มารู้จักกับกองทุน SSF และ SSF พิเศษ กองทุนที่มาทดแทน LTF
รอบรู้เรื่องลงทุน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

มารู้จักกับกองทุน SSF และ SSF พิเศษ กองทุนที่มาทดแทน LTF

icon-access-time Posted On 15 พฤษภาคม 2563
By Krungsri the COACH
หลายคนอาจกำลังมองหาตัวช่วยลดหย่อนภาษี วันนี้จะมาอธิบายถึงตัวช่วยลดหย่อนภาษีตัวใหม่ นั่นก็คือ SSF กองทุนเพื่อการออม และ SSF Extra กองทุนรวมเพื่อการออมพิเศษ
แต่ก่อนอื่นนั้นขออธิบายถึง SSF (Super Save Fund) กันก่อน โดย SSF เป็นกองทุนที่เน้นการออมระยะยาวและเป็นตัวช่วยในการลดหย่อนภาษีที่มาทดแทนกองทุน LTF ที่หมดอายุไปเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา

เงื่อนไขสำคัญของ SSF

  • ใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 2 แสนบาท (รวมกับกองทุน RMF กองทุนบำเหน็จบำนาญ และกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ ต้องไม่เกิน 5 แสนบาท) เช่น หากมีรายได้ 500,000 บาท/ปี จะซื้อ SSF เพื่อลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% หรือไม่เกิน 150,000 บาท แต่หากมีรายได้เกิน 700,000 บาท/ปี จะซื้อ SSF เพื่อการลดหย่อนภาษีได้สูงสุดแค่ 200,000 บาท

  • ซื้อแล้วต้องถือให้ครบ 10 ปี เช่น ซื้อกองทุน SSF วันที่ 1 สิงหาคม 2563 จะครบกำหนด 10 ปี ในวันที่ 1 สิงหาคม 2573 ทั้งนี้ เนื่องจากกองทุนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเน้นการออมระยะยาวและการเก็บเงินไว้ใช้หลังเกษียณ หากขายก่อนครบกำหนด ถือว่าผิดเงื่อนไขลดหย่อนภาษี จะต้องคืนเงินภาษีที่ได้รับยกเว้นทั้งหมดทันทีอีกด้วย

  • กองทุนสามารถลงทุนในหลักทรัพย์อะไรก็ได้ ทั้งหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้หรือหุ้นกู้ กองทุนดัชนี กองทุนทองคำ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ ทำให้กองทุนมีความยืดหยุ่นสูงในการลงทุนและปรับพอร์ตการลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์และผลตอบแทนที่ดีที่สุดในแต่ละช่วงเวลา

  • ไม่มีเงินลงทุนขั้นต่ำ และไม่จำเป็นต้องลงต่อเนื่องทุกปี
มาถึงกองทุน SSF พิเศษ หรือกองทุน SSF เฉพาะกิจ หรือเรียกย่อไปอีกว่า SSFX กองทุนนี้เกิดจากไอเดียของกระทรวงการคลัง กับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดทุนไทย ที่ก่อนหน้านี้ดัชนีการซื้อขายตกลงไปอย่างมาก จากเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ซึ่งเป็นผลกระทบจากวิกฤตโรคร้ายนั่นเอง ซึ่งมีเงื่อนไขการลงทุนที่คล้ายกับกองทุน LTF นั่นคือกำหนดเงื่อนไขการลงทุนในหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไทยไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ

ประโยชน์ของ SSF พิเศษ

  • ผู้ลงทุนสามารถนำเงินที่ลงทุนใน “SSF พิเศษ” มาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้เพิ่มขึ้นอีก 2 แสนบาท ซึ่งสิทธิ์ลดหย่อนนี้แยกจากวงเงินลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน RMF และ SSF ปกติ แต่มีข้อแม้ว่าต้องซื้อระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-30 มิ.ย. 63 และถือหน่วยลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 10 ปี

    สมมติว่านาย A ลงทุนในกองทุน SSF ปกติครบวงเงิน 2 แสนบาทแล้ว ก็ยังสามารถซื้อกองทุน SSF พิเศษเพิ่มเติมได้อีกไม่เกิน 2 แสนบาท เท่ากับว่านาย A มีสิทธิ์ลดหย่อนภาษีสำหรับปี 2563 สูงสุดถึง 4 แสนบาท

  • กองทุน SSF พิเศษนี้ ยังส่งผลถึงนักลงทุนในตลาดหุ้นไทย เนื่องจากนโยบายระบุว่าต้องลงทุนในหุ้นไทยไม่น้อยกว่า 65% หมายความว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนก้อนใหญ่ก้อนหนึ่งจากกลุ่มนักลงทุนที่เรียกว่า “นักลงทุนกลุ่มสถาบัน” เข้ามาช่วยหนุนซื้อหุ้นไทย ซึ่งเชื่อกันว่าน่าจะมีส่วนช่วยทำให้ราคาของ “หุ้นพื้นฐานดี” จะไม่ดิ่งลงจนน่าตกใจเหมือนช่วงก่อนหน้านี้
เปรียบเทียบกองทุน SSF แบบปกติ และ SSF แบบพิเศษ

กองทุนเหล่านี้เหมาะกับใครบ้าง?

  • ผู้ที่ต้องการลดหย่อนภาษี โดยเฉพาะผู้ที่มีฐานเงินเดือนสูง และใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีจากกองทุน อื่น ๆ หรือแม้กระทั่งกองทุน SSF เต็มจำนวนแล้ว กองทุน SSF พิเศษก็เป็นอีกตัวเลือกในการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมได้

  • ผู้ที่มีเงินลงทุนในระยะยาว และสามารถคงสถานะการเงินเพื่อลงทุนได้ 10 ปีขึ้นไป รวมไปถึงต้องเป็นคนที่สามารถรับความเสี่ยงในการลงทุนได้

  • ผู้ที่อายุต่ำกว่า 50 ปี แน่นอนว่าเงื่อนไขของกองทุนนี้คือต้องถือครองขั้นต่ำ 10 ปี ส่วนผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป แนะนำว่าให้เลือกกองทุน RMF จะดีกว่า เพราะเงื่อนไขการถือครองแค่ 5 ปี
สุดท้ายนี้อย่าลืมว่าทุกการลงทุนมีความเสี่ยงเสมอ ควรศึกษาและอ่านรายละเอียดให้ถี่ถ้วนทุกครั้งก่อนลงทุน โดยควรเลือกการลงทุนที่มีนโยบายการลงทุนสอดคล้องกับความเสี่ยงที่สามารถรับได้นั่นเอง
ลงทุน SSFX / SSF ให้พอแล้วชิลล์ต่อที่บ้านให้สุด
ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุน ก่อนตัดสินใจลงทุน
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา