนอย่างยั่งยืน จึงได้ออกมาตรการพิเศษผ่านกองทุนน้องใหม่อย่าง “Thai ESGX” ที่มาพร้อมสิทธิประโยชน์ทางภาษีสุดพิเศษ สำหรับคนที่สับเปลี่ยนจาก LTF มายังกองทุนนี้ทั้งหมด จะมีอะไรน่าสนใจบ้าง และมีเงื่อนไขการลงทุนสำคัญอะไรที่ต้องรู้ Krungsri The COACH ได้สรุปข้อมูลมาให้แล้ว

Thai ESGX คืออะไร?

Thai ESGX คือ

Thai ESGX มีชื่อเรียกเต็ม ๆ ว่า “Thai ESG Extra” คือ กองทุนรวมรูปแบบใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวในปี 2568 โดยเป็นการยกระดับจากกองทุน Thai ESG เดิม เพื่อทดแทนกองทุน LTF ที่หมดอายุไป มีจุดเด่นตรงที่มอบสิทธิประโยชน์ทางภาษีพิเศษให้กับนักลงทุน ทั้งคนที่ต้องการสับเปลี่ยนเงินลงทุนจาก LTF เดิมมายัง Thai ESGX และคนที่ต้องการซื้อใหม่

นอกจากนี้ Thai ESGX ยังเป็นกองทุนที่ส่งเสริมการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ โดยมุ่งลงทุนในบริษัทจดทะเบียนที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social, and Governance) ช่วยสนับสนุนความยั่งยืนของเศรษฐกิจ และตลาดทุนไทยในระยะยาวอีกด้วย
 

Thai ESGX แตกต่างจาก Thai ESG ปกติอย่างไร

Thai ESG

Thai ESGX และ Thai ESG มีหลักการลงทุนพื้นฐานที่คล้ายคลึงกัน โดยทั้งคู่มีนโยบายลงทุนในหลักทรัพย์ที่ผ่านเกณฑ์ด้านความยั่งยืนไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุน

แต่สิ่งที่แตกต่างอย่างชัดเจนคือ Thai ESGX มีข้อกำหนดเพิ่มเติมที่เข้มงวดมากขึ้น โดยจะต้องลงทุนในหุ้นยั่งยืนในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 65% ของ NAV และหุ้นเหล่านี้ต้องเป็นหุ้นของบริษัทที่ผ่านเกณฑ์ด้านความยั่งยืนเท่านั้น

ในขณะที่ Thai ESG ปกติไม่ได้กำหนดว่า ต้องลงทุนในตราสาร หรือหลักทรัพย์ประเภทใดโดยเฉพาะ แต่เพียงแค่กำหนดให้ตราสาร หรือหลักทรัพย์ที่ลงทุน จะต้องผ่านเกณฑ์ด้านความยั่งยืนอย่างน้อย 80% ของ NAV เท่านั้น

สำหรับเงินลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ เช่น เงินสด หรือหลักทรัพย์ต่างประเทศ Thai ESGX จะสามารถจัดสรรได้ไม่เกิน 20% ของ NAV เท่านั้น ซึ่งทำให้กองทุนนี้มีความเข้มข้นในการลงทุนหุ้นไทยเพื่อความยั่งยืนมากกว่า Thai ESG ทั่วไปนั่นเอง

ทำไม Thai ESGX จึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับคนที่มี LTF

จุดเด่นของ Thai ESG

หลังจากที่ LTF หมดอายุ นักลงทุนที่เคยได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการลงทุนใน LTF และถือครองมาจนครบกำหนดแล้ว อาจกำลังมองหาทางเลือกใหม่ในการลงทุนที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเช่นเดียวกัน ดังนั้น Thai ESGX จึงเป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจด้วยเหตุผลหลายประการ ดังนี้
  • สิทธิประโยชน์ทางภาษีพิเศษ : Thai ESGX ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษ หากสับเปลี่ยนจาก LTF ที่มีอยู่เดิมมาลงทุนใน Thai ESGX โดยได้วงเงินลดหย่อนเพิ่มเติมสูงสุดถึง 500,000 บาท
  • รักษาสภาพตลาดทุน : ช่วยให้นักลงทุนไม่จำเป็นต้องขายคืนหน่วยลงทุน LTF หลังครบกำหนดถือครอง ลดผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยจากการเทขายหลังจาก LTF หมดอายุ
  • โอกาสรับผลตอบแทนในระยะยาว : การลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี และมีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว เพราะบริษัทที่มีการบริหารจัดการที่ดีตามหลัก ESG มักสามารถปรับตัวรับมือกับความเสี่ยง และการเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่า
  • ต่อยอดการออมระยะยาว : ช่วยให้นักลงทุนที่เคยลงทุนใน LTF สามารถต่อยอดการออมระยะยาวได้อย่างต่อเนื่อง โดยยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเช่นเดิม

Thai ESGX ลดหย่อนภาษีเท่าไร

Thai ESGX ลดหย่อนภาษี

Thai ESGX มาพร้อมกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุน โดยในปี 2568 นี้ แบ่งเป็น 2 วงเงินหลัก ดังนี้
 

1. วงเงินลงทุนใหม่ (กรณีลงทุนใหม่ ระหว่างวันที่ 2 พ.ค. – 30 มิ.ย. 68 เท่านั้น)

  • สามารถลงทุนเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน และสูงสุด 300,000 บาท
  • วงเงินนี้เป็นวงเงินลดหย่อนใหม่เฉพาะในปี 2568 ที่แยกต่างหากจากวงเงินลดหย่อนของ Thai ESG ปกติ
 

2. วงเงินสับเปลี่ยน LTF เดิม (กรณีสับเปลี่ยนจาก LTF มาที่ Thai ESGX)

  • ต้องสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนใน LTF ทั้งหมดที่มีกับทุก บลจ. มาเข้า Thai ESGX จะได้รับสิทธิลดหย่อนเพิ่มเติมสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท โดยใช้จำนวนหน่วย ณ วันที่ 11 มี.ค. 68 เป็นฐาน
  • ทยอยใช้สิทธิลดหย่อนตั้งแต่ ปี 2568 – 2572 โดยมีวงเงินลดหย่อนสูงสุดดังนี้
    • ปีที่ 1 (ปี พ.ศ. 2568) ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท
    • ปีที่ 2 (ปี พ.ศ. 2569) ถึงปีที่ 5 (ปี พ.ศ. 2572) สูงสุดปีละไม่เกิน 50,000 บาท โดยลดหย่อนเฉลี่ยเท่ากันทุกปี
ที่น่าสนใจคือ ในปี 2568 นักลงทุนสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ทั้งสองวงเงินพร้อมกัน ในกรณีที่ต้องการซื้อ Thai ESGX ด้วยเงินลงทุนใหม่ และสับเปลี่ยนจาก LTF เดิมมายัง Thai ESGX

ส่วนในปีถัด ๆ ไป สิทธิลดหย่อนภาษีที่จะได้รับจาก Thai ESGX จากวงเงินลงทุนใหม่ จะถูกนำมารวมกับ สิทธิลดหย่อนภาษีในกองทุน Thai ESG ซึ่งสามารถใช้ลดภาษีได้ไม่เกิน 30% ของเงินพึงได้ประเมิน และต้องไม่เกิน 300,000 บาท ในปี 2567 – 2569 หรือไม่เกิน 100,000 บาท ในปี 2570 - 2572 ตามตารางด้านล่าง
 
ปี 2568 2569 2570 2571 2572
เงินลงทุนสูงสุด Thai ESG 300,000 300,000 100,000 100,000 100,000
Thai ESGX - เงินใหม่ 300,000
Thai ESGX -
เงิน LTF เก่า
ไม่กำหนดเพดานสูงสุด - - - -
RMF 500,000 500,000 500,000 500,000 500,000
รวมเงินลงทุน 1,100,000
(ไม่รวมเงินที่สับเปลี่ยนมาจาก LTF)
800,000 600,000 600,000 600,000
วงเงินสูงสุดในการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี Thai ESG 300,000 300,000 100,000 100,000 100,000
Thai ESGX - เงินใหม่ 300,000
Thai ESGX -
 เงิน LTF เก่า
300,000 50,000 50,000 50,000 50,000
RMF 500,000 500,000 500,000 500,000 500,000
รวมเงินลงทุน 1,400,000 850,000 650,000 650,000 650,000
หมายเหตุ: การใช้สิทธิได้ตามจำนวนเงินที่ลงทุนจริง แต่ไม่เกินกำหนด ตัวเลขในตารางนี้เป็นตัวเลขสูงสุดที่ใช้สิทธิได้

คำเตือน: ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในอดีตของกอลทุนรวม มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต

เงื่อนไขเพิ่มเติมของ Thai ESGX ที่นักลงทุนต้องรู้

นอกจากเรื่องวงเงินลดหย่อนภาษีแล้ว Thai ESGX ยังมีเงื่อนไขที่นักลงทุนควรทราบเพิ่มเติม ดังนี้
 

ช่วงเวลาการลงทุน

Thai ESGX จะเปิดให้ลงทุนเพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในระยะเวลาจำกัด เพียงแค่สองเดือนเท่านั้น คือ วันที่ 2 พฤษภาคม - 30 มิถุนายน 2568
 

เงื่อนไขการสับเปลี่ยนจาก LTF

กรณีที่นักลงทุนเลือกสับเปลี่ยนเงินลงทุนจาก LTF มายัง Thai ESGX เพื่อรับสิทธิลดหย่อนภาษีพิเศษ จะต้องสับเปลี่ยนเงินลงทุนเดิมใน LTF ทุกกองทุน ทุกบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่ถืออยู่มาทั้งหมดเท่านั้น แม้ว่าจะมีจำนวนเงินมากกว่า 500,000 บาทก็ตาม และส่วนที่เกิน 500,000 บาทก็ต้องถือครองเงินลงทุนที่สับเปลี่ยนมาทั้งหมดไม่น้อยกว่า 5 ปี แต่จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 500,000 บาทเท่านั้น
 

ระยะเวลาการถือครอง

หน่วยลงทุน Thai ESGX ที่ลงทุนใหม่ หรือที่สับเปลี่ยนมาจาก LTF จะต้องถือครองไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแบบวันชนวัน
 

การลงทุนในปีถัดไป

ตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป หากนักลงทุนต้องการลงทุนในกองทุน Thai ESGX เพิ่มเติม จะใช้วงเงินลดหย่อนภาษีร่วมกับกองทุนในกลุ่ม Thai ESG ปกติ ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ลดหย่อนได้สูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 300,000 บาทต่อปี (ปี 2567 – 2569) โดยหน่วยลงทุนที่ซื้อใหม่ต้องถือไม่น้อยกว่า 5 ปีเช่นกัน

จะเห็นได้ว่า Thai ESGX มีเงื่อนไขที่ค่อนข้างซับซ้อนในส่วนของการสับเปลี่ยนจาก LTF ที่ต้องโอนย้ายทั้งหมด และระยะเวลาการเปิดให้ลงทุนที่จำกัด ดังนั้น นักลงทุนที่สนใจควรวางแผนการลงทุนให้ดี เพื่อที่จะได้ไม่พลาดสิทธิประโยชน์ไปอย่างน่าเสียดาย

Krungsri The COACH แนะนำ : เตรียมพบกองทุน Thai ESGX ธนาคารกรุงศรีอยุธยาคัดสรรมาเน้น ๆ ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์

กองทุนรวมกรุงศรี

จะเห็นได้ว่า Thai ESG Extra คือ กองทุนน้องใหม่ที่มาแรงแซงทางโค้ง มาพร้อมกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีพิเศษที่ช่วยทดแทนหลังจาก LTF หมดอายุ สำหรับผู้ที่ต้องการสับเปลี่ยนจาก LTF เดิม หรือนักลงทุนใหม่ที่ต้องการวางแผนลดหย่อนภาษี แต่ต้องระวังเงื่อนไขพิเศษเรื่องช่วงเวลาลงทุนที่จำกัดเพียง 2 พฤษภาคม - 30 มิถุนายน 2568 เท่านั้น และการสับเปลี่ยนจาก LTF ต้องสับเปลี่ยนทั้งหมดที่มี โดยที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เราเตรียมเปิดตัวกองทุน Thai ESGX ที่คัดสรรมาเน้น ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุนทุกกลุ่ม สำหรับท่านใดที่สนใจ อย่าลืมติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดไปกับ Krungsri The COACH รับรองว่า ไม่มีพลาดสิทธิพิเศษนี้แน่นอน

คำเตือน :

*ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน
*Thai ESG/Thai ESGX เป็นกองทุนที่ส่งเสริมการออมระยะยาวและสนับสนุนการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย ผู้ลงทุนจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีหากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการลงทุน



อ้างอิง
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา