ทำไม SSF ถึงยืนหนึ่งเรื่องกองทุนรวมเพื่อลดหย่อนภาษี
รอบรู้เรื่องภาษี
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

ทำไม SSF ถึงยืนหนึ่งเรื่องกองทุนรวมเพื่อลดหย่อนภาษี

icon-access-time Posted On 27 กรกฎาคม 2563
By Krungsri the COACH
ว่ากันว่าในชีวิตเราของเรานั้นมีอยู่ 2 เรื่องที่ต่อให้หนียังไงก็หนีไม่พ้น นั่นก็คือ “ความตาย” และ “ภาษี” ซึ่งดูเหมือนคำกล่าวนี้จะไม่ได้เกินไปเลย เพราะถ้าใครที่มีรายได้ก็ต้องเสียภาษีกันทุกคน แต่ถึงแม้เราจะหนีภาษีไม่พ้น เรายังสามารถจัดการให้เราเสียภาษีได้น้อยลงได้ ด้วยการวางแผนทางภาษี หรือการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีตามเงื่อนไขของกรมสรรพากร ซึ่งตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป เราสามารถบริหารและจัดการผ่าน Super Savings Fund (SSF) หรือกองทุนรวมเพื่อการออมได้

Super Savings Fund (SSF) คืออะไร

Super Savings Fund (SSF) คือ กองทุนรวมที่สามารถนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แทน Long Term Fund (LTF) ที่หมดอายุไปเมื่อสิ้นปี 2562 ได้ โดยจุดประสงค์ของ SSF คือ เพื่อส่งเสริมการออมเงินระยะยาวและมีการพัฒนาปรับปรุงทั้งนโยบายการลงทุน เงื่อนไขในการลดหย่อนภาษีของ SSF ให้มีความเหมาะสมมากขึ้น

เงื่อนไขการลดหย่อนภาษีของ SSF

ผู้ลงทุนใน SSF สามารถนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แต่จำนวนจะต้องไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อไปนับรวมกับการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ อย่างกองทุนรวมสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และ ประกันชีวิตแบบบำนาญ แล้วห้ามเกิน 500,000 บาท และอีกเงื่อนไขหนึ่งสำหรับผู้ที่นำ SSF ไปลดหย่อนภาษี คือ ต้องถืออย่างน้อย 10 ปีวันชนวันขึ้นไป

SSF เหมาะกับใคร

1. SSF เหมาะกับคนที่ต้องการลดภาระภาษี
สำหรับคนที่มีรายได้แต่ต้องการจ่ายภาษีในแต่ละปีน้อยลง การลงทุนผ่าน SSF ก็จะช่วยลดหย่อนภาษีได้ และด้วยเงื่อนไขของ SSF สำหรับคนที่รายได้ไม่เกิน 666,667 บาทต่อปี ก็สามารถลดหย่อนเต็มสิทธิได้ หรือสำหรับใครมีรายได้พิเศษเข้ามาเป็นปี ๆ ก็สามารถใช้ SSF ลดหย่อนภาษีได้ เนื่องจาก SSF ซื้อปีไหนก็ลดหย่อนได้ปีนั้น ไม่มีภาระหรือเงื่อนไขที่จะต้องลงทุนทุกปี
2. SSF เหมาะกับคนที่ไม่ติดตามข่าวสารการลงทุน
SSF ถือได้ว่าเป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่ง ซึ่งการลงทุนผ่านกองทุนรวมนั้นเหมาะกับคนที่ไม่ติดตามข่าวสาร เนื่องจากกองทุนรวมจะมีผู้จัดการกองทุนเป็นผู้ดูแลจัดการเงินลงทุนให้กับเรานั่นเอง
3. SSF เหมาะกับคนที่ต้องการจัดพอร์ตการลงทุน
กองทุนรวม SSF สามารถลงทุนในสินทรัพย์ได้หลากหลายไม่ว่าจะเป็น ตลาดเงิน ตราสารหนี้ทั้งรัฐและเอกชน ตราสารทุน รวมถึงสินทรัพย์ทางเลือกอย่างทองคำ ดังนั้น การลงทุนในกองทุน SSF นอกจากเป็นทางเลือกในการลดหย่อนภาษีได้แล้ว ยังสามารถช่วยในการบริหารพอร์ตการลงทุนโดยการจัดสรรสินทรัพย์ให้เหมาะกับความเสี่ยงที่รับเรารับได้ โดยการจัดสรรสินสินทรัพย์นั้น จะช่วยลดความผันผวนของของพอร์ตการลงทุนได้ดีการลงทุนที่กระจุกตัวในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่ง
4. SSF เหมาะกับเป้าหมายการเงินระยะยาว
จากเงื่อนไขที่ต้องถืออย่างน้อย 10 ปีขึ้นไป ทำให้ SSF เป็นเครื่องมือตัวหนึ่งที่ช่วยสร้างวินัยการออมเงินได้เป็นอย่างดี เหมาะกับการใช้วางแผนสำหรับเป้าหมายการเงินในระยะยาว นอกจาก SSF จะช่วยเพิ่มโอกาสที่เราจะเก็บเงินไปตามเป้าหมายที่วางไว้แล้ว การลงทุนในระยะยาวยังช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุนได้อีกด้วย
วิธีการลงทุนอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจ ที่ช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องช่วงเวลาที่จะลงทุน (Timing) ในการลงทุนได้ดี เหมาะกับการลงทุนใน SSF อย่างมาก ก็คือ Dollar-Cost Averaging (DCA) ที่จะเป็นการซื้อสม่ำเสมออย่างต่อเนื่องในจำนวนเงินที่เท่า ๆ กัน ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน โดยไม่สนใจราคาของสินทรัพย์ ซึ่งการทำ DCA เราจะกำหนดเวลาในการซื้อไว้อย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น เรากำหนดไว้ว่าทุกวันที่ 1 ของทุกเดือนจะทำการซื้อ SSF เดือนละ 5,000 บาท ตลอดทั้งปีเราก็จะซื้อ SSF ได้รวม 60,000 บาท
การลงทุนแบบ DCA จะช่วยทำให้เราลงทุนได้ง่ายขึ้น ตัดสภาวะอารมณ์ของตลาดออกไป เมื่อตลาดปรับตัวลงเราจะได้หน่วยลงทุนที่มากขึ้น และเมื่อตลาดปรับตัวขึ้นเราก็จะได้หน่วยลงทุนที่น้อยลงโดยอัตโนมัติ เมื่อเราทำ DCA ในระยะยาวก็ช่วยทำให้เราได้ราคาหน่วยลงทุนในระดับราคาเฉลี่ยโดยอัตโนมัตินั่นเอง ทั้งนี้สามารถศึกษาเรื่องการลงทุนแบบ DCA เพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา